วิกฤตเงินจ๊าดเมียนมา สั่งธุรกิจ-ผู้กู้รายย่อย ระงับชำระหนี้ต่างประเทศ

วิกฤตเงินจ๊าดเมียนมา  สั่งธุรกิจ-ผู้กู้รายย่อย ระงับชำระหนี้ต่างประเทศ
Highlight

เมียนมาประเทศเพื่อนบ้านกำลังประสบปัญหาวิกฤตค่าเงินจ๊าด ธนาคารกลางสั่งภาคธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยระงับการชำระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินจ๊าด อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว นโยบายดังกล่าวช่วยลดการไหลออกของเงินสำรองระหว่างประเทศที่คาดว่ามีค่อนข้างน้อยในขณะนี้ ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียหรือ ADB คาดว่าในปี 2564 ที่ผ่านมาเมียนมามี GDP ติดลบถึง 18.4% เงินเฟ้อ 12.63% ในขณะที่มีหนี้ต่างประเทศ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบริษัทไทยที่ลงทุนในประเทศเมียนมาได้รับผลกระทบบ้าง ตามสัดส่วนการลงทุน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล  ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ( FETCO) โพสต์ข้อผ่านผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว วันนี้ (19 ก.ค.65 ) ในเรื่องของ วิกฤตค่าเงินจ๊าด !!! โดยระบุว่า ข้างบ้านเราอีกประเทศที่กำลังมีปัญหากับเรื่องค่าเงิน ก็คือ เมียนมา

ล่าสุด จำเป็นต้องประกาศเมื่อวันที่ 13 กรกฏาคมที่ผ่านมา ให้บริษัทและธนาคารในเมียนมา หยุดพักการชำระหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ !!!

หลังจากช่วงเดือนเมษายน ได้สั่งให้บริษัทต่างๆ แลกเงินตราต่างประเทศที่มี ไปสู่เงินจ๊าดภายใน 24 ชมและได้ประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ

ทั้งหมด เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินจ๊าด ที่อ่อนค่าลงมามากจาก 1,325 จ๊าด/ดอลลาร์ มาเป็น 1,850 จ๊าด/ดอลลาร์ (อัตราที่ทางการประกาศ) หรือลดลงอย่างน้อยประมาณ 30%

ในตลาดมืด (black market) มีข่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 2,200 จ๊าด/ดอลลาร์

นอกจากนี้ นโยบายที่ประกาศออกมา ยังจะช่วยลดการไหลออกของเงินสำรองระหว่างประเทศ ที่มีอยู่ไม่มาก ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดเท่าที่ประกาศออกมา เมื่อมีนาคม 2564 (1 ปีที่แล้ว) เมียนมามีเงินสำรองอยู่เพียง 7.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

20220719-b-01.jpg

แต่จากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดล่าสุดในช่วงที่ผ่านมา ที่ล่าสุด ADB ประมาณไว้ที่ -1.1% ของ GDP การไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว การที่ไม่มี FDIs ไหลเข้า การต้องจ่ายชำระคืนดอกเบี้ยและหนี้ต่างประเทศที่มียอดคงค้างประมาณ 16% ของ GDP หรือประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศของเมียนมา จึงลดลงไปพอสมควร ดร.กอบศักดิ์ ระบุ

เงินที่ไหลออกจึงกลายเป็นปัญหาที่ต้องจัดการ นำมาซึ่งนโยบายต่างๆ ที่ประกาศออกมา

ทั้งหมดนี้ เศรษฐกิจเมียนมายังต้องปรับตัวเพิ่มอีกมาก เพราะจากข้อมูล ADB พบว่า เมื่อปีที่แล้ว เมียนมา GDP ติดลบ -18.4% เงินเฟ้ออยู่ที่ 12.63% เมื่อธันวาคมที่แล้ว ซึ่งจากสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก เงินเฟ้อปัจจุบันคงเพิ่มไปอีกพอสมควร

ทั้งนี้ มาตรการจำกัดเรื่องเงินตราต่างประเทศที่ทางการได้ประกาศออกมา กำลังส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตของหลายบริษัท ที่ไม่สามารถหาเงินตราต่างประเทศไปชำระค่านำเข้าวัตถุดิบ ซึ่งจะส่งผลต่อไปยังยอดการผลิต การส่งออก และเศรษฐกิจต่อไป 

ธุรกิจไทยที่ไปลงทุนเมียนมาได้รับผลกระทบ

Bloomberg ระบุว่า บริษัทต่างประเทศในเมียนมามีเงินกู้ยืมในสกุลต่างประเทศอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเริ่มเห็นรัฐบาลเข้าควบคุมค่าเงินเมียนมาชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าด ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์

สำหรับผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา เมื่อวานนี้ 18 ก.ค.มีแรงขายหุ้นที่ได้รับผลกระทบหลักออกมา เช่น บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) โดยราคาหุ้นวานนี้ลดลงเกือบ 10% ขณะที่ราคาวันนี้ 19 ก.ค.หลังเปิดตลาดยังคงลดลงต่อเนื่องมาทำจุดต่ำสุดที่ 45.75 บาท หรือลดลง 3.7% ล่าสุดเมื่อเวลา 16.23 น.ราคาอยู่ที่ 47 บาท ลดลง 1.05%

ขณะที่หุ้นอื่นๆ ที่มีธุรกิจในเมียนมา เช่น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บาท บมจ.โอสถสภา (OSP)  บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL)  บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ลดลงเช่นกัน

