07 พฤษภาคม 2565
3,694

TikTok แพลตฟอร์มที่มากกว่าการเต้น เมื่อถูกใช้มาเป็นเครื่องมือทางการตลาด

TikTok แพลตฟอร์มที่มากกว่าการเต้น เมื่อถูกใช้มาเป็นเครื่องมือทางการตลาด
Highlight

TikTok แพลตฟอร์มยอดฮิตจากจีน ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการเพิ่มกลุ่มผู้ใช้งานกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก เนื่องด้วยเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย มีลูกเล่นเยอะ เสริมความสนุก จึงมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ใครมีลีลาแดนซ์สุดมัน ก็มักแจ้งเกิดกันได้ที่นี่ ไม่เว้นแต่ กิจการ ร้านค้า เล็กใหญ่ ก็ไม่พลาดขยายการตลาดผ่านแพลตฟอร์มนี้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน ยอดการใช้จ่ายผ่าน TikTok ในไทยปีที่ผ่านมาสูงถึง 654%


เมื่อคิดถึง TikTok ในยุคเริ่มต้น เมื่อราว 5 ปีก่อน หลายๆ คนคงคิดถึงแพลตฟอร์มการร้องเพลงลิปซิ้งและการเต้นต่างๆ และคงไม่คิดว่าแพลตฟอร์มนี้จะโตอย่างรวดเร็วจนแบรนด์ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจในการทำการตลาดออนไลน์และอาจเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหลักที่แบรนด์ต้องพึ่งในการขายสินค้าในอนาคต

ด้วยการที่ TikTok เน้นคอนเทนต์ประเภท Short Form Video หรือวิดีโอที่ปกติแล้วจะยาวประมาณ 15-30 วินาที ทำให้คอนเทนต์ตอบความต้องการและสามารถดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเสพสื่อที่สั้นและกระชับ โดยในแต่ละเดือนผู้ใช้งานใช้เวลาในแอปฯ TikTok กว่า 19.6 ชั่วโมง แพลตฟอร์ม TikTok จึงโตอย่างก้าวกระโดดและปัจจุบันมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคน และในอาเซียนกว่า 240 ล้านคน สำหรับประเทศไทยไทยเอง TikTok ก็ได้รับความนิยมอย่างมากและเป็นแอปพลิเคชั่นโซเชียลที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในปีที่ผ่านมา 

ด้วยความที่แพลตฟอร์ม TikTok ยังค่อนข้างใหม่และโอกาสในการสร้างฐานผู้ติดตามยังเปิดกว้าง ทำให้มี Social Influencer จำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาสร้างคอนเทนต์ประเภทใหม่ๆ และก็มี Influencer หลายรายที่สามารถสร้างคอนเทนต์ที่มีเอกลักษณ์และน่าติดตามจนสามารถสร้างยอดผู้ติดตามในหลักหลายแสน หรือหลายล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่เดือน สามารถสร้างรายได้ จากการ tie-in สินค้า การฝากขาย การรีวิวสินค้า และ การสร้างแบรนด์และขายสินค้าของตนเอง 

การที่มี Influencer หน้าใหม่จำนวนมากที่มีคาแร็กเตอร์ชัดเจนและมีกลุ่มผู้ติดตามที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เป็นโอกาสที่ดีของแบรนด์ในการทำการตลาดที่ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในต้นทุนที่ต่ำลงกว่าการทำการตลาดในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งแบรนด์จำนวนมากก็ได้หันมาใช้ TikTok ในการทำโฆษณาสินค้า ซึ่งการใช้จ่ายโฆษณาโดยใช้แพลตฟอร์ม TikTok ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 455 ล้านบาท และยอดการใช้จ่ายโตถึง 654%

ที่สำคัญ TikTok เองเพิ่งได้เปิดฟีเจอร์ใหม่ TikTok shop เมื่อต้นปีที่ผ่านมาในประเทศไทย หลังจากที่ได้เปิดตัวการใช้งานแล้วในยุโรป อเมริกา และ อินโดนิเซียก่อนหน้านี้

โดยตัว TikTok Shop จะช่วยให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ สามารถขายสินค้าของตนผ่านทางช็อปของตนเอง หรือเลือกสินค้าของแบรนด์ต่างๆ ที่มีขายในแพลตฟอร์มมาขายบนช็อปของตนได้ อีกทั้งยังสามารถแท็กสินค้าเข้าไปในวิดีโอของตัวเองเพื่อให้ผู้ชมสามารถกดเพื่อเลือกดูสินค้าสั่งซื้อและชำระเงินได้ทันทีโดยไม่ต้องออกจากแอปพลิเคชั่น 

TikTok Shop ยังสามารถใช้ทำ Lead Generation หรือการเก็บรายละเอียดข้อมูลของลูกค้าที่มีแน้วโน้มจะสนใจในสินค้าและบริการโดยแบรนด์สามารถจัดทำ Survey เพื่อเก็บรายละเอียดข้อมูลและเชื่อมระบบข้อมูลลูกค้าที่จัดเก็บใน TikTok เข้ากับระบบ CRM ของตัวเอง รวมทั้งส่งข้อความสื่อสารโดยเฉพาะกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างอัตโนมัติ 

ซึ่งหลัง TikTok Shop ได้เปิดตัวในต่างประเทศก็มีแบรนด์หลายๆ แบรนด์ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของ Kylie Jenner นางแบบดังในอเมริกา หรือ Ganier แบรนด์เครื่องสำอางค์ในยุโรป หรือแม้กระทั่งสโมสรฟุตบอล Leeds United ที่ได้ทำการตลาด เพื่อขายสินค้าของตนผ่าน TikTok Shop

การเติบโตของ TikTokจะเป็นโอกาสของหลายๆ แบรนด์ในการทำการตลาดและเพิ่มยอดขายออนไลน์ผ่านการใช้ Social Influencer ในการแนะนำสินค้า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความเสี่ยงของแบรนด์ที่ปรับตัวไม่ทัน 

แม้ในปัจจุบันในอาเซียน TikTok Shop ได้เปิดให้การซื้อขายเป็นระหว่างร้านค้าและผู้ใช้งานภายในประเทศ แต่ TikTok มีแผนที่จะเปิดให้มีการขายในลักษณะ Global-Selling ในอนาคตอันใกล้และจะเปิดโอกาสให้แบรนด์จากประเทศจีนที่สามารถผลิตสินค้าในต้นทุนต่ำ

และมีประสบการณ์การทำการตลาดออนไลน์ สามารถขายสินค้าผ่าน TikTok ข้ามพรมแดนไปยังประเทศต่างๆ และด้วยเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวลง แบรนด์เหล่านี้ก็จะยิ่งเร่งมาทำการตลาด เพื่อหารายได้จากประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

ซึ่งผลกระทบจะเห็นได้จากกรณีของบริษัท Fast-Fashion ของจีนอย่าง Shein ที่ได้ตีตลาดสินค้าแฟชั่นทั่วโลกผ่านการนำเสนอสินค้าในราคาที่ย่อมเยาว์และออกสินค้าไลน์ใหม่อย่างรวดเร็ว และใช้โซเชียลแพลตฟอร์มอย่าง TikTok และแคมเปญการทำการตลาดผ่าน social influencer ต่างๆในการสร้างกระแสของแบรนด์และขายสินค้าทางออนไลน์

ทำให้ Shein สามารถขยายฐานลูกค้าอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก รวมทั้งในอาเซียน โดยในปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชั่นของ Shein เป็นแอปพลิเคชั่นด้านช็อปปปิ้งที่มีผู้ใช้ดาวน์โหลดมากที่สุดเป็นอันดับสามในไทย และมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย

TikTok และ Short form video นั้นเป็นตลาดที่จะยังเติบโตอีกมาก โดยทาง Facebook และ YouTube เองก็ได้ออกแพลตฟอร์มของตนเองไม่ว่าจะเป็น Reels หรือ Shorts เพื่อมาแข่งกับ TikTok  Short form video จึงเป็นอีกช่องทางการทำการตลาดที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม และอาจเป็นช่องทางการสร้างรายได้หลักของผู้ประกอบการหลายๆคนในอนาคต

อ้างอิง :  Tech & Innovation Advisor, The Big Blue, Bangkok Bank SME

ติดต่อโฆษณา!