สงครามการเงินเริ่มขึ้นแล้ว อังกฤษ-ญี่ปุ่นต่อสู้ในตลาดบอนด์ กดดันดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทได้อานิสงส์แข็งค่าระยะสั้น

สงครามการเงินเริ่มขึ้นแล้ว อังกฤษ-ญี่ปุ่นต่อสู้ในตลาดบอนด์ กดดันดอลลาร์อ่อนค่า เงินบาทได้อานิสงส์แข็งค่าระยะสั้น
Highlight

สงครามค่าเงินเริ่มต้นขึ้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ต่างออกมาวิเคราะห์การใช้นโยบายการสหรัฐทำให้เกิดผลกระทบต่อค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่า ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยและการทำ QT อาจจทำให้หลายประเทศอาจเข้าสู่วิกฤตการเงิน ล่าสุด อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี แม้กระทั่งจีนออกมาต่อสู้ปกป้องค่าเงินตัวเองในตลาดตราสารหนี้ เพื่อลดความผันผวนเงินสกุลท้องถิ่นไม่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วเกินไป แต่ตลาดเงินดอลลาร์นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุด การทำอย่างนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าในระยะสั้นเท่านั้น เงินบาทไทยได้อานิสงค์แข็งค่าขึ้นมาจากเมื่อวานนี้


ค่าเงินบาทวันนี้ (29 ก.ย.2565) เปิดตลาดแข็งค่าที่ 37.99 บาทต่อดอลลาร์ เทียบระดับปิดตลาดวานนี้ โดยกรอบแนวรับที่ 37.90 บาท แนวต้าน 38.20 บาท

วันที่ 29 กันยายน 2565

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.30 บาทต่อดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การต่อสู้เพื่อปกป้องค่าเงิน เรื่องนี้เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อ 28 ก.ย. กระทรวงการคลังอังกฤษออกแถลงการณ์สนับสนุนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน เรียกว่ารับซื้อไม่อั้น ซึ่งเป็นการอัดสภาพคล่องกลับเข้าสู่ระบบการเงิน เดาหลีใต้ประกาศซื้อพันธบัตรด้วยเงินจำนวน 5 ล้านล้านวอน

เมื่อ 7 ก.ย.ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศจะเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากแรงเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างหนักได้เพิ่มแรงกดดันขาขึ้นต่อผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลก และทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง ทั้งนี้ BOJ ประกาศว่าจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-10 ปี มูลค่า 5.5 แสนล้านเยน (3.8 พันล้านดอลลาร์) ในการดำเนินการตามปกติ ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5 แสนล้านเยนที่กำหนดไว้เดิม

ในขณะที่ฝั่งธนาคารกลางสหรัฐก่อนนี้ดูดเงินสภาพคล่องจากระบบการเงินออกไปผ่านการทำ Quantitative Tightening (QT) พร้อมขึ้นดอกเบี้ยจัดเต็มอ้างการควบคุมเงินเฟ้อ โดยไม่สนใจตลาดอื่นจะมีผลกระทบอย่างไร

ซึ่งผลจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเร็ว และ แรง ทำให้กระทบต่อค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่าอย่างรวดเร็วซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจชะลอตัว หลายประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกเริ่มใช้พลังของตัวเองต่อสู้กับค่าเงินดอลลาร์ ลดความผันผวนของค่าเงินในประเทศก่อนเกิดปัญหาวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่

ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ Facebook ในวันนี้ (29 ก.ย.) วิเคราะห์ถึงสถานการณ์นี้ว่า

- อังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลีเข้าต่อสู้ในตลาดพันธบัตร และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

- จีนประกาศว่าการปกป้องเงินหยวนเป็นงานสำคัญที่สุดของประเทศ

- มหาอำนาจขนเงินมาสู้กับดอลลาร์แล้ว

- งานนี้ตลาดการเงิน พันธบัตร ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดการค้า ตลาดหุ้น ตลาดน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณท์ สะเทือนแกว่งไกว นั่งดูยักษ์รบกัน   หลบต่ำ  ดอลลาร์อินเดกซ์ลดบาทแข็งขึ้น

- สงครามการเงินเริ่ม

- ประเทศที่สำรองหนาแบบไทยดูดี ไทยมีสำรองต่อ GDP อันดับหกของโลก

- สำรองเป็นสามเท่าของหนี้

- กองทุน Hedge Fund มีเหยื่อตัวอ้วนให้เล่นเยอะ

- ไทยมีสำรองเพิ่มจาก 55 billions มาที่ 280 billion นี่ถือเป็นโชค

- ประเทศที่มีเงินสดในมือของตัวเอง คือ position ที่ดีที่สุดแต่ระวัง contagion effecf


ด้าน ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ก็ได้นำเสนอมุมมอง และวิเคราะห์สถานการณ์นี้ผ่าน Facebook ว่าเกิดอะไรที่อังกฤษ !!!!

เมื่อวานนี้ แบงค์ชาติอังกฤษ ได้ประกาศเข้าแทรกแซงเพื่อดูแลเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษด้วยวงเงิน 65 พันล้านปอนด์ ตลาดการเงินทั่วโลกต่างดีใจ ปรับตัวรับข่าว

Dow Jones จากที่ตกมาหลายวัน ก็สามารถ +548.75 จุด หรือ +1.88%

Nasdaq +222.13 จุด หรือ +2.05%

Bitcoin ก็เพิ่มขึ้นไปใกล้ๆ 20,000 ดอลลาร์/เหรียญ

ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนจากที่แข็งสุด 114.7 ลงมาที่ 112.7

หลายคนถามว่า "เกิดอะไรขึ้น และจะเปลี่ยน Trend ตลาดโลกได้ไหม"

คำตอบ : ทั้งหมดเริ่มมาจากนโยบายรัฐบาลใหม่ของอังกฤษเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดภาษีครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปี

ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีของประชาชนลงไปรวม 45 พันล้านปอนด์ แต่เรื่องนี้ จะทำให้ฐานะการคลังอังกฤษที่ขาดดุลอยู่แล้ว ขาดดุลยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้หลายคนรวมถึง IMF ออกมาเตือนว่า นโยบายลักษณะนี้ไม่มีความรับผิดชอบ (Irresponsible) ไม่น่าแปลกใจว่า ตลาดจึงตอบรับด้วยการเทขายพันธบัตรรัฐบาลของอังกฤษ ทำให้ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะต่างๆ พุ่งสูงขึ้น

UK30Y Gilt เพิ่มจาก 3.5% เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าไปที่ 5.14% เป็นการลงโทษนโยบายที่ไม่รับผิดชอบของรัฐบาลเช่นนี้  เมื่อตลาดพันธบัตรผันผวนรุนแรง ธนาคารกลางอังกฤษจึงไม่มีทางออก จำต้องประกาศมาตรการดูแลตลาด โดยจะเข้าซื้อพันธบัตรแทน ตั้งวงเงินไว้ที่ 65 พันล้านปอนด์ ดำเนินการจนถึงกลางเดือนตุลาคม ด้วยมาตรการดังกล่าว ตลาดพันธบัตรอังกฤษ จึงเข้าสู่ปกติ ดอกเบี้ย 30 ปี ที่พุ่งไปที่ 5.14% ก็กลับลงมาที่ 3.93% สิ่งที่เกินคาดก็คือ การปรับตัวของตลาดอื่นๆ ทั่วโลก ที่ดีขึ้นมากอย่างที่บอกไปข้างต้น ทั้งๆ ที่อังกฤษเป็นเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่มาก กลับมีผลกระทบกว้างไกล แต่ที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะนักลงทุนแอบดีใจว่า "สุดท้าย ธนาคารกลางก็อดไม่ได้ที่จะอัดฉีดสภาพคล่องอีก" แอบคิดว่า ถ้าเริ่มได้ 1 ที่ เดี๋ยวที่อื่นก็อาจจะทำตาม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้สภาพคล่องที่กำลังถูกดูดกลับ หายไปจากตลาด กลับมาอีกครั้ง แต่ในเรื่องนี้ เมื่อลองคิดดูแล้ว คงยากที่จะฝืนเฟดได้ เพราะ Balance Sheet ของแบงค์ชาติอังกฤษ ที่ประมาณ 4 แสนล้านปอนด์ เล็กกว่าเฟดที่ 8.8 ล้านล้านดอลลาร์ เกือบ 22 เท่า

นอกจากนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ QE แต่เป็นการดูแลตลาดช่วงสั้น เพื่อไม่ให้ ตลาด Panic ทั้งหมดหมายความต่อไปว่า ที่ตลาดแอบดีใจ แอบหวัง ก็ยากจะเกิด สุดท้าย Trend การสู้ศึกเงินเฟ้อ ก็จะเป็น Trend หลักของโลกต่อไปอยู่ดี ส่วนที่ปรับดีขึ้น ก็คงชั่วคราว อยู่ได้ไม่นานครับ !!! ดร.กอบศักดิ์ ระบุ

สำหรับรายละเอียดข่าวของกระทรวงการคลังอังกฤษประกาศรับซื้อบอนด์ไม่อั้นสกัดความผันผวรในตลาดเมื่อ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา มีดังนี้

กระทรวงการคลังอังกฤษออกแถลงการณ์สนับสนุนธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลโดยไม่จำกัดจำนวนเพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน "ท่านรัฐมนตรีคลังยึดมั่นในหลักการความเป็นอิสระของ BoE และรัฐบาลจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทางธนาคารเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพในระบบการเงินและการรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อ" โฆษกกระทรวงการคลังกล่าว

นอกจากนี้ โฆษกระบุว่า การแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาลของ BoE มีความจำเป็นเพื่อสกัดความผันผวนอย่างมากในตลาด และรัฐบาลจะทำการชดเชยการขาดทุนใดๆที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของ BoE ทั้งนี้ BoE แถลงในวันนี้ว่า ทางธนาคารจะทำการรับซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอังกฤษจำนวนมากเท่าที่มีความจำเป็นตั้งแต่ขณะนี้จนถึงวันที่ 14 ต.ค.เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดการเงิน

"BoE จะทำการซื้อพันธบัตรในขนาดที่มีความจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเสถียรภาพในตลาด เนื่องจากหากตลาดยังคงมีความผันผวนต่อไปก็จะสร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินของสหราชอาณาจักร" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ นักลงทุนแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเปิดเผยมาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ รวมทั้งมาตรการเยียวยาภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลต่อสถานะทางการคลังของอังกฤษจากการก่อหนี้เพิ่มขึ้นของรัฐบาล

การแห่เทขายพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 5% เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2545 ในวันนี้ นอกจากนี้ BoE ระบุว่า ทางธนาคารจะเลื่อนแผนการขายพันธบัตรที่มีกำหนดเริ่มต้นในสัปดาห์หน้า และจะทำการขายพันธบัตรทันทีที่ตลาดมีเสถียรภาพ

ไอเอ็มเอฟวิจารณ์นโยบายลดภาษีอังกฤษ

ไอเอ็มเอฟวิจารณ์นโยบายลดภาษีอังกฤษ “จะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำ”ของทุนการเงินระหว่างประเทศกล่าวว่า สหราชอาณาจักร "อาจเผชิญกับความเหลื่อมล้ำมากขึ้น" เพราะมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ "ไม่มีเป้าหมายชัดเจน"

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) ออกรายงานเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ไอเอ็มเอฟจับตาสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด หลังมีการประกาศมาตรการฟื้นฟูและเยียวยาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนในประเทศจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤติพลังงานซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อค่าครองชีพ

ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟกล่าวในรายงานด้วยว่า “ไม่แนะนำ” การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้มาตรการที่เป็นวงเงินมหาศาล “แต่กลับยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน” ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์เงินเฟ้อภายในสหราชอาณาจักรยังคงตึงตัว และยังไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นด้วย การดำเนินการเช่นนี้มีแต่จะยิ่งขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมและประเทศ และบั่นทอนเสถียรภาพของนโยบายการเงินในภาพรวมด้วย

ทั้งนี้ นายควาซี ควาร์เต็ง รมว.คลังของสหราชอาณาจักร ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เตรียมใช้มาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นวงเงินประมาณ 45,000 ล้านปอนด์ ( ราว 1.82 ล้านล้านบาท ) ครอบคลุมระหว่างปี 2569-2570 ซึ่งแยกต่างหากจากมาตรการเยียวยาครัวเรือนในประเทศจากวิกฤติพลังงาน ซึ่งจะมีวงเงินสูงถึง 100,000 ล้านปอนด์ ( ราว 4.05 ล้านล้านบาท )

ด้านบรรดานักวิเคราะห์ต่างออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อสถานะทางการคลังของสหราชอาณาจักร และเตือนว่า ภาครัฐจะเผชิญกับความเสี่ยง ในการแก้ไขการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเงินปอนด์อาจอ่อนค่าลงอีกจนแตะ 1 ต่อ 1 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ที่มา : Bank of England intervenes in bond market after massive sell-off : https://www.cnbc.com/2022/09/28/bank-of-england-delays-bond-sales-launches-temporary-purchase-program.html

ติดต่อโฆษณา!