05 กุมภาพันธ์ 2565
4,157

ส่อง 3 สตาร์ทอัพไทยที่กำลังมุ่งไปเป็นยูนิคอร์น

ส่อง 3 สตาร์ทอัพไทยที่กำลังมุ่งไปเป็นยูนิคอร์น
Highlight

หลังจากปีที่ผ่านมามีธุรกิจยูนิคอร์นเกิดขึ้นในประเทศไทยถึง 3 บริษัท ส่งผลให้บรรดาสตาร์ทอัพและกิจการขนาดเล็กคึกคักเป็นพิเศษ รุ่นพี่เหล่านั้นสร้างแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการปั้นธุรกิจเพื่อให้ถึงเป้าหมายการเป็น “ยูนิคอร์น” ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ต้องการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ด้วยแนวคิดธุรกิจที่แตกต่าง ผนวกกับการพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ส่องยูนิคอร์นตัวต่อไป ที่มีโอกาสเข้าสู่เส้นชัย LINE MAN Wongnai, Finnomena และ Ookbee


ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ก้าวข้ามคำกล่าวที่ว่า ‘ประเทศที่ไม่มียูนิคอร์น’ เพราะบทจะเกิดมีขึ้นมา ก็เกิดขึ้นทีเดียวพร้อมกันถึง 3 บริษัท นั่นคือ บริษัท Flash Express ทำธุรกิจ โลจิสติกส์และอีคอมเมิร์ซครบวงจร, Ascend Money (บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด) ในเครือแอสเซนด์ ให้บริการ Fintech เช่น E-Wallet (True Money), สินเชื่อออนไลน์ และ บริษัท Bitkub Capital Group Holdings หรือ บิทคับ ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อคเชน 

“ยูนิคอร์น” เป็นเป้าหมายสุดท้าทายของบรรดาสตาร์ทอัพ ถือเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จกับการเติบโตและระดมทุนจนมูลค่าบริษัททะลุ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทย 3 รายที่สามารถวิ่งนำเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ ทำให้ปลุกกระแสสตาร์ทอัพเกิดขึ้นอีกครั้ง 

การเพิ่มขึ้นของยูนิคอร์นสัญชาติไทย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจแขนงต่าง ๆ ของประเทศ โอกาสของสตาร์ทอัพ และทิศทางของเทคโนโลยีกับโลกอนาคต 

อีกทั้งภาครัฐก็ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมกว่ายุคก่อนๆ เพราะสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กคือกระดูกสันหลังของระบบเศรษฐกิจที่รอวันบ่มเพาะเติบโตเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือเป็นยูนิคอร์นในวันข้างหน้า 

และในเร็วๆ นี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังเตรียมเปิดตลาดซื้อขายหุ้นในกลุ่มสตาร์ทอัพและธุรกิจ SME แห่งใหม่ ซึ่งเตรียมเปิดตัวในไตรมาส 1/65 นี้ ชื่อว่า “LiVE Exchange” ทำให้ธุรกิจ SME คึกคักมากขึ้น  

นอกจาก 3 ธุรกิจข้างต้น ที่ถึงเส้นชัย “ยูนิคอร์น”ได้สำเร็จแล้ว ก็ยังมีบริษัทสตาร์ทอัพอีกหลายเจ้าที่กำลังวิ่งตามมาไม่ห่าง และหวังว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะถึงเวลาของพวกเขาบ้าง ในการได้ชื่อว่าเป็น สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น อีกตัวหนึ่งของประเทศไทย 

สำหรับธุรกิจที่มีโอกาสเป็นยูนิคอร์นตัวถัดไปที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดคือ 

LINE MAN Wongnai 

ผู้ให้บริการด้านเดลิเวอรี่และรีวิวอาหาร ที่เพิ่งมีการควบรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียวกันในปี 2563 ระหว่าง LINEMAN แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ที่มีกลุ่มร้านอาหารในเครือกว่า  4 แสนร้านทั่วประเทศ และ Wongnai แพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารจำนวนผู้ใช้กว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ภายใต้การนำของ “ยอด ชินสุภัคกุล”

รายได้ปี 2563 ที่มีการเปิดเผยอยู่ที่ 2,214 ล้านบาท ขาดทุน 433 ล้านบาท แม้ว่าตัวเลขอาจจะไม่สวยนัก แต่เรื่องศักยภาพในการเติบโตนั้นมีแน่นอน LINEMAN Wongnai และการผนึกกำลังทำให้เพิ่มเสริมขีดความสามารถการแข่งขัน เติบโตต่อเนื่อง เป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในสนามบริการเดลิเวอรี่ และคาดว่ามีโอกาสจะไปเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ ในอีกไม่นาน

Finnomena

ผู้ให้บริหารแพลตฟอร์ตบริหารเงินลงทุนครบวงจร ที่ปรึกษาการลงทุนส่วนตัว และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ มีความโดดเด่นด้านความเป็นกลาง เนื่องจากไม่มีสังกัดกับบริษัทหลักทรัพย์ใด ปัจจุบันมีนักลงทุนกว่า 120,000 คนใช้บริการลงทุนกับที่นี่ มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการกว่า 10,000 ล้านบาท ก่อตั้งโดย เจษฎา สุขทิศ ในปี 2559

จากข้อมูลการเงินในปี 2562 พบว่ามีรายได้อยู่ที่ 52 ล้านบาท ขาดทุน 13 ล้านบาท ปัจจุบันมีกำไรจากการดำเนินงานแล้ว กระแสตอบรับดีกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากกระแสความสนใจลงทุนในกลุ่ม New Generation และการเกิดขึ้นของ Cryptocurrency อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ Finnomena ทะยานไปเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ ของไทยในอนาคต

Ookbee

ผู้ให้บริการ E-book และสิ่งพิมพ์ดิจิทัล ที่ก่อตั้งโดย ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ในปี 2553 จัดเป็น สตาร์ทอัพรุ่นบุกเบิกเจ้าแรก ๆ ในเมืองไทย จนปัจจุบันสามารถขึ้นมาเป็นแนวหน้าของผู้ให้การในตลาดสิ่งพิมพ์ดิจิทัล มียอดขายกว่าพันล้านบาท จากผู้อ่านกว่า 7 ล้านคนภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี ได้ขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

รายได้ของที่เปิดเผยในปี 2563 พบว่าอยู่ที่ 507 ล้านบาท ขาดทุน 105 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ยุคดิจิทัลที่ disrupt  สิ่งพิมพ์แบบกระดาษและไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ติดอยู่กับจอมือถือและโชเชียลมีเดีย เป็นโอกาสให้ธุรกิจของ Ookbee เติบโตและครองตัวเป็นเจ้าตลาดอยู่ในปัจจุบัน และมีโอกาสที่จะก้าวเป็น ‘สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น’ อีกตัวของไทยเช่นกัน 

นอกจากนี้ Ookbee ยังถือหุ้น 50% ของ Six network แพลตฟอร์มสำหรับ Creative Workers และ Digital Creators อีกด้วย 

จะเห็นได้ว่า 3 ธุรกิจที่ยกตัวอย่าง มาจากสายธุรกิจที่แตกต่างกัน และยังมีอีกหลายองค์กรที่กำลังพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเองในฐานะสตาร์ทอัพเพื่อก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จ มุ่งสู่การเป็นยูนิคอร์นให้ได้ แม้จะยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยยุคดิจิตัลและพัฒนาการของเทคโนโลยี!

ที่มา : 88sandbox, thumbsup, longtunman, finnomena, WorkpointToday

ติดต่อโฆษณา!