08 สิงหาคม 2564
2,028

เดือนสิงหาคม ช่วงต้นล็อคดาวน์ คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน การใช้จ่ายของผู้คนเป็นอย่างไร? สินค้าชนิดไหนขายดี?

เดือนสิงหาคม ช่วงต้นล็อคดาวน์ คนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน  การใช้จ่ายของผู้คนเป็นอย่างไร?  สินค้าชนิดไหนขายดี?
Highlight :

ฮาคูโฮโด เปิดผลสำรวจ สินค้าขายดีและพฤติกรรมในการบริโภคของคนไทยในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นการล็อคดาวน์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 และพบว่าสินค้ายอดนิยมเป็นประเภทที่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก และเริ่มกักตุนอาหารและของใช้จำเป็น สำหรับสินค้าขายดีจะเป็นอะไรบ้างนั้น ติดตามกันได้เลย   #รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว


การคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคไทยประจำเดือนสิงหาคม 2564 โดยสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง นับเป็นปัจจัยสำคัญหนุนผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มหรือควบคุมเข้มงวดและสูงสุด

ผลการสำรวจระหว่างฮาคูโฮโดและโซซิอัสพบว่า ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม มีความสุขลดลง 2% เมื่อเทียบจากผลสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคพบว่าขณะนี้คนไทยวางแผนการใช้เงิน โดยซื้อสิ่งของที่จำเป็น เช่น ของใช้ในชีวิตประจำวัน และระมัดระวังการการใช้จ่ายมากขึ้น

และพบว่าประชาชนเริ่มมีการกักตุนอาหารสำหรับตนเองและคนในครอบครัว ควบคู่กับการเพิ่มทักษะความรู้ในด้านต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์ เพื่อที่จะสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อสำรวจเจาะลึกมากขึ้นพบว่า คนกรุงเทพฯและปริมณฑล เน้นการใช้จ่ายเพื่อใช้ชีวิตที่สะดวกในบ้าน เช่น เครื่องนอน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะที่คนต่างจังหวัด ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออก กลับมีพฤติกรรมอยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมกลางแจ้ง รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะสถานการณ์โควิดในภูมิภาคนั้นไม่รุนแรงนัก

อีกปัจจัยหนึ่งในการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทยในเดือนสิงหาคมนี้ คงหนีไม่พ้นเทศกาลวันแม่ ทั้งในแง่การวางแผนซื้อของขวัญ เข่น กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมคนไทยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล กับพื้นที่ต่างจังหวัดค่อนข้างมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ดังนั้น การสื่อสารกับผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่จึงควรแตกต่างกัน

สำหรับผู้บริโภคในพื้นที่เสี่ยง (โซนสีแดงเข้ม) เน้นสื่อสารแบบออนไลน์กับคนที่ต้องทำงาน รวมถึงการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ส่วนในพื้นที่ควบคุม (โซนสีแดง-สีเหลือง-สีส้ม-สีเขียว) เน้นการสื่อสารทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนที่ยังต้องเดินทางและใช้ชีวิตนอกบ้าน

หรืออีกวิธีการหนึ่งคือการสื่อสารแบบแบ่งแยกตามกลุ่มที่มีความสนใจเน้นกิจกรรมในที่พักอาศัย การพัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพื่อพึ่งพาและเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง ซึ่งแบรนด์ยังคงสามารถช่วยเพิ่มความสุขให้กับประชาชนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านได้


20210808-a-01.jpg


20210808-a-02.jpg

นางสาวอานันท์ปภา ศิริวรรณ ผู้อำนวยการสายงานวางแผนกลยุทธ์ บริษัท โซซิอัส จำกัด กล่าวว่า จากผลวิจัยในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ปัญหาปากท้องของประชาชนที่มองว่าไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไปและต้องปรับตัวอย่างมากเพื่ออยู่รอด

เมื่อดูจากพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในกลุ่มเสี่ยง (พื้นที่สีแดงเข้ม) และกลุ่มพื้นที่เสี่ยงในต่างจังหวัด (พื้นที่ควบคุม) หากแบ่งตามภูมิภาคจะพบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากภาครัฐประกาศล็อกดาวน์ทำให้ผู้คนต่างกลับภูมิลำเนาและวางแผนอยู่แบบระยะยาว ส่งผลให้มีแนวโน้มการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคที่มากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงค่าน้ำมันและยานพาหนะ และใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัยไม่ว่าจะเป็นการต่อเติมหรือตกแต่งบ้าน

หากจำแนกเป็นช่วงอายุ สำหรับวัย 20-39 ปี พบว่ามีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่รองรับในช่วง Work from home เช่น ของตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ และในช่วงอายุ 50-59 ปี มีความต้องการสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อความสะดวกสบายและมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในเรื่องสุขภาพและความงาม

จากข้อมูลพบว่า 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่คนไทยใช้จ่ายมากที่สุดในช่วงสถานการณ์ล็อกดาวน์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตในบ้านเป็นหลัก ได้แก่

  • อาหาร 25%
  • ของใช้เป็นในประจำวัน 17%
  • โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 11%
  • อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต 6%
  • เสื้อผ้าและเครื่องประดับ 5%


คนไทยชะลอซื้อของชิ้นใหญ่ แต่ยอมจ่ายเพื่อประโยชน์รวมถึงความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในสินค้าที่มีมูลค่าสูง อย่างเครื่องใช้ภายในบ้าน และโทรศัพท์มือถือ เพื่อความพร้อมในใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านในช่วงล็อคดาวน์ หลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตนอกบ้านในช่วงนี้และเพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโควิด-19

 

 ที่มา : สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย),

Thansettakij

 

ติดต่อโฆษณา!