เหลื่อมล้ำสุดขีด ! เศรษฐีแดนภารตะ 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 40% ของประเทศ

เหลื่อมล้ำสุดขีด ! เศรษฐีแดนภารตะ 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่ง 40% ของประเทศ

ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึง นายโธมัส พิเก็ตตี ผู้เชี่ยวชาญด้านความเหลื่อมล้ำชื่อดัง เผยให้เห็นว่า มหาเศรษฐี 1% ของประเทศอินเดีย หรือประมาณ 9.2 ล้านคน มีรายได้คิดเป็น 22.6% ของรายได้รวมทั้งหมดของประเทศ และถือครองความมั่งคั่งมากกว่า 40% ของอินเดีย ตัวเลขดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของอินเดียเป็นภาพที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น 


ขณะเดียวกัน จากการศึกษาข้อมูลพบว่า กลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นล่างในอินเดีย กลับเสียภาษีมากกว่าเศรษฐีร่ำรวย โดยจำนวนเงินที่ได้จากการเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ทั้งหมดของประเทศประมาณ 64% มาจาก 50% ของประชากรของประเทศที่มีเงินน้อยที่สุด อย่างไรก็ดี มีเพียง 4% ของรายได้จากภาษี GST ตัวเดียวกันนี้มาจากชาวอินเดียที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศ ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ก็เป็นผลมาจากการที่บรรดาเศรษฐีอินเดียเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการลดภาษีนิติบุคคล การยกเว้นภาษี และปัจจัยอื่นๆ


หากเก็บภาษี 2% จากความมั่งคั่งทั้งหมดของมหาเศรษฐีอินเดียจะสามารถเป็นค่าอาหารให้แก่กลุ่มประชากรที่ขาดสารอาหารในประเทศอินเดียได้นานถึง 3 ปี และหากเก็บภาษี 2.5% กับเศรษฐีอินเดียที่ร่ำรวยที่สุด 100 คนแรก หรือเก็บภาษี 5% กับอภิมหาเศรษฐีอินเดีย 10 คนแรก จะมีเงินเพียงพอที่จะนำเด็กราว 150 ล้านคนกลับเข้าสู่การศึกษาได้


ในปัจจุบันสังคมอินเดียนำโดย "ราชามหาเศรษฐี (Billionaire Raj)" ซึ่งเป็นพวกชนชั้นสูงสมัยใหม่ของอินเดีย มีความเหลื่อมล้ำมากกว่าสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของกษัตริย์อังกฤษเสียอีก ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่สงบทางสังคมในอินเดียได้ โดยความเหลื่อมล้ำขยายตัวขึ้นหลังจากที่เศรษฐกิจเปิดกว้างมากขึ้นในช่วงต้นยุค 1990 


สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดขึ้น ประจวบเหมาะกับการขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และการเติบโตของชนชั้นมหาเศรษฐีของอินเดียที่นำโดยนายมูเกซ อัมบานี และนายโกตัม อดานี ขณะที่พรรคฝ่ายค้านของอินเดียกล่าวหารัฐบาลของนายโมดีมาอย่างยาวนานว่าเป็น "ทุนนิยมพวกพ้อง" และเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจบางประเภทที่ทำสัญญากับรัฐบาล

ติดต่อโฆษณา!