25 กันยายน 2564
3,419

ช็อปแฟรนไชส์แบรนด์นอกมาบริหาร ปิดจุดอ่อน ลดจุดเสี่ยง ทางรอดสร้างธุรกิจใหม่

ช็อปแฟรนไชส์แบรนด์นอกมาบริหาร ปิดจุดอ่อน ลดจุดเสี่ยง ทางรอดสร้างธุรกิจใหม่
Highlight:
  • หากต้องการตั้งกิจการที่เสี่ยงน้อยกว่าการเปิดธุรกิจด้วยตัวเอง ตลอดจนเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ การซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศเป็นหนทางที่น่าสนใจ
  • ข้อดีของการซื้อแฟรนไชส์ หากเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง ทำให้ลดภาระการทำการตลาด พร้อมกันนี้แฟรนไชส์ที่แข็งแรงจะมีโมเดลธุรกิจที่ผ่านการลองผิดลองถูก ส่งผลให้มีเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ
  • ลงทุนแฟรนไชส์ต่างประเทศ ควรซื้อมาเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ เป็นเจ้าของคนเดียว แม้ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่มองระยะยาวมั่นคงกว่า ได้กำไรมากกว่า


หากพนักงานได้เงินชดเชยออกจากงานมาก้อนหนึ่ง แล้วต้องการตั้งกิจการที่เสี่ยงน้อยกว่าการเปิดธุรกิจด้วยตัวเอง ตลอดจนเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ การซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศมาบริหารเป็นคำตอบที่น่าสนใจทีเดียว

วันนี้ "ทันข่าว Today" คอลัมน์ "SME Talk" ชวนมาพูดคุยกับคุณ เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE, กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมีประสบการณ์จัดหาแฟรนไชส์ต่างประเทศมาลงทุนในเมืองไทย มาให้ความรู้ นักลงทุนที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศ

20210925-a-01.jpeg
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ในยุคนี้เหมาะหรือไม่

ในช่วงนี้การลงทุนซื้อแฟรนไชส์ถือว่าเสี่ยงน้อยที่สุด ที่ผ่านมาธุรกิจใหญ่ปลดพนักงานออกมาเป็นจำนวนมาก หลายคนหันมาทำการค้าเอง แต่ประสบความล้มเหลวเพราะขาดประสบการณ์ ข้อดีของการซื้อแฟรนไชส์ หากเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง เป็นที่รู้จักจะทำให้ลดภาระการทำการตลาดของแบรนด์ลงไปมาก พร้อมกันนี้แฟรนไชส์ที่แข็งแรงจะมีโมเดลธุรกิจที่ผ่านการลองผิดลองถูก ส่งผลให้มีเสถียรภาพ ระบบการบริหารจัดการ งานบริหารหลังบ้านแข็งแรง มีหลักสูตรการอบรมทำธุรกิจ มีบริการเป็นที่ปรึกษา มีฐานลูกค้าที่รู้จักแบรนด์แล้วส่วนหนึ่ง นับเป็นทางลัดที่จะก่อตั้งธุรกิจและลดความเสี่ยงการดำเนินกิจการในระดับหนึ่ง

ธุรกิจแฟรนไชส์ซอร์จากในประเทศและต่างประเทศต่างกันอย่างไร

ความแตกต่างระหว่างแฟรนไชส์สัญชาติไทยและสัญชาติต่างประเทศคือ แฟรนไชส์ที่เป็นแบรนด์เมืองไทยจะมีความเป็นท้องถิ่น เข้าถึงลูกค้าในประเทศมากกว่าแบรนด์ที่มาจากต่างประเทศ แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ทางการตลาดที่กว้างกว่า หรือลูกค้าหลากหลายกว่า ขณะที่แบรนด์ต่างประเทศมีความเป็น Global Brand มากกว่า ได้พัฒนารูปแบบสินค้าและบริการตอบสนองความต้องการแบบสากล มีผลงานพิสูจน์ความสำเร็จในหลายประเทศ

การซื้อแฟรนไชส์ในประเทศใช้เงินทุนน้อยกว่าการซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ ขณะที่สิทธิแฟรนไชส์ที่ได้จะเป็นแบบสาขาเดียว (Single Unit Franchise) มีข้อจำกัดในการเติบโตของรายได้ ถ้าต้องการเพิ่มรายได้ต้องซื้อสิทธิหลายสาขาจะต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถมีสิทธิครอบครองแต่เพียงผู้เดียว เพราะเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ไม่ยอมให้สิทธินี้ ขณะที่การลงทุนกับแฟรนไชส์ต่างประเทศนั้น ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์จะสามารถของสิทธิเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ ได้สิทธิครอบครองพื้นที่แต่เพียงผู้เดียวในประเทศ และมีสิทธิขายแฟรนไชส์ต่อ (Sub-Franchising) ให้กับแฟรนไชส์ในประเทศอื่น ๆ ด้วย ถึงแม้ว่าต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า แต่มองระยะยาวมั่นคงกว่า มีโอกาสได้กำไรมากกว่า ลดความเสี่ยงด้านการแข่งขันในแบรนด์เดียวกัน

ปัจจุบันนี้มาตรฐานและคุณภาพของแฟรนไชส์ในประเทศบางแบรนด์ได้พัฒนาเทียบเท่ากับ แบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศแล้ว แฟรนไชส์ในประเทศมีความเชี่ยวชาญเรื่องการหาทำเลที่ตั้ง และการตลาดท้องถิ่น ซึ่งแฟรนไชส์ต่างประเทศจะด้อยในเรื่องนี้ จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์การทำธุรกิจและความเชี่ยวชาญด้านการตลาดจากแฟรนไชส์ซีในประเทศ อย่างไรก็ดีแฟรนไชส์ต่างประเทศจะได้เปรียบในเรื่องประหยัดโดยเพิ่มขนาดการผลิต Economy of Scale เพราะมีหลายสาขาในหลายประเทศ มีอำนาจในการต่อรองการซัพพลายเออร์เมื่อสั่งซื้อจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบต่อหน่วยถูกกว่าแฟรนไชส์ในประเทศ

ถ้าต้องการลงทุนแฟรนไชน์ต่างประเทศต้องประเมินอย่างไร

ถ้าหากนักลงทุนต้องการลงทุนซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศ แนะนำดังต่อไปนี้

1). ให้ซื้อในสิทธิของมาสเตอร์แฟรนไชส์ ซึ่งสิทธินี้เราจะเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ธุรกิจประสบความสำเร็จ เราจะขยายสาขา หรือวางระบบเป็นการขายแฟรนไชส์ซีก็ได้ แต่การลงทุนในลักษณะนี้ต้องมีเงินทุนมากอยู่พอประมาณ นอกจากนี้ข้อดีของการซื้อแฟรนไชส์ใหญ่ในต่างประเทศ หากเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง เป็นที่รู้จักจะทำให้ลดภาระการทำการตลาดของแบรนด์ลงไปมาก พร้อมกันนี้แฟรนไชส์ที่แข็งแรงในต่างประเทศจะมีโมเดลธุรกิจที่ผ่านการลองผิดลองถูก พัฒนาระบบการดูแลสาขาในหลายประเทศ ส่งผลให้มีเสถียรภาพ ระบบการบริหารจัดการ งานบริหารงานหลังบ้านแข็งแรง มีหลักสูตรการอบรมทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีบริการให้คำปรึกษา เป็นทางลัดที่จะก่อตั้งธุรกิจและลดความเสี่ยงการดำเนินกิจการในระดับหนึ่ง 

2). มองเทรนด์หรือแนวโน้มของประเภทธุรกิจจากต่างประเทศนั้นมีอนาคตหรือไม่ เป็นธุรกิจดาวรุ่งหรือเปล่า สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยหรือไม่

 3). ศึกษาความตั้งใจของเจ้าของแบรนด์ต่างประเทศ มีความตั้งใจจะมาขยายตลาดในเมืองไทยมากน้อยเพียงใด ดูเรื่องดีมานต์ ซัพพลายว่า ตลาดเมืองไทยมีขนาดของตลาดใหญ่เพียงพอที่จะรองรับหรือไม่ สถานการณ์การแข่งขันในตลาดรุนแรงหรือเปล่า

4). ศึกษาปัญหาอุปสรรคของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎระเบียบการนำเข้าวัตถุดิบ ภาระด้านการขนส่ง โลจิสติกส์ การโอนชำระค่าใช้จ่าย และภาระภาษีระหว่างประเทศ

5). การทำงานกับแฟรนไชส์ต่างประเทศ จะมีสัญญากันเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้นควรศึกษาแนวทางการทำงานร่วมกันว่าเข้ากันได้ไหม มีอุปนิสัยอย่างไร มีเป้าหมายในการทำธุรกิจในทิศทางเดียวกันหรือไม่ หัวใจของความสำเร็จคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์

6). ตรวจสอบว่าแฟรนไชส์แบรนด์ต่างประเทศที่จะเลือกนั้น มีระบบการปฏิบัติงาน เทคโนโลยี การสนับสนุนส่งเสริมแฟรนไชส์ซี ฝึกอบรม การแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการตลาดให้กับเราอย่างต่อเนื่องอย่างไร ในขณะที่การทำงานระหว่างแฟรนไชส์ซีอยู่ในต่างโซนเวลา (Time Zone)

 7). แฟรนไชส์ซอร์มีวิสัยทัศน์ และแผนธุรกิจที่จะเติบโตในอนาคต และแผนการสร้างความสำเร็จร่วมกันกับแฟรนไชส์ซีอย่างไร

คุณสมบัตินักลงทุนที่จะไปซื้อแฟรนไชส์ต่างประเทศมีอะไรบ้าง

คุณสมบัติประการแรกสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศมาลงทุนในเมืองไทย คือมีทักษะความเป็นผู้นำ มีวิสัยทัศน์ มองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจจากแบรนด์ต่างประเทศมาขยายในประเทศไทย จึงต้องเคยมีประสบการณ์การใช้สินค้าหรือบริการจากแบรนด์นั้น ทั้งด้วยตนเองหรือคนใกล้ชิด  

ประการที่สอง มีความกระตือรือร้นในการขยายธุรกิจ พร้อมทำงานหนัก มีเวลาทุ่มเทในการฝึกอบรม รวมทั้งสามารถกระจายงานให้กับทีมทำงานที่มีประสบการณ์ มีความสามารถและพร้อมทุ่มเทเวลาในการต่อยอดธุรกิจขยายในประเทศ 

ประการที่สาม มีความรู้ด้านการจัดการทางการเงิน และมีเงินลงทุนเพียงพอในการขยายสาขา ทั้งเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายในการลงทุนการสร้างร้านสาขาและสำนักงาน

ประการที่สี่ มีทักษะของนักวิเคราะห์ธุรกิจ เริ่มต้นต้องศึกษาชื่อเสียงของแบรนด์ ผลงานความสำเร็จในประเทศอื่น ศึกษาประวัติความเป็นมาของบริษัท และผู้บริหาร วิเคราะห์ความพร้อมที่จะขยายมาเมืองไทย มีระบบและประสบการณ์ที่จะช่วยเหลือเราอย่างจริงจังหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งตรวจหาข้อมูลในแง่ลบของแบรนด์ มีการวิพากวิจารณ์ รีวิวแบรนด์ในแง่ลบมากน้อยเพียงใด และบริษัทมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ประการสุดท้าย เป็นผู้ประสานสารพัดทิศ สามารถเข้าถึงเครือข่ายธุรกิจต่าง ๆ ได้ เช่น รู้จักการเข้าถึงทำเลเป้าหมาย รู้จักสื่อในการตลาดและประชาสัมพันธ์ รู้จักซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศ และรู้จักผู้เกี่ยวข้องให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น
 
ถ้าหากนักลงทุนเข้าใจถึงข้อดี ข้อเสีย ความได้เปรียบเสียเปรียบ ศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ แล้วมีคำตอบว่าสามารถแก้ไขและควบคุมได้ การลงทุนซื้อแฟรนไชส์แบรนด์จากต่างประเทศมาลงทุนและบริหารก็นับได้ว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทั้งในแง่ของความมั่นคงระยะยาว ผลตอบแทน และความเสี่ยงของการจัดตั้งกิจการ.

20210925-a-info.jpg

 

ติดต่อโฆษณา!