19 เมษายน 2567
361

หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากอะไร ?

หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากอะไร ?


จากรายงานข่าว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ‘กีรติ รัชโน’ เสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดในสมอง ในวัย 56 ปี นับเป็นการสูญเสียบุคลากรระดับสูงของประเทศอีกท่านหนึ่ง โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกัน รักษาได้หรือไม่ 

จากบทความ “หลอดเลือดสมองแตก โรคร้ายที่เกิดฉับพลัน” โดย รศ. นพ.เอก หังสสูต สาขาวิชาประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอไว้ดังนี้ 



🚩 โรคหลอดเลือดสมองแตก เกิดจากอะไร

โรคหลอดเลือดสมองแตกเป็นโรคที่มักเกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดที่มาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น นำไปสู่ภาวะการตีบ ตัน และแตกได้ในที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพราะอาจกลายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ถือเป็นโรคร้ายอีกหนึ่งโรคที่ควรตระหนักโดยทั่วกัน ทั้งยังสามารถเกิดได้แบบฉับพลันโดยไม่ทันตั้งตัวอีกด้วย



🚩 ช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการเสื่อมของเส้นเลือดนำไปสู่การตีบ ตัน และแตกได้นั้นคือ

50 ปีขึ้นไป แต่ก็ยังพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนเกิดโรคนี้ก่อนวัยอันควร และจากการสอบถามมักพบว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่จัด หรือเป็นโรคความดันสูงเรื้อรังและไม่ยอมรักษา เป็นต้น เป็นผลมาจากพฤติกรรมของตัวผู้ป่วยเอง 

หากรู้ตัวก่อนก็สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังพบว่าโรคดังกล่าวสามารถพบได้ในเด็ก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีความผิดปกติของหลอดเลือดมาตั้งแต่กำเนิด



🚩 อาการของหลอดเลือดสมองตีบ ตัน หรือแตกจะคล้าย ๆ กัน

คือส่งผลให้ร่างกายซีกใดซีกหนึ่งชาหรืออ่อนแรงขึ้นมาทันที โดยจะเกิดแบบฉับพลันไม่ทันได้ตั้งตัว เช่น ถือแก้วน้ำอยู่ดีๆ แก้วน้ำในมือก็หลุดร่วงลงไปเฉยๆ หรือผู้ป่วยบางรายก็หมดสติไปเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ยังปกติดีทุกอย่าง หากเกิดภาวะเส้นเลือดสมองแตกผู้ป่วยอาจปวดศีรษะรุนแรงมากจนถึงขั้นที่เรียกว่ามากที่สุดในชีวิต ระดับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกัน



🚩 ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก

พบว่าผู้ป่วยส่วนหนึ่งเป็นโรคอื่นอยู่ก่อน เช่น เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น รวมไปถึงการขาดการออกกำลังกาย ความเครียด ก็มีผลต่อการเกิดโรคเช่นกัน นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ก็มีความเสี่ยงทำให้เลือดที่ออกในสมองไม่ยอมหยุดด้วยตัวของมันเอง นำไปสู่การตีบ ตัน และแตกในที่สุด นอกจากนี้กรรมพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงต่อการเกิดโรค


🚩 วิธีการป้องกันรักษา

คือให้สำรวจว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือไม่ หากมีต้องดูแลในส่วนนั้นอย่างเคร่งครัด เช่น หากพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมสูบบุหรี่จัดก็ต้องพยายามเลิกบุหรี่ หรือหากมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อโรค ก็ควรดูแลโรคนั้นอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมไม่ให้ส่งผลข้างเคียงอื่น ๆ รวมทั้งการทานอาหารยังจำเป็นต้องเลือกสรรแต่อาหารที่มีประโยชน์ เพราะปัจจุบันพบว่ามีอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคอยู่อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง และควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของหลอดเลือดสมองแตกควรรีบนำส่งแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะการส่งแพทย์ได้เร็วย่อมรักษาได้ทันท่วงทีกว่าการส่งแพทย์ที่ล่าช้า สำหรับความรุนแรงของโรคคือส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์ซีกใดซีกหนึ่งหรืออัมพาตทั้งตัว และรุนแรงที่สุดคือถึงขั้นเสียชีวิต

ติดต่อโฆษณา!