กทม. ชู #หันหน้าเข้าคลอง และ #ทิ้งรักลงคลอง รณรงค์อนุรักษ์ “คลองแสนแสบ” พัฒนาคุณภาพชีวิต



Highlight

กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหมายดำเนินการฟื้นคลองแสนแสบในระยะต่าง ๆ ภายใน 5 ปี

พร้อมชูแคมเปญ #หันหน้าเข้าคลอง และ #ทิ้งรักลงคลอง ในการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ “คลองแสนแสบ” เกิดความรัก ความหวงแหนคลอง เพื่อการรักษาสภาพคลอง ให้เกิดความสวยงาม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต



“คลองแสนแสบ” เป็นคลองสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่จากการขุดสร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เพื่อเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกงเมื่อปี พ.ศ. 2380

 

ปัจจุบัน “คลองแสนแสบ” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครมากถึง 21 เขต เป็นทั้งวิถีชีวิตของชุมชนริมคลอง และประชาชนที่สัญจรทางน้ำ ดังนั้น การปรับปรุงภูมิทัศน์และฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม “คลองแสนแสบ” จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัของรัฐบาล และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

 

ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ชูแคมเปญ #หันหน้าเข้าคลอง และ #ทิ้งรักลงคลอง ในการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ “คลองแสนแสบ” รวมถึงการตั้งเป้าหมายดำเนินการฟื้นคลองแสนแสบในระยะต่าง ๆ ภายใน 5 ปี จะเป็นอย่างไร ? นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร มีคำตอบผ่าน “ทันข่าว Today

 20210618-a-03.jpg

“คลองแสนแสบ” ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 เขต

คลองแสนแสบมีความยาวทