29 พฤศจิกายน 2564
2,772

รู้จัก “โอไมครอน” WHO ประกาศเป็นโควิดสายพันธุ์ “น่ากังวล”

รู้จัก “โอไมครอน”  WHO ประกาศเป็นโควิดสายพันธุ์ “น่ากังวล”
Highlight

นานาชาติ รวมถึงไทยออกมาตรการควบคุมการเดินทางจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เชื้อโควิดกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่พบทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ที่ "น่ากังวล" และให้ชื่อว่า โอไมครอน (Omicron) การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น


องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่า เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ B.1.1.529 ที่ ีการเริ่ม้นแพร่ระบาดในแอฟริกาใต้ นี้มีการกลายพันธุ์ในหลายจุด และหลักฐานเบื้องต้นพบว่ามีความเสี่ยงที่จะติดซ้ำได้ และอาจหลบเลี่ยงวัคซีนทุกยี่ห้อได้

ประเทศแอฟริกาใต้รายงานการพบเชื้อนี้ไปยังองค์การอนามัยโลกเมื่อ 24 พ.ย. และมีการยืนยันว่าถูกพบใน บอตสวานา เบลเยียม ฮ่องกง และอิสราเอล ส่งผลให้หลายประเทศประกาศห้าม หรือจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศเหล่านั้นกับประเทศทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา

รู้จัก  “โอไมครอน”

โอไมครอนถือเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล หลังจากสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ ตรวจพบการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่ ซึ่งมีการกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในยีนหลายสิบตำแหน่ง ทำให้หวั่นเกรงกันว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดนี้อาจแพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นอันตรายยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ทั่วโลกเคยพบมา

ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ดังกล่าว แรกเริ่มมีชื่อในทางวิทยาศาสตร์ว่า B.1.1.529 ก่อนที่ WHO จะตั้งชื่อเรียกให้ตามลำดับตัวอักษรกรีกว่า “โอไมครอน”

เจ้าหน้าที่พบการระบาดในจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ของแอฟริกาใต้เป็นหลัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 77 ราย นอกจากนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในประเทศบอตสวานาอีก 4 ราย รวมทั้งพบกรณีที่ผู้ติดเชื้อเดินทางจากแอฟริกาใต้ไปยังฮ่องกงด้วยเที่ยวบินตรงอีก 1 ราย

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์แชร์ความรู้เกี่ยวกับ โควิดโอไมครอน ผ่าน blockdit ส่วนตัว ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย โดยมีข้อความว่า

น่ากังวลมาก ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวล่าสุด โอไมครอน เปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหนามมากกว่าเดลต้า 3.5 เท่า องค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในกลุ่มรุนแรงสูงสุดแล้ว ขณะนี้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ให้ไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ล่าสุดคือ B.1.1.529 ซึ่งพบเป็นครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นกลุ่มที่มีความรุนแรงสูงสุดหรือกลุ่มน่ากังวล (VOC : Variant of Concern)

และตรวจพบว่ามีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ เป็นส่วนหนามมากถึง 32 ตำแหน่ง ในขณะที่ไวรัสสายพันธุ์เดลต้า กลายพันธุ์ที่ส่วนหนามเพียง 9 ตำแหน่ง

รายละเอียดที่ควรสนใจเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ประกอบด้วย

1. ไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ง่ายเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นสารพันธุกรรมเดี่ยว อาร์เอ็นเอ (RNA)

2. ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พบว่ามีไวรัสกลายพันธุ์ไปแล้ว มากกว่า 1000 สายพันธุ์หลักและสายพันธุ์ย่อย

3. ไวรัสมีสารพันธุกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 30,000 ตำแหน่ง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปเพียงตำแหน่งเดียว ก็เรียกว่าเป็นไวรัสกลายพันธุ์ได้แล้ว

4. องค์การอนามัยโลกได้จัดกลุ่มไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ เรียงตามลำดับความรุนแรงได้แก่

4.1 ไวรัสที่น่ากังวล (VOC) ประกอบด้วย

  • สายพันธุ์อัลฟ่าหรืออังกฤษเดิม
  • สายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้เดิม
  • สายพันธุ์แกมมาหรือบราซิลเดิม
  • สายพันธุ์เดลต้าหรืออินเดียเดิม
  • และได้ประกาศสายพันธุ์ที่ 5 คือ โอไมครอนของแอฟริกาใต้

4.2 ไวรัสที่ต้องให้ความสนใจ (VOI : Variant of Interest) มีสองสายพันธุ์ได้แก่แลมป์ด้า และมิว

4.3 ไวรัสที่ควรติดตาม (VUM : Variant Under Monitoring) มีทั้งหมด 7 ตัว

5. การจัดกลุ่มไวรัสดังกล่าวใช้องค์ประกอบ ดังนี้

5.1 สารพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ไวรัสเกิดการเปลี่ยนแปลงในประเด็นของ

  • การแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมากขึ้น
  • ความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น
  • ความสามารถในการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันหรือวัคซีนมีมากขึ้น

5.2 มีการแพร่ระบาดในชุมชน หรือเกิดเป็นคลัสเตอร์ในหลากหลายประเทศ

6. ไวรัสโอไมครอน มีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมมากที่สุด เท่าที่เคยมีการกลายพันธุ์มาคือมากกว่า 50 ตำแหน่ง และที่สำคัญคือเปลี่ยนแปลงในส่วนหนามซึ่งใช้ในการก่อโรคในมนุษย์ มากถึง 32 ตำแหน่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในขณะนี้ มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งหนามเพียง 9 ตำแหน่ง ทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนมีการเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมที่ตำแหน่งหนาม มากกว่าไวรัสเดลต้าถึง 3.5 เท่า

7. ไวรัสโอไมครอนพบเป็นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ตามด้วยประเทศบอตสวานา และอีกหลายประเทศในแอฟริกาใต้ เช่น นามิเบีย ซิมบับเว เลโซโท เอสวาตีนี่ มาลาวี อังโกลา โมซัมบิก และแซมเบีย

8. ขณะนี้มีการแพร่ระบาดออกไปนอกทวีปแอฟริกาใต้แล้ว ได้แก่ ในทวีปยุโรปคือ อังกฤษพบผู้ป่วยสองราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ และเบลเยี่ยม ฮ่องกงพบ 1 ราย ก็เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้เช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในประเทศอิสราเอลด้วย การตรวจพบผู้ติดเชื้อนั้น ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีการกักตัว

9. เหตุที่ในประเทศแอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ของไวรัสบ่อยครั้ง เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนได้จำนวนน้อย จึงมีการระบาดของโรคมาก และไวรัสเพิ่มจำนวนบ่อย จึงกลายพันธุ์ได้มากกว่า

10. ขณะนี้ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศให้ 10 ประเทศในแอฟริกาห้ามเดินทางเข้าอังกฤษ และคนอังกฤษที่มาจากประเทศดังกล่าวจะถูกกักตัวอย่างน้อย 10 วัน เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ และคนไทยที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศดังกล่าว จะต้องถูกกักตัว 14 วัน

จำเป็นต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามรายงานการศึกษาซึ่งจะมีเพิ่มเติมว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน จะมีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้ามากน้อยอย่างไร รวมทั้งมีอาการโรคที่จะรุนแรง และอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหรือไม่

ประการสำคัญที่สุดคือ จะดื้อต่อวัคซีนหรือไม่

ถ้าโชคดี การกลายพันธุ์ที่ตำแหน่งส่วนหนามของไวรัสดังกล่าว ทำให้ติดเชื้อแพร่ระบาดน้อยลง มีอาการรุนแรงน้อยลง และวัคซีนป้องกันได้ ก็จะโล่งอกกันไป

แต่ถ้าโชคไม่ดี การกลายพันธุ์ในส่วนหนามครั้งนี้ ทำให้มีการแพร่ระบาดรวดเร็วมากขึ้น อาการของโรครุนแรงและเสียชีวิตสูง และดื้อแต่วัคซีนด้วยแล้ว

ก็จะเกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหม่อีกระลอกหนึ่งทั่วโลก ซึ่งจะกระทบกับประเทศต่างๆ อย่างรุนแรง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ

แม้จะมีบางบริษัทออกมาประกาศว่า สามารถที่จะผลิตพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ เพื่อรองรับโอไมครอนได้ใน 6 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าจะทำได้รวดเร็วภายในเวลาดังกล่าว

ศาสตราจารย์ ทูลิโอ เด โอลิเวรา ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมและการรับมือโรคระบาดของแอฟริกาใต้ บอกว่าไวรัสโควิดชนิดใหม่นี้มีการกลายพันธุ์ของยีนรวมทั้งสิ้นถึง 50 ตำแหน่ง ซึ่งถือว่าผิดปกติอย่างยิ่งและทำให้มันมีความแตกต่างจากเชื้อโควิดกลายพันธุ์อื่น ๆ ที่เคยพบมาเป็นอย่างมาก

การกลายพันธุ์แบบเหนือความคาดหมายนี้ จัดเป็นการกลายพันธุ์ของโปรตีนบนส่วนหนามของไวรัสถึง 32 ตำแหน่ง ซึ่งส่วนดังกล่าวมีความสำคัญยิ่ง ในการเป็นกุญแจที่ไวรัสใช้ไขประตูเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์

นอกจากนี้ยังพบการกลายพันธุ์ที่ส่วนตัวรับ (receptor binding domain) ซึ่งไวรัสใช้จับยึดกับเซลล์ของคนเราถึง 10 ตำแหน่งด้วย ในขณะที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงอย่างสายพันธุ์เดลตา มีการกลายพันธุ์ในส่วนนี้เพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การกลายพันธุ์อย่างรุนแรงในลักษณะนี้ น่าจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในผู้ป่วยเพียงรายเดียว โดยร่างกายของผู้ป่วยที่เป็นต้นตอของการกลายพันธุ์ดังกล่าว ไม่สามารถต่อสู้ต้านทานกับเชื้อโรคได้

การที่เชื้อไวรัส B.1.1.529 มีการเปลี่ยนแปลงจนแตกต่างไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า วัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ไม่ได้ผลกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ และหากมีการแพร่ระบาดลามออกไปเป็นวงกว้าง ก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์โควิดในหลายประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 4 เลวร้ายยิ่งขึ้น

ส่วนการกลายพันธุ์ในอีกหลายสิบตำแหน่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยเห็นมาก่อนนั้น ยังคงต้องรอการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการอีกนานหลายสัปดาห์ จึงจะสามารถบอกได้ว่ายีนเหล่านั้นมีผลทำให้เชื้อโควิดดังกล่าวมีฤทธิ์ร้ายแรง เหนือกว่าเชื้อกลายพันธุ์ชนิดอื่น ๆ ที่เคยพบมาก่อนหรือไม่

บัญชีทวิตเตอร์ของรัฐบาลแอฟริกาใต้เผยแพร่ข้อความว่ารัฐบาลสามารถ "สกัดความรุนแรงของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ด้วยการฉีดวัคซีนซึ่งจะช่วยควบคุมการกลายพันธุ์ในยีนได้" และบอกด้วยว่าการร่วมมือกันจะช่วยให้จัดการกับเชื้อไวรัสได้ ข้อความดังกล่าวเผยแพร่พร้อมภาพอินโฟกราฟิกที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการฉีดวัคซีน ปัจจุบันมีชาวแอฟริกาใต้เพียง 24% ที่ได้รับวัคซีนครบโดส

ปฏิกิริยานานาชาติ

องค์การอนามัยโลกจัดการประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาว่าไวรัสก่อโรคโควิด-19 ชนิดใหม่นี้มีความรุนแรงอย่างไร และควรจะจัดให้อยู่ในสถานะเชื้อไวรัสที่น่ากังวลหรือไม่ โดยหลังจากนี้องค์การอนามัยโลกจะเผยแพร่แนวทางปฏิบัติใหม่ให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ

อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกเตือนว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าจะทราบได้ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ล่าสุดนี้สามารถติดต่อกันได้อย่างไร และวัคซีนที่มีอยู่จะให้ผลอย่างไรในการป้องกัน

แม้ขณะนี้องค์การอนามัยโลกจะยังมีท่าทีระมัดระวังในเรื่องมาตรการจำกัดการเดินทาง และแนะนำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ตัดสินใจเรื่องนี้โดยคำนึงถึง "ความเสี่ยงและหลักการทางวิทยาศาสตร์" เป็นหลัก แต่ขณะนี้หลายประเทศเริ่มสั่งห้ามผู้ที่มาจากแอฟริกาใต้ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศของตนแล้ว

ออสเตรเลีย ประกาศห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 9 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ มาลาวี และหมู่เกาะเซเชลส์

สหราชอาณาจักร ห้ามไม่ให้ผู้ที่มาจากนามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท และเอสวาตินี และแอฟริกาใต้ เดินทางเข้าประเทศ ส่วนพลเมืองที่เดินทางจาก 6 ประเทศนี้ต้องกักตัวในสถานกักตัวของรัฐเป็นเวลา 10 วัน

สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ได้รัะงับการเดินทางจาก 7 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก และแอฟริกาใต้

สหรัฐอเมริกา ประกาศระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี ตั้งแต่ 29 พ.ย. เป็นต้นไป

แคนาดา แบนชาวต่างชาติที่เพิ่งเดินทางมาจาก 7 ประเทศแอฟริกาในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

อิสราเอล ห้ามพลเมืองแอฟริกาใต้เข้าประเทศ และห้ามชาวอิสราเอลเดินทางไป 7 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ด้วย
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซาอุดิอาระเบีย และบาห์เรน จะเริ่มแบนนักท่องเที่ยวจาก 7 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.

ญี่ปุ่น ออกมาตรการจำกัดผู้ที่เดินทางจาก 6 ชาติในแอฟริกาใต้ และให้ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาจาก 6 ประเทศนี้ ต้องกักตัวในสถานกักตัวของรัฐเป็นเวลา 10 วัน และตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้งในช่วงเวลากักตัว

เช่นเดียวกับ อิหร่าน และบราซิล ที่แบนนักเดินทางจาก 6 ประเทศ สิงคโปร์ เพิ่มรายชื่อประเทศต่าง ๆ อีก 7 ประเทศให้อยู่ในบัญชีแดง

แนวทางของไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับรายงานเรื่องการพบไวรัสกลายพันธุ์ชนิดใหม่ในแอฟริกาใต้แล้ว และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และดำเนินมาตรการต่าง ๆ

วันนี้ (27 พ.ย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดแถลงข่าวด่วนเรื่อง "มาตรการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิดโอไมครอน" โดย 2 อธิบดีในสังกัดกระทรวง

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ไทยจะไม่อนุญาตให้ประเทศในแอฟริกาลงทะเบียนเพื่อขอเข้าไทยตั้งแต่บัดนี้ พร้อมแบ่งการเดินทางเข้าไทยของประเทศในทวีปแอฟริกาออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

หนึ่ง ประเทศที่พบเชื้อไวรัสโอมิครอน/ประเทศเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบียซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี

  • ผู้ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัว 14 วัน ตั้งแต่ 28 พ.ย.
  • ไม่อนุญาตให้เข้าไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค.
  • ไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย.

สอง ประเทศอื่น ๆ ในทวีปแอฟริกานอกเหนือจาก 8 ประเทศ

  • ไม่อนุญาตให้เข้าในรูป Test & Go (ขณะนี้ไทยประกาศไว้ 63 ประเทศ/พื้นที่ ที่มีความเสี่ยงน้อย)
  • ไม่อนุญาตให้เข้ามาในรูปแซนด์บ็อกซ์
  • สามารถเข้าไทยได้ โดยต้องกักตัวในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนด และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพัก 14 วัน ต้องตรวจหาเชื้อโควิด 3 ครั้ง

อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุด้วยว่า นับจากเปิดประเทศมีผู้เดินทางมาจากแอฟริกาใต้ 12 ประเทศ รวม 1,007 คน ในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ที่ จ.ภูเก็ต โดยตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำประชาชนให้ "ตั้งสติในการชีวิต" พร้อมยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัส B.1.1.529 ในไทย

ที่มา : BBC,  ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ติดต่อโฆษณา!