12 เมษายน 2567
236

สำนักอนามัยเผย 6 โรคหน้าร้อน รู้ทันป้องกันได้

สำนักอนามัยเผย 6 โรคหน้าร้อน รู้ทันป้องกันได้


สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในช่วง หน้าร้อน แบบนี้ การสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานานจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อาจทำให้เกิดอาการได้ดังนี้

🚩 ผื่น

อาการ มีตุ่มคันเล็ก ๆ มักพบบริเวณคอ หน้าอก ใต้ราวนม รักแร้ ขาหนีบ ข้อพับแขนและขา

การดูแลรักษา อยู่ในที่อากาศเย็น เพื่อลดการเหงื่อออกอาบน้ำบ่อย ๆ รักษาความสะอาดของผิว สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ทายาที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการคัน 


🚩 บวม

อาการ บวมโดยเฉพาะบริเวณเท้า มักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันแรกที่สัมผัสความร้อน

การดูแลรักษา อาการบวมสามารถหายเองได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอและนอนยกขาให้สูง ไม่ควรใช้ยาขับปัสสาวะ  



🚩 ตะคริว

อาการ กล้ามเนื้อหดเกร็งเฉียบพลัน มักเกิดบริเวณหน้าท้อง แขน ขา

การดูแลรักษา ควรพักทันทีในที่ร่มและเย็น นวดเบาๆ ตรงที่เป็นตะคริว สลับกับการยืดกล้ามเนื้อ

ดื่มน้ำสะอาดหรือเครื่องดื่มเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป หากเป็นตะคริวนานกว่า 1 ชั่วโมง ควรปรึกษาแพทย์



🚩 ลมแดด

อาการ หน้ามืด วิงเวียน และเป็นลมหมดสติ พบบ่อยในผู้ที่ไม่เคยชินกับอากาศร้อน

การดูแลรักษา ควรพักที่ร่มและเย็น นอนหงายลงกับพื้น เหยียดแขนขา

ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว
คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า และบีบนวดแขนขา หากอาการไม่ดีขึ้นใน 30 นาที ควรรีบไปพบแพทย์



🚩 เพลียแดด

อาการ เหงื่อออกมาก อ่อนแรง ปวดกล้ามเมื้อ ปวดหัว เวียนหัว สับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจเป็นลม

การดูแลรักษา ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ

ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อระบายความร้อน

จับผู้ป่วยนอนราบ ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว

ห่มด้วยผ้าเปียกและใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที



🚩 โรคฮีทสโตรก

อาการ ตัวร้อนจัด (อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียส) ผิวหนังแดง แห้ง เหงื่อไม่ออก ปวดหัว สับสน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตอบสนองช้า หมดสติและอาจเสียชีวิตได้

การดูแลรักษา ย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่ร่มและเย็น หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้เหลือเท่าที่จำเป็น เพื่อระบายความร้อน จับผู้ป่วยนอนราบ ใช้หมอนหรือสิ่งอื่นรองขาและเท้าให้สูงกว่าลำตัว
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวและใช้พัดลมเป่า วางถุงใส่น้ำแข็งไว้ตามซอกคอ รักแร้และขาหนีบ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลง

หากหมดสติให้จับนอนตะแคง เพื่อป้องกันโคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ติดต่อโฆษณา!