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในส่วนของ ITD ที่มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท และถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัมปทานตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยที่ ITD ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าโครงการดังกล่าว เพราะยังมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลเมียนมาได้

สำหรับ TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ขนาด 120 เมกะวัตต์ และรับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ขนาด 388 เมกะวัตต์ โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 2564 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มอย่าง OSP มียอดขายจากเมียนมาราว 10% ของยอดขาย โดยหลักๆ แล้วขายเป็นสกุลเงินจ๊าดผ่านบริษัทย่อยในเมียนมา จึงมองผลกระทบในส่วนยอดขายจากมาตรการของธนาคารกลางเมียนมาค่อนข้างจำกัด แต่ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคในเมียนมา การจัดเก็บเงินจากคู่ค้า รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินเมียนมา ยังต้องติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยอดขายต่างประเทศยังเติบโตดี 17.8% ท่ามกลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจเมียนมาหลังผ่านการรัฐประหารในช่วงต้นปี 2564 นอกจากนี้ OSP มีเงินกู้ยืมสกุลดอลลาร์ ผ่านบริษัทร่วมในเมียนมา มีภาระหนี้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินไทย

บล. KTBST กล่าวว่า บริษัทไทยส่วนใหญ่ที่ประกอบธุรกิจในเมียนมาร์ไม่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ จึงส่งผลกระทบจำกัด จากการสอบถามบริษัทต่างๆ ที่ประกอบธุรกิจในเมียนมา ได้รับคำตอบว่าไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัท

จึงมองว่าราคาหุ้นที่ปรับลงเป็นจังหวะให้เข้าซื้อสะสมหุ้น โดยแนะนำหุ้น MEga Lifesciences (MEGA) ให้ราคาเป้าหมายที่ 67 บาทต่อหุ้น จากแนวโน้มกำไรที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ไตรมาส 2/65 เป็นต้นไป ได้อานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนตัวและผู้บริโภคห่วงใยสุขภาพมากขึ้น 

สำหรับบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบด้วย

MEGA มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาอยู่ที่ 37% ของรายได้รวม โดย 65% ของรายได้ ในเมียนมาเป็น pharmaceutical products ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นด้าน consumer products จะมีสัดส่วนรายได้เพียง 35% เท่านั้น หากรายได้ส่วนนี้กระทบ 10% จะกระทบกำไรสุทธิปี 2565  เพียง 0.8% เท่านั้นด้านเงินพม่า หรือเงินจ๊าดที่อ่อนค่าส่งผลกระทบจำกัด โดย MEGA มีรายรับในเมียนมาเป็นเงินจ๊าด แต่ตั้งราคาขายในสัญญาซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์ การอ่อนค่าของเงินจ๊าดส่งผลให้ราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ทางบริษัทฯไม่มีเงินกู้ต่างประเทศ

Osotspa (OSP)  มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาอยู่ที่ 10% ของรายได้รวม โดยมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเมียนมา ทั้งนี้ OSP มีรายรับและรายจ่ายเป็นจ๊าด สำหรับเงินกู้ในสกุลเงินต่างประเทศ OSP มีเงินกู้อยู่ที่ USD 27.8 million บริษัทฯยืนยันที่จะทำตามนโยบายแบงก์ชาติเมียนมา

Carabao Group (CBG) มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาร์อยู่ที่ 10% ของรายได้รวม โดยการซื้อขายเป็นเงินบาท การส่งออกสินค้าไปเมียนมายังดำเนินการได้ตามปกติ. CBG ได้รับผลกระทบจำกัด สำหรับธุรกิจในเมียนมาไม่มีเงินกู้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ

สำหรับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานในเมียนมา แต่สัดส่วนรายได้ไม่มีนัยสำคัญ ได้แก่

Aeon Thana Sinsap (Thailand) (AEONTS) บริษัทเริ่มกลับมาปล่อยสินเชื่อในเมียนมาแบบจำกัด โดยอาศัยการรับ-จ่ายเงินในประเทศเท่านั้น และไม่สามารถนำเงินออกจากเมียนมาได้ ทั้งนี้มีสินเชื่อเมียนมาต่ำมากประมาณ 0.3% ของสินเชื่อรวม

Amata Corporation (AMATA) บริษัทมีเงินฝากคงเหลือประมาณ 80 ล้านบาท (เป็นเงินทุนที่ยังไม่ได้ลงทุนในนิคมเมียนมาที่ถูกพักการดำเนินงานตั้งแต่รัฐประหาร) ที่ฝากในรูปสกุลดอลลาร์ในเมียนมา

Charoen Pokphand Foods (CPF) มีรายได้จากประเทศเมียนมาแต่ไม่มีนัยสำคัญ

SAPPE (NR) มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาอยู่ที่ 1% ของรายได้รวม โดยรับรู้เป็นสกุลเงินบาท

Thai Vegetable Oil (TVO) มีรายได้จากประเทศเมียนมาแต่ไม่มีนัยสำคัญ

PTT Exploration and Production (PTTEP) มีรายได้จากประเทศเมียนมาแต่รับรู้ เป็นสกุลเงินดอลลาร์ และไม่มีเงินกู้ในสกุลเงินจ๊าด

Siam Cement (SCC) มีรายได้จากเมียนมาแต่ไม่มีนัยสำคัญ และไม่มีเงินกู้สกุลเงินจ๊าด

ติดต่อโฆษณา!