23 ตุลาคม 2564
22,506

“แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่น” โอกาสการลงทุนชุมชนใกล้บ้าน ที่คนหัวเมืองอยากลิ้มลอง

“แฟรนไชส์อาหารญี่ปุ่น” โอกาสการลงทุนชุมชนใกล้บ้าน ที่คนหัวเมืองอยากลิ้มลอง
Highlight
  • การลงทุนแฟรนไชส์ในต่างจังหวัดยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากคนมีอำนาจซื้อกระจายอยู่ในหลายจังหวัด แต่ยังเข้าถึงไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่คนท้องถิ่นก็อยากลิ้มลองเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ

  • โมเดลธุรกิจของ "นิกิวาอิ" เป็นการขยายกิจการในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ประเภทให้นักลงทุนได้เลือก ตามกำลังทรัพย์และขีดความสามารถด้านทรัพยากรที่นักลงทุนแต่ละรายมีไม่เหมือนกัน

  • งบลงทุนของเครือ “นิกิวาอิ” มีตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง มากกว่า 8 ล้านบาท ระยะคืนทุนตั้งแต่ 1-2 ปีขึ้นอยู่กับทำเล ส่วนรายได้อยู่ระหว่าง 2 แสน-3 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับชนิดของแฟรนไชส์ มีสัดส่วนกำไรระหว่าง 20-30%


การลงทุนแฟรนไชส์ในชุมชนต่างจังหวัดยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากคนมีอำนาจซื้อกระจายอยู่ในหลายจังหวัด แต่ยังเข้าถึงไม่มาก คู่แข่งน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่คนท้องถิ่นก็อยากลิ้มลองเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ

"ทันข่าว Today" คอลัมน์  "SME Talk"  ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสุทธิพร ตั้งสกุลสันติ ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร  บริษัท นิกิวาอิ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ "นิกิวาอิ" ร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบการลงทุน มาเล่าถึงโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นในชุมชนต่างจังหวัดให้นักลงทุนได้พิจารณา

20211023-a-01.jpg

แนวคิดในการทำ "นิกิวาอิ" แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่น

เริ่มต้นจากหนึ่งในผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้งของ  "นิกิวาอิ" เป็นคนชื่นชอบอาหารญี่ปุ่นและไปศึกษาจนสามารถสร้างสรรค์เมนูด้วยตนเองได้ แม้ว่าไม่ได้มีประสบการณ์เป็นเชฟมาก่อน ต่อมาก็มีแรงบันดาลใจจะเปิดร้านอาหารแนวญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยยุคนี้พร้อมจะหาประสบการณ์ลิ้มลองอาหารหลากหลายชนิด หลากหลายวัฒนธรรมมากขึ้น อาหารญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งชนิดของร้านอาหารที่คนไทยคุ้นเคย และชอบรับประทานไม่น้อยไปกว่าอาหารเกาหลี ที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมคล้ายกัน นอกจากนี้การเปิดร้านอาหารที่ต่างวัฒนธรรมในต่างจังหวัดนั้นยังมีไม่มาก คู่แข่งน้อย และแบรนด์ใหญ่ ๆ ไม่นิยมลงมาขยายกิจการ เพราะไม่คุ้มค่าการจัดการ จึงเป็นช่องทางการลงทุนที่น่าสนใจ

20211023-a-02.jpg

โมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร

โมเดลการทำธุรกิจของ "นิกิวาอิ" เป็นการขยายกิจการในระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ประเภทให้นักลงทุนได้เลือก ตามกำลังทรัพย์และขีดความสามารถด้านทรัพยากรที่นักลงทุนแต่ละรายมีไม่เหมือนกัน โดยกลยุทธ์การขยายธุรกิจของ "นิกิวาอิ" เน้นการเปิดสาขาในชุมชนภูมิภาค เป็นป่าล้อมเมืองเพราะเห็นโอกาสว่าพื้นที่ในต่างจังหวัดที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี คนกลุ่มหนึ่งมีอำนาจซื้อสูง ต้องการบริโภคอาหารวัฒนธรรมอื่นในท้องถิ่นตนเอง ไม่สะดวกเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งช่องว่างโอกาสนี้ทางทีมผู้ถือหุ้น "นิกิวาอิ" เห็นความเป็นไปได้ จึงเน้นการลงทุนในชุมชนต่างจังหวัดที่มีศักยภาพ มากกว่าจะเข้ามากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ ที่แม้ว่าจะมีกำลังซื้อมาก แต่การแข่งขันก็รุนแรง มีรายใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้บริโภคของเราไม่ใช่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางไปเที่ยวตามจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยว แต่กลุ่มลูกค้าเราคือจังหวัดไหนก็ได้ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ผู้บริโภคเป็นคนท้องถิ่นนั้นที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญ ๆ  เช่น ระยอง จันทบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ขอนแก่น ราชบุรี เพชรบุรี ชะอำ สุราษฎร์ธานี เป็นต้น หรือถ้าหากเป็นเมืองท่องเที่ยว คนที่เข้าร้านของเราก็จะไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มีรายได้จากการท่องเที่ยว แล้วต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อบริโภคในท้องถิ่นของตัวเอง

20211023-a-03.jpg

แฟรนไชส์ของท่านมีกี่ประเภท และต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่

แฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นของเครือ "นิกิวาอิ" แบ่งออกเป็น 5 ขนาดการลงทุนประกอบไปด้วย

1. "นิกิ เอ็กซ์เพลส" (Nigi Express) เงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ขนาดของพื้นที่ทำธุรกิจประมาณ 1 คูหาตึกแถว โดยทำเลที่เป็นจุดเด่นสำหรับแฟรนไชส์ประเภทนี้คืออยู่ในชุมชนที่มีคนหนาแน่น การตกแต่งร้านเป็นในลักษณะชูชิบาร์ เน้นการบริการแบบเคาน์เตอร์เหมือนกับสตาร์บัคส์ พื้นที่ครัวเป็นแบบครัวบ้านก็สามารถปฏิบัติงานได้แล้ว มีเมนูอาหารทั้งสิ้น 60-80 รายการ ระดับราคาอยู่ระหว่าง 9-100 บาท  ราคาขายต่อบิลอยู่ระหว่าง 100-200 บาท ค่า Franchise Fee 250,000 บาท ค่า Royalty Fee 30,000 บาท/ปี อายุสัญญา 5 ปี รายได้ต่อเดือนประมาณ 2-4 แสนบาท ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1 ปี 6 เดือน ใช้พนักงานเพื่อดำเนินธุรกิจประมาณ 3-4 คน

2. ร้านอาหาร "นิกิวาอิ ชูชิ" เป็นการให้บริการในรูปแบบร้านอาหารทั่วไป มีเมนูอาหารทุกประเภทตั้งแต่ ต้ม ผัด แกง ทอด ยำ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยที่มีวัตถุดิบเป็นอาหารญี่ปุ่น เช่น ก้อยทูน่า ต้มยำแซลมอน เงินลงทุนเบื้องต้น 2 ล้านบาทขึ้นไป พื้นที่เปิดร้านประมาณ 1 คูหาห้องแถว หรือหาก Stand Alone ควรมีขนาดพื้นที่ประมาณ 60 ตารางเมตรขึ้นไป ค่า Franchise Fee 600,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี ค่า Royalty Fee 4% ของยอดขาย แต่ถ้ายอดขายต่ำกว่า 6 แสนต่อเดือนเก็บเพียง 5,000 บาท มีรายการอาหารให้บริการมากกว่า 100 เมนู ราคาขายต่อเมนูเริ่มต้นที่ 19 บาท รายได้ต่อบิลหากเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีเศรษฐกิจระดับดีอยู่ที่ 600-800 บาท จังหวัดเศรษฐกิจระดับปานกลางอยู่ที่ 400-600 บาท/บิล กำไรของธุรกิจประมาณ 20% การันตียอดขายอยู่ระหว่าง 300,000-700,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับทำเล ระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 2 ปี ใช้พนักงานดำเนินกิจการ 5-8 คน

20211023-a-05.jpg

3. ร้านอาหารในรูปแบบ "โอมากาเสะ" ซึ่งเป็นวิถีการกินแบบตามใจเชฟ หรือ Chef’s Table ในภาษาญี่ปุ่นคำว่า Omakase (お任せ) นั้นหมายถึง ‘ตามใจเชฟ’ นั่นคือการรับประทานอาหารโดยที่เราไม่ได้เลือกเมนูเอง แต่ละเมนูที่เสิร์ฟเชฟจะเป็นคนจัดให้เรา ใน "โอมากาเสะ" หนึ่งชุด จะประกอบด้วยเมนูหลากหลาย ซึ่งแต่ละเมนูจะปรุงจากวัตถุดิบที่ดีที่สุดในแต่ละวัน โดยเชฟจะรังสรรค์ออกมาเป็นเมนูสุดเซอร์ไพรซ์เสิร์ฟให้ได้อร่อยกัน และในแต่ละวันเมนูก็จะไม่เหมือนกัน ร้านโอมากาเสะ มักเป็นร้านที่รับลูกค้าได้จำกัดต่อวัน จะแบ่งเป็นรอบๆ ผู้รับประทานจะได้เห็นกรรมวิธีสร้างสรรค์เมนูของเชฟแบบใกล้ชิดติดขอบ จึงเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่เรียกน้ำย่อยให้กับคนกินระหว่างรอได้

ขนาดการให้บริการแบบ "โอมากาเสะ" ใช้ขนาดพื้นที่ 1 คูหา จุคนได้ประมาณ 12 คน เงินลงทุน 1-6 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดและการตกแต่งร้าน ค่า Franchise Fee 600,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี ค่า Royalty Fee 4% ของยอดขาย รายได้ของธุรกิจประมาณ 1-3 ล้านต่อเดือน ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 30-40% สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี ลักษณะของร้านประเภทนี้สามารถเจาะลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ กุญแจความสำเร็จของร้านอาหารประเภทนี้คือเชฟ ดังนั้นจึงใช้พนักงานน้อยมาก

20211023-a-06.jpg

4. "นิกิวาอิ บุฟเฟ่" เป็นร้านอาหารที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคนในท้องที่ พื้นที่การทำธุรกิจประมาณ 200 ตารางเมตรขึ้นไป มีพื้นที่สำหรับครัวประมาณ 30% มีทั้งครัวร้อนและครัวเย็น เงินลงทุนประมาณ 3.5-8 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ใช้สอยของร้าน ค่า Franchise Fee 600,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี ค่า Royalty Fee 2% ของยอดขาย ยอดขายต่อบิลอยู่ระหว่าง 800-1,000 บาท รายได้ของธุรกิจประมาณ 3 ล้านต่อเดือน ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 15-20% ขึ้นอยู่กับรายการของอาหาร สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี เมนูให้บริการประมาณ 100 รายการ พนักงานให้บริการประมาณ 10-14 คน

20211023-a-09_.jpg

5. "นิกิวาอิ คลูซีน" เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นเกรดบน เน้นเมนูอาหารที่เป็นต้นตำรับของญี่ปุ่น เหมาะสำหรับลูกค้าที่ต้องการสัมผัสรสชาติอาหารญี่ปุ่นอย่างแท้จริง อาจจะนำบริการ "โอมากาเสะ" เข้ามาผสมผสานด้วยก็ได้ จุดเด่นของภัตตาคารประเภทนี้คือบรรยากาศการตกแต่งร้าน เมนูอาหารที่คัดสรร ฝีมือของเชฟที่ปรุงอาหารญี่ปุ่นได้หลากหลายและอร่อย พื้นที่การทำธุรกิจประมาณ 200 ตารางเมตรขึ้นไป มีพื้นที่สำหรับครัวประมาณ 30% มีทั้งครัวร้อนและครัวเย็น เงินลงทุนประมาณ 8-16 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับการตกแต่งร้าน ค่า Franchise Fee 600,000-1,000,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี ค่า Royalty Fee 2-4% ของยอดขาย ขึ้นอยู่กับลักษณะโมเดลประเภทของอาหารที่เลือกใช้ภายในร้าน ระดับราคาต่อจานจะสูงกว่า  "นิกิวาอิ บุฟเฟ่" ราคาต่อบิลมากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป รายได้ของธุรกิจขั้นต่ำ 3 ล้านต่อเดือน ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 30% สามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปี เมนูให้บริการประมาณ 100 รายการ พนักงานให้บริการประมาณ 10-12 คน

20211023-a-07.jpg

แฟรนไชส์ซีของท่านต้องมีคุณสมบัติอย่างไร ท่านให้ความช่วยเหลือแฟรนไชส์ซีอย่างไรบ้าง

คุณสมบัติสำคัญของแฟรนไชส์ซีคือมีความรักในอาหารญี่ปุ่น และมีความรู้เรื่องอาหารญี่ปุ่นเป็นพื้นฐานบ้าง นอกจากนี้จะต้องมีเงินลงทุนโดยเป็นเงินลงทุนของเจ้าของกิจการอย่างน้อย 30% ที่เหลือสามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ แต่ก็ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้ยังต้องมีเงินหมุนเวียนการดำเนินธุรกิจประมาณ 6 เดือน

ส่วนบริการของทางแฟรนไชส์ซอร์ คือความช่วยเหลือให้แฟรนไชส์ซีสามารถตั้งร้านได้ โดยให้ข้อมูลซัพพลายเออร์ทุกประเภทตั้งแต่การก่อสร้างร้าน วัสดุประกอบร้าน อุปกรณ์ในครัว วัตถุดิบประกอบอาหาร ซึ่งในระยะแรกให้ซัพพลายเออร์ส่งตรงไปยังร้านอาหาร ( Door to Door) เพราะต้นทุนขนส่งจะประหยัดกว่าการจัดส่งจากส่วนกลาง โดยร้านที่ส่งวัตถุดิบเหล่านี้ผ่านการคัดกรองว่าเป็นร้านที่วัตถุดิบมีคุณภาพ สด สะอาด อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำร้านอาหารญี่ปุ่น แต่ในระยะยาวหลังจากขยายสาขาเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งทำให้ economy of scale ใหญ่ขึ้น โดยตรงจากโรงงานผู้ผลิต ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบลดลง ทางสำนักงานใหญ่จะเป็นผู้ซัพพลายวัตถุดิบทุกประเภทให้กับแฟรนไชส์ซี   และทางแฟรนไชส์ซอร์ก็ได้มาร์จินจากการขายสินค้าจากส่วนกลางสู่แฟรนไชส์ซีประมาณ 10% ถึงจุดนั้นจะยกเลิก ค่า Royalty Fee ช่วยเพิ่มกำไรให้แฟรนไชส์ซีมากขึ้น

20211023-a-08.jpg

นอกจากนี้การช่วยเหลือด้านการบริหารจะเป็นการช่วยเหลือตลอดอายุการทำธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การช่วยเหลือการป้อนเชฟ พนักงานประจำร้าน โดยในระยะแรกจะส่งกำลังคนจากส่วนกลางเข้าไปช่วยจัดระบบการทำงานให้กิจการสามารถดำเนินได้ และเมื่อกิจการเข้าที่แล้วก็จะจัดส่งพนักงานที่จะทำงานจริงเข้าสู่ระบบ โดยพนักงานดังกล่าวจะเน้นคนในพื้นที่มาฝึกอบรม ซึ่งการฝึกอบรมจะเริ่มต้นตั้งแต่แฟรนไชส์ซีตกลงทำสัญญากับแฟรนไชส์ซอร์ และถ้าหากระหว่างการดำเนินธุรกิจมีพนักงานส่วนไหนลาออกก็จะมีพนักงานจากส่วนกลางเข้าไปช่วยชั่วคราวก่อน เพื่อให้การคัดเลือกและอบรมพนักงานในตำแหน่งนั้นเรียบร้อยแล้ว สามารถทำงานในสาขาได้แล้ว พนักงานจากส่วนกลางที่เข้าไปช่วยเหลือชั่วคราวก็จะถอนตัวกลับสู่ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่

ความช่วยเหลือด้านบุคลากรที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการอบรมเชฟ เมื่อส่วนกลางคิดค้นเมนูใหม่ ๆ ออกมาให้บริการ ก็จะนำเมนูใหม่นั้นเข้าอบรมเชฟทันที เพราะหนึ่งในเสน่ห์ของร้านอาหารคือการมีเมนูออกมาให้บริการใหม่ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้ากลับเข้ามารับบริการซ้ำกับทางร้านค้าได้อย่างต่อเนื่อง

20211023-a-11.jpeg

ทางด้านการให้บริการด้านการบริหาร แฟรนไชส์ซอร์ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่สามารถสั่งการจากมือถือได้ มีการให้สิทธิแก่พนักงานแต่ละคนเข้าสู่ระบบการใช้งานดังกล่าวตามระดับของความรับผิดชอบ เช่น พนักงานต้อนรับลูกค้า สามารถเข้าถึงส่วนของเมนูสินค้า เชฟหรือผู้จัดการร้านสามารถเข้าถึงส่วนของปริมาณการสั่งวัตถุดิบ ระบบปฏิบัติการสามารถเข้าสู่บริการ payment ในหลากหลายแพลตฟอร์ม เช่น การจ่ายเงินสด การจ่ายผ่านบัตรเครดิต การโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ อี-วอลเล็ต เป็นต้น 

นอกจากนี้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวยังสามารถบริหารระบบงานบัญชีหลังบ้าน ระบบสต๊อก รายได้ รายจ่าย หมุนเวียนเข้าร้านชนิด Realtime ซึ่งให้อำนาจเจ้าของกิจการดูได้แต่เพียงผู้เดียว ลดพนักงานทำงานหลังบ้านในกลุ่มงานของ POS ลง

ความช่วยเหลือด้านการตลาด มีการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง ส่งเสริมการขาย โปรโมชั่นจากส่วนกลางอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทางเจ้าของร้านสามารถทำโปรโมชั่นเฉพาะสาขาของตนเองได้เช่นกัน แต่ต้องไม่ขัดกับโปรโมชั่นของสำนักงานใหญ่ และไม่ส่งผลกระทบกับร้านค้าในสาขาอื่น ดังนั้นแฟรนไชส์ซีที่ต้องการทำแคมเปญโปรโมชั่นเพื่อแข่งขันกับธุรกิจร้านอาหารประเภทอื่นในพื้นที่ต้องผ่านการเห็นชอบจากส่วนกลางก่อน

20211023-a-10.jpeg

นับได้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในต่างจังหวัด เพราะยังมีคู่แข่งน้อยไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งทางตรง และทางอ้อม ผู้บริโภคต่างจังหวัดที่มีศักยภาพพร้อมจะหาประสบการณ์การรับประทานอาหารต่างวัฒนธรรมเฉกเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ และไม่ยึดติดแบรนด์ ขอให้เพียงราคาสามารถจ่ายได้ รสชาติอร่อย ก็สามารถตั้งเป็นธุรกิจ เติบโตและได้รับการต้อนรับจากคนท้องถิ่นเป็นอย่างดี

สนใจลงทุนติดต่อ : บริษัท นิกิวาอิ กรุ๊ป จำกัด
Website : https://www.nigiwai.co.th/
โทร : 02-114-8298, 081-989-1753

ติดต่อโฆษณา!