07 สิงหาคม 2565
1,553

งานวิจัยชี้ 1 ใน 8 ผู้ป่วยโควิด จะเจอภาวะ Long Covid ในระยะยาว

งานวิจัยชี้ 1 ใน 8 ผู้ป่วยโควิด จะเจอภาวะ Long Covid ในระยะยาว
Highlight  
 อาการ Long Covid จากงานวิจัยต่างประเทศเผยแพร่ใน The Lancet ระบุว่าผู้ป่วยลองโควิดที่ตรวจพบจะมีอาการ กลุ่มอาการทั่วโลกของ Long Covid ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ สูญเสียการได้กลิ่นและรู้รส รวมทั้งภาวะเหนื่อยล้าอ่อนแรง และบางคนมีอาการทางจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ สมองล้า วิตกกังวล.. หมอธีระ ระบุไม่ติดเชื้อคือวิธีหลีกเลี่ยงการเป็น Long Covid ที่ดีที่สุด


20220807-b-01.jpg
20220807-b-02.jpg

ผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกในปัจจุบัน ทะลุ 500 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรก สร้างความกังวลถึงภาวะอาการโควิดระยะยาว หรือ Long Covid ในกลุ่มผู้ติดเชื้อ

ล่าสุดการศึกษาชิ้นล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ราว 1 ใน 8 คน มีอาการโควิดระยะยาว หรือ Long Covid อย่างน้อยหนึ่งอาการ ซึ่งเป็นการวิจัยชิ้นแรกที่มุ่งศึกษาผลระยะยาวจากโควิด-19 และยังเป็นการวิจัยชิ้นสำคัญที่ศึกษาผลกระทบในกลุ่มผู้ไม่ติดเชื้อด้วย

ทีมวิจัยสอบถามชาวเนเธอร์แลนด์ว่า 76,400 คน ให้กรอกแบบสอบถามเกี่ยวกับภาวะอาการโควิดระยะยาว 23 อาการ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2020 ถึงเดือนสิงหาคม 2021 ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละรายจะต้องส่งข้อมูลต่อเนื่องถึง 24 ครั้ง

ในช่วงระยะยาวดังกล่าว มีผู้ที่อยู่ในการสำรวจมากกว่า 4,200 คน ที่พบติดโควิด-19 คิดเป็น 5.5% และมากกว่า 21% ในกลุ่มผู้ติดเชื้อในการสำรวจนี้ มีอาการโควิดระยะยาวอย่างน้อยหนึ่งอย่าง ในระยะ 3-5 เดือนหลังจากพบติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เกือบ 9% ในการสำรวจ ซึ่งไม่พบติดโควิด-19 กลับพบกลุ่มอาการ Long Covid เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน นั่นเท่ากับว่า 1 ใน 8 หรือประมาณ 12.7% ของผู้ที่ติดโควิด เผชิญกับภาวะอาการ Long Covid ในระยะยาว

นอกจากนี้ ในการวิจัยนี้ยังเก็บข้อมูลอาการผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังติดเชื้อ เพื่อให้นักวิจัยสามารถระบุได้ถึงจุดเชื่อมโยงของอาการที่เกี่ยวกับโควิด-19 ได้

ในการศึกษานี้ พบว่า กลุ่มอาการทั่วโลกของ Long Covid ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ สูญเสียการได้กลิ่นและรู้รส รวมทั้งภาวะเหนื่อยล้าอ่อนแรง อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้ ยังไม่ได้รวมถึงกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดกลายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งเดลตา และโอมิครอน

อแรนกา บัลเลอร์ริง จาก Dutch University of Groningen ผู้เขียนวิจัยนี้ บอกว่า ภาวะโควิดระยะยาวเป็น “ปัญหาเร่งด่วนกับยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น” เมื่อดูจากภาวะอาการของกลุ่มที่ไม่พบติดเชื้อในการสำรวจ กับกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เราสามารถอธิบายอาการที่อาจเป็นผลมาจากโรคไม่ติดต่อทางสุขภาพอันเกี่ยวเนื่องกับโรคระบาด เช่น ความเครียดที่เกิดจากข้อจำกัดด้านสาธารณสุขและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้

จูดิธ รอสมาเลน ผู้เขียนวิจัยอีกราย แนะว่า การศึกษาวิจัยที่ต่อยอดเกี่ยวกับภาวะอาการ Long Covid ควรพิจารณาปัจจัยอาการด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล ภาวะสมองล้า ล้า หรือ brain fog นอนไม่หลับ และภาวะเหนื่อยล้าไม่สบายตัวหลังออกแรงเพียงเล็กน้อย

ด้านคริสโตเฟอร์ ไบรท์ลิงก์ และเรเชล เอแวนส์ ผู้เชี่ยวชาญจาก Leicester University ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยนี้ บอกว่าการศึกษานี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญจากการวิจัยภาวะ Long Covid ชิ้นก่อน ๆ เพราะมีการศึกษาถึงผลกระทบด้านสุขภาพในกลุ่มผู้ที่ไม่ติดเชื้อเข้าไปด้วย

วิธีป้องกัน Long Covid ที่ดีที่สุดคือการไม่ติดเชื้อ Covid  

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ หมอธีระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 6 ส.ค. 2565 เกี่ยวกับภาวะ Long Covid ว่า

“ปัจจุบันมีความรู้ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้นว่า ภายหลังจากติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 แล้ว จะเกิดพยาธิสภาพในร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆ และกลไกการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย “ผิดปกติไป” ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำลายของเซลล์ในระบบต่างๆ ของร่างกายจากการติดเชื้อ (tissue damage), การมีเชื้อหรือชิ้นส่วนของเชื้อคงค้างอยู่ในเซลล์และก่อให้เกิดกระบวนการอักเสบต่อเนื่อง (persistent viral infection), การกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง (autoimmunity), และ/หรือ การเปลี่ยนแปลงของสมดุลเชื้อโรคในอวัยวะต่างๆ เช่น ทางเดินอาหาร จนรบกวนการทำงานของอวัยวะหรือระบบนั้น (dysbiosis)

จนนำไปสู่ผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ทั้งในระยะแรกที่ติดเชื้อ และเมื่อเวลาผ่านไปในระยะยาวได้ ดังที่เห็นในภาวะป่วยแบบ Long Covid ทั่วโลก”

ล่าสุดทาง Conway EM และคณะ ได้ทบทวนความรู้ เผยแพร่ในวารสาร Nature Reviews Immunology เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา

โฟกัสเรื่องผลของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่อการแข็งตัวของเลือด โดยทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในร่างกาย ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่ตามนิ้วมือนิ้วเท้า แขนขา ไปจนถึงการอุดตันในอวัยวะสำคัญ ได้แก่ สมอง หัวใจ ปอด ไต และนำไปสู่ความพิการและการเสียชีวิตได้

การป้องกัน Long Covid ได้ดีที่สุดคือ “การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ”

การฉีดวัคซีนครบโดส จะช่วยลดความเสี่ยงได้ราว 15%

“...ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ สำคัญมาก...” รศ.นพ.ธีระ กล่าว

อ้างอิง :  
Conway EM et al. Understanding COVID-19-associated coagulopathy. Nature Reviews Immunology. 5 August 2022. 
เอเอฟพี, VOA 
Tag
ติดต่อโฆษณา!