19 สิงหาคม 2564
12,724

อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง มีแนวโน้มเติบโตสูง ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศเริ่มอิ่มตัว และต้องพึ่งการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน

อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง มีแนวโน้มเติบโตสูง ในขณะที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศเริ่มอิ่มตัว และต้องพึ่งการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน
HighLight

อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็งเติบโตดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ในช่วงปี 2564-2566 ตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ตอบโจทย์ชีวิต และไลฟสไตล์คนเมืองที่เน้นความรวดเร็ว สะดวกสบาย ในขณะที่อาหารประเภทบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เคยเติบโตสูงในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวกลับมีแนวโน้มเติบโตลดลงแม้ในช่วงโควิด-19 ระบาดและมีการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ก็ตาม


อุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานโดยรวมของไทยในปี 2564-2566 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยความต้องการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศคาดว่าจะเติบโตได้อย่างจำกัด จากภาวะตลาดใกล้อิ่มตัว และมีแนวโน้มแข่งขันสูง

อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นอาหารอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อลดภาระค่าครองชีพ แต่การเติบโตไม่สูงอย่างอดีตในขณะที่ตลาดส่งออกยังมีแนวโน้มเติบโตได้

ส่วนอาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็งทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกคาดว่าจะยังเติบโตดี ตามทิศทางการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ภายในประเทศ และความนิยมบริโภคอาหารไทยในต่างแดน ทั้งนี้ ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดอาหารแต่ละประเภทเติบโตมีดังนี้


บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป:
ปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3-4% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่แน่นอน ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและเลือกซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซึ่งถือเป็นอาหารอีกทางเลือกหนึ่ง

ปี 2563 ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าประมาณ 2 หมี่นล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่เพียง 3 ราย คือ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (แบรนด์มาม่า) บจก.โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย (แบรนด์ไวไว) และบจก.วันไทยอุตสาหกรรมอาหาร(แบรนด์ยำยำ) ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบ 90% ของมูลค่าตลาดรวม จึงมีความได้เปรียบในด้านการประหยัดต่อขนาดจากการผลิตสินค้าในปริมาณมาก และมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ เงินทุน ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการมีช่องทางกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าตลาดในประเทศใกล้ถึงภาวะอิ่มตัว เมื่อพิจารณาจากอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก (ปี 2563 ไทยมีอัตราการบริโภคที่ 53.2 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี เทียบกับการบริโภคเฉลี่ยทั้งโลกอยู่ที่ 15.3 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี),  

ด้านการแข่งขันของธุรกิจรุนแรงจากสินค้าทดแทน อาทิ อาหารพร้อมทานแบบจัดวางบนชั้น อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง อาหารพร้อมทานปรุงสใหม่ ที่อาจเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด รวมถึงอาหารทดแทนประเภทอื่น อาทิ เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ธัญพืชอบกรอบ (ซีเรียล) และผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม อาจเป็นปัจจัยกดดันให้การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรง

ผู้ผลิตจึงมีแนวโน้มแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดผู้บริโภค ทั้งรสสัมผัสของเส้นบะหมี่ รสชาติใหม่ และบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย (แบบซอง ถ้วย และชาม) รวมทั้งพัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูประดับบน เพื่อแข่งกับสินค้านำเข้าจากเกาหลีและญี่ปุ่น

สำหรับนโยบายภาครัฐที่อาจพิจารณาจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม หรือภาษีความเค็ม อาจมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การส่งออกในช่วงปี 2564-2566 คาดว่ามูลค่าจะเติบโตเฉลี่ย 9-10% ต่อปี ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว หลังประชาชนทยอยฉีดวัคซีน COVID-19 โดยเฉพาะการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการตรวจ/ปล่อยสินค้า และเปิดจุดผ่านแดนมากขึ้น ประกอบกับอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศแถบอาเซียนยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกัมพูชา (7.3 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) และเมียนมา (12.4 หน่วยบริโภคต่อคนต่อปี) จึงอาจเป็นโอกาสในการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย

อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองของเมียนมา และความไม่แน่นอนของกฎระเบียบการค้าชายแดน อาจยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกไปยังเมียนมา
ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย (สัดส่วน 11.1% ของมูลค่าส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยในปี 2563 รองจากกัมพูชาที่มีสัดส่วน 23.2%)


อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง :
คาดว่าความต้องการบริโภคในประเทศปี 2564-2566 จะมีมูลค่าเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 12-14% ต่อปี โดยอาหารพร้อมทานแช่เย็น และอาหารพร้อมทานแช่แข็งจะเติบโตเฉลี่ย 13-14% ต่อปี และ 12-13% ต่อปี ทั้งนี้ในปี 2563 มีมูลค่าตลาดประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ปัจจัยที่หนุนให้ อาหารพร้อมทานแช่เย็น-แช่แข็ง ประกอบด้วย

1. การขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีสาขาจำนวนมากและกระจายไปยังแหล่งชุมชน ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายได้ง่าย และสะดวกในการรับประทาน

2. การขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปสู่วิถีชีวิตของสังคมเมืองที่เร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย

3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เลือกหลากหลายเมนู และหลากหลายสัญชาติ อาทิ อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาเลี่ยน

4. คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารพร้อมทานแบบแห้งจึงดึงดูดผู้บริโภค

5. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านรุ่นใหม่ที่เอื้อให้การซื้ออาหารแช่เย็น-แช่แข็งมาบริโภคสะดวกขึ้น เช่น ตู้เย็นสมัยใหม่มีช่องแช่แข็งขนาดใหญ่ และไมโครเวฟมีราคาถูกลง และ
 
6. การจัดโปรโมชั่น ส่วนลด ของร้านค้าปลีกสมัยใหม่จูงใจผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของอาหารพร้อมทานประเภทอื่น อาทิ อาหารพร้อมทานแบบจัดวางชั้น และอาหารพร้อมทานปรุงสดใหม่ รวมถึงอาหารทดแทนอื่น อาทิ เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ธัญพืชอบกรอบ (ซีเรียล) ที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น อาจยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันการแข่งขัน


มูลค่าส่งออกในช่วงปี 2564-2566 คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 11-12% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจาก


1. ทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังการฉีดวัคซีน COVID-19 ครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น

2. แนวโน้มนวัตกรรมการเก็บรักษาอาหารพร้อมทานให้คงรสชาติและรูปลักษณ์เสมือนอาหารปรุงสดใหม่มีการพัฒนามากขึ้น

3. การคิดค้นเมนูแปลกใหม่ที่มีความหลากหลายเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และ

4. อาหารที่ผลิตจากไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติในด้านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย สะอาด และปลอดภัย จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะโรคระบาด

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังมีปัจจัยที่ท้าทายจากมาตการเข้มงวดของประเทศคู่ค้าในด้านการตรวจสอบสินค้า อาทิ การผลิตภายใต้มาตรการควบคุมคุณภาพและการรับรองต่างๆ อาทิ ระบบ HACCP, GMP, ISO 9001-2000 และ HALAL รวมถึงข้อกำหนดการติดฉลาก และระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตวัตถุดิบ ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นได้


มุมมองวิจัยกรุงศรี

คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารพร้อมทานโดยรวมในปี 2564-2566 จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยอาหารพร้อมทานแช่แข็งจะยังมีแนวโน้มเติบโตดีทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกตามการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่และการขยายตัวของชุมชนเมือง
 
ส่วนตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศน่าจะขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากตลาดใกล้เข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ขณะที่ตลาดส่งออกยังเติบโตดี อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตยังมีความเสี่ยงจากนโยบายภาครัฐที่อาจจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมซึ่งอาจเพิ่มภาระต้นทุนและมีผลกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ผลิตได้


ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป:
คาดว่ารายได้ของผู้ประกอบการจะเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยหนุนความต้องการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อลดภาระค่าครองชีพ

อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวอาจอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดในประเทศซึ่งเป็นตลาดหลักใกล้ถึงภาวะอิ่มตัว การแข่งขันจึงรุนแรง ผลักดันให้ผู้ผลิตพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดผู้บริโภค อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากอาหารพร้อมทานประเภทอื่น และสินค้าทดแทนที่มีอยู่หลากหลายเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด

นอกจากนี้ ภาครัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียมซึ่งคาดว่าอาจมีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2565-2566 อาจมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ

ด้านการส่งออกคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่อง ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว และตลาดยังมีอัตราการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปค่อนข้างต่ำ อาทิ กัมพูชา และเมียนมา (ตลาดส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทย สัดส่วน 23.2% และ 11.1% ตามลำดับ) จึงอาจเป็นโอกาสในการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย


ผู้ผลิตอาหารแช่แข็ง:
คาดว่ารายได้จะเติบโตดี ปัจจัยหนุนจากตลาดในประเทศที่เติบโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่  การขยายตัวของชุมชนเมือง เมนูที่หลากหลาย และการจัดโปรโมชั่น ส่วนลด ของร้านค้าปลีกสมัยใหม่เพื่อจูงใจผู้บริโภค
 
ส่วนตลาดส่งออกคาดว่าจะขยายตัวตามทิศทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ประกอบกับ อาหารที่ผลิตจากไทยได้รับการยอมรับจากต่างชาติทั้งด้านคุณภาพ และรสชาติ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ยังมีปัจจัยที่ท้าทายจากความเข้มงวดด้านการตรวจสอบสินค้าของประเทศคู่ค้า อาทิ การผลิตภายใต้การควบคุมคุณภาพและการรับรองตามมาตรฐานต่างๆ อาทิ ระบบ HACCP, GMP, ISO 9001-2000 และ HALAL รวมถึงข้อกำหนดการติดฉลาก และระบบการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตวัตถุดิบ ซึ่งอาจกระทบต้นทุนการผลิตได้
 
ที่มา : Wanna Yongpisanphob วิจัยธนาคารกรุงศรี
 

ติดต่อโฆษณา!