24 มีนาคม 2567
379

อยู่ ๆ ก็มีเรื่องราวให้ "นอนไม่หลับ"

มนุษย์เราใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการนอนหลับ ซึ่งการนอนหลับนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจ เนื่องจากช่วงที่มนุษย์นอนหลับจะเป็นเวลาที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้พักผ่อน ซ่อมแซม และปรับสมดุลสารเคมีในร่างกาย ฯลฯ ดังนั้นการนอนหลับอย่างมีคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหากับการนอนหลับ โดยความผิดปกติของการนอนที่พบบ่อยมากที่สุด คือ อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) หรือนอนหลับไม่สนิท หากเกิดขึ้นบ่อยหรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตในอนาคตได้ และหากปล่อยไว้นาน ๆ จนเป็นปัญหาเรื้อรังจะส่งผลเสียต่ออารมณ์ ความจำ การตื่นตัวและทำให้รู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลาได้ เพราะฉะนั้นคุณภาพของการนอนหลับที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อสุขภาพของเรา

สาเหตุและปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลต่อปัญหาการนอนหลับ

  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผลข้างเคียงจากการกินยาบางชนิด
  • การดื่มหรือกินอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ
  • อาการของโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหอบ โรคกรดไหลย้อน โรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
  • ออกกำลังกายมากเกินไป
  • ความเครียดสะสม
  • อาการวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ไบโพลาร์
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงรบกวน แสงในห้องนอน หรือการทำงานที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเวลานอน

อาการของผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ

  • นอนหลับยาก ต้องใช้ระยะเวลาเป็นชั่วโมง
  • นอนหลับไม่ทน หลับแล้วมักตื่นขึ้นมากลางดึก บางคนอาจตื่นแล้วไม่สามารถหลับต่อได้
  • นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ จะมีอาการลักษณะรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้หลับเลยตลอดทั้งคืน

การตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

  • วินิจฉัยด้วยการสอบถามประวัติการเจ็บป่วย ลักษณะนิสัยการนอน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลใจ 
  • การตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ
  • การทำ Sleep Test เพื่อสังเกตการทำงานของร่างกาย หาสาเหตุของความผิดปกติต่าง ๆ ในระหว่างการนอนหลับ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะที่สามารถบอกความผิดปกติของการนอนหลับได้ ร่วมกับการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทาง

วิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

  • ถ้าเกิดจากลักษณะนิสัยการนอน แพทย์จะให้คำแนะนำลักษณะการนอนที่ถูกต้อง 
  • ถ้าเกิดจากโรคทางจิตใจหรือระบบประสาท เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคประสาทตื่นตัวผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาร่วมด้วย
  • ถ้าเกิดจากลักษณะทางร่างกาย เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แพทย์อาจพิจารณาการใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก การรักษาโดยการผ่าตัด หรือใช้อุปกรณ์ทางการทันตกรรมในช่องปาก

การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อปัญหาเรื่องการนอนหลับ

  • ฝึกอุปนิสัยการนอนหลับที่ดีช่วยป้องกันอาการนอนไม่หลับได้นอนหลับเมื่อรู้สึกง่วง
  • หากเข้านอนแล้ว แต่นอนไม่หลับภายใน 20 - 30 นาที ให้ลุกจากที่นอนเพื่อทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การฟังเพลง
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายก่อนนอน
  • หลีกเลี่ยงการคิดเรื่องเครียดและทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว เช่น เล่นเกม ดูทีวี
  • เข้านอนและตื่นนอนเวลาเดิมทุกเช้า ถึงแม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม
  • หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงกลางวันหรืองีบให้น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และไม่ควรงีบหลังจากบ่าย 3 โมง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักช่วงก่อนนอน
  • จัดห้องให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการนอน เช่น เงียบ มืด มีอุณหภูมิที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่กระตุ้นให้ประสาทตื่นตัวหลังมื้อเที่ยง เช่น กาแฟหรือชา
  • ฝึกผ่อนคลายจิตใจ เช่น การฝึกหายใจ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ด้วยความปรารถนาดีจาก #ทันข่าวสุขภาพ


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/4P1gTHOHzCw?si=k0pZ91BC-g0blWpA

ติดต่อโฆษณา!