แบงก์ชาติเสนอรัฐบาลใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ช่วยเฉพาะกลุ่ม หวั่นเกิดปัญหาการคลังระยะยาว

แบงก์ชาติเสนอรัฐบาลใช้ดิจิทัลวอลเล็ต ช่วยเฉพาะกลุ่ม หวั่นเกิดปัญหาการคลังระยะยาว


นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)กล่าวว่า กรณีโครงการแจกเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต”  ส่วนนี้ ธปท.ยืนยันว่า ไม่ได้มีอำนาจ ที่จะบอกว่าจะทำหรือไม่ทำโครงการนี้ และไม่ได้ขัดข้อง กับการที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพียงแต่แนะนำว่า รูปแบบ และวิธีการควรทำ แบบเฉพาะเจาะจง เฉพาะกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ยากลำบากจริงๆ ที่จะคุ้มค่ากับเม็ดเงิน อีกทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจกับคนที่ลำบากจะมีแรงส่งต่อเศรษฐกิจที่สูงกว่าการกระตุ้นไปกับกลุ่มทั่วไป

ทั้งนี้ ความชัดเจนในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของ กฤษฎีกาที่จะให้ความชัดเจนว่า สามารถดำเนินการได้ผ่านมาตรา 28 ได้หรือไม่ และขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ด้วย  ว่าจะดำเนินหรือไม่ 

“ที่เราอยากให้ทำแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ยากลำบากจริงๆ ทั้งในแง่งบประมาณ และการไฟแนนซิ่ง ที่อยากให้มั่นใจว่าจะทำได้อย่างมีความยั่งยืน และตามกรอบเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ดังนั้นในแง่นโยบายใหญ่ เราไม่ได้มีมุมมองว่าควรทำหรือไม่ทำอะไรแบบนั้น เพียงแต่ติดที่รายละเอียดมากกว่า“ นายปิติ ระบุ 
.
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงเลขที่ ธปท.ฝกม. 285 /2567 เรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ไปยังรัฐบาล เกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งธปท.มีความห่วงใยและตั้งข้อสังเกตในโครงการดังนี้

1. ความจำเป็นในการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลควรทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ในขอบเขตที่ครอบคลุมเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น (targeted) 

เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ อย่างมีประสิทธิผลคุ้มค่า และใช้งบประมาณลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เช่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 15 ล้านคน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที และใช้งบประมาณ 150,000 ล้านบาท

เนื่องจากคนกลุ่มรายได้น้อยมีสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อบริโภคสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่น และมักซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า นอกจากนี้ควรพิจารณาดำเนินโครงการแบบแบ่งเป็นระยะ (phasing) เพื่อลดผลกระทบต่อเสถียรภาพการคลังด้วย ทั้งนี้ ความจำเป็นที่จะกระตุ้นการบริโภคในวงกว้างมีไม่มาก โดยในปี 2566 การบริโภคภาคเอกชนของไทยขยายตัวได้ที่ 7.1%เทียบกับค่าเฉลี่ยช่วงปี 2553 - 2565 ที่ขยายตัวเฉลี่ยที่ 3% ต่อปี

ประเทศอาจถูก Downgrade จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 

ธปท. ระบุว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก่อให้เกิดภาระทางการคลังจำนวนมากในระยะยาว และหากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพภาระหนี้ภาครัฐได้ จะเพิ่มความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ เช่น เกณฑ์การประเมินของ Moody's ได้กำหนดอัตราส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อรายได้ของวิสัยทัศน์เป็นองค์กรที่มองไกล มีหลักการ และร่วมมือ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม Baa 1 ไว้ว่าไม่ควรเกิน 11%

ทั้งนี้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มสูงกว่าเกณฑ์นี้ ในปี 2568 ซึ่งหากไทยถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมภาครัฐและภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวม

รัฐอาจเสี่ยงไม่มีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน

ธปท. ระบุอีกว่า การดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูงทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการเพิ่มวงเงินกู้งบประมาณ 2568 จนเกือบเต็มกรอบที่กฎหมายกำหนด ทำให้เหลือวงเงินกู้ได้อีกราว 5,000 ล้านบาท เทียบกับวงเงินคงเหลือเฉลี่ยในปีก่อน ๆ ที่มากกว่า 100,000 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ การจัดสรรวงเงินจากงบประมาณปี 2567 ทำให้งบกลางสำรองจ่ายกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นลดลงจนอาจไม่เพียงพอรองรับกรณีฉุกเฉิน โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและภาวะภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น

เสนอรัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณไปใช้ในโครงการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาทไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่

• โครงการพัฒนาบุคลากรการแพทย์ (ใช้วงเงิน เฉลี่ย 3.8 ล้านบาทต่อตำแหน่ง) จะสามารถสร้างบุคลากรการแพทย์ได้กว่า 130,000 ตำแหน่ง

• โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี

• โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม - ชุมพร (40,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 10 สาย

• โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (190,000 ล้านบาทต่อสาย) จะพัฒนาได้กว่า 2 สาย เป็นต้น

2. แหล่งเงินสำหรับดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ธปท. มองว่า ตามที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเสนอวงเงินดำเนินโครงการรวม 500,000 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาจากงบประมาณรายจ่ายต่างปีและต่างประเภท และอีกส่วนหนึ่งจะมาจากการมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การใช้เงินงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ จะต้องมีความสอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

การใช้จ่ายภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องไม่ขัดแย้งกับการควบคุมระบบเงินตรา โดยมูลค่าสิทธิใช้จ่ายที่รัฐบาลกำหนดขึ้นจะต้องมีงบประมาณรองรับเต็มจำนวน (fully earmarked) และมีแหล่งที่มาของเงินที่เจาะจงชัดเจนในวันเริ่มโครงกร โดยหากรัฐบาลยังไม่สามารถ fully earmark งบประมาณเต็มมูลค่าสิทธิรวมในวันเริ่มโครงการ ด้วยเหตุใด ๆ เช่น ไม่สามารถนำเงินงบประมาณส่วนใดมาใช้ได้ตามเงื่อนไขของกฎหมาย หรือมีความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติ ก็จะมีผลให้การกำหนดสิทธิใช้จ่ายในส่วนที่ไม่มีงบประมาณรองรับเป็นการสร้างวัตถุหรือเครื่องหมายแทนเงินตรา ซึ่งเป็นความผิด ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501

ปัจจุบันรัฐเป็นหนี้ธ.ก.ส.ถึง 800,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้การให้ ธ.ก.ส. ร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร ควรมีความขัดเจนทางกฎหมายว่า การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้หน้าที่และอำนาจ และอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ประกอบกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ จะต้องกำหนดกลไกการเติมเงินให้เกษตรกรแยกส่วนจากการเติมเงินให้ประชาชนทั่วไปอย่างชัดเจน ทั้งอาจต้องจำกัดขอบเขตการใช้จ่ายให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส.ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณผิดประเภท

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความถูกต้องและรอบคอบ จึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน ดังเช่นที่ได้เคยหารือในประเด็นกิจการอันพึงเป็นงานธนาคารออมสิน ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติ ธนาคารออมสิน พ.ศ.2489 แล้ว

นอกจากนี้ ธปท. ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลความเสี่ยงและฐานะของสถาบันการเงิน เฉพาะกิจ มีข้อกังวลว่า การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.อย่างมีนัยสำคัญ 

3. ผู้พัฒนาและดำเนินการระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

ธปท.มองว่า ระบบสำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีความซับซ้อนและต้องรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากจึงต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีความเสถียร และมีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risk) 

ธปท. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเสถียรภาพระบบการชำระเงินของ ประเทศ มีข้อห่วงใยในการพัฒนาและดำเนินการระบบ ดังนี้

โดยควรใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบพร้อมเพย์ และ Thai QR Payment เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ลตต้นทุนในการพัฒนาระบบ และใช้ประโยชน์สูงสุดจากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่มีอยู่ ด้วยเงื่อนไขของการใช้สิทธิที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ

รวมทั้งการที่ระบบจะมีลักษณะเป็นระบบเปิด (Open-loop) ที่ต้องเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการที่หลากหลาย จึงควรต้องกำหนดโครงสร้างและสถาปัตยกรรมของระบบที่ชัดเจน ตลอดจนวางแผนการพัฒนาและทดสอบที่รัดกุมครบถ้วนเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ อันจะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงินของประเทศ

ทั้งนี้ควรคำนึงถึงมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของระบบและข้อมูล ความถูกต้องเชื่อถือได้ของระบบงานและข้อมูล ความต่อเนื่องของการให้บริการ การจัดการการเข้าถึงข้อมูลธุรกรรม และการป้องกันภัยไซเบอร์ที่เข้มงวด รวมทั้งมีกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของประขาชนและผู้ประกอบการ ที่ได้มาตรฐานตามระดับความสี่ยงของภาคการเงินด้วย


4. การบริหารจัดการความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต


ธปท.แนะนำว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น

1. แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด
2. การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม
3. การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับ เงื่อนไขการใช้จ่าย
4. ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไมให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ
5.การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount) เป็นต้น
ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่

ดังนั้น เพื่อให้การให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีความรอบคอบครบถ้วน จึงเสนอให้ ครม.ทบทวนและนำเสนอข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมทั้งจัดทำแนวทางหรือมาตรการแก้ไขประเด็นปัญหาหรือความเสี่ยงต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมด้วย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาให้ความเห็นชอบในกรอบหลักการของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อไป



ติดต่อโฆษณา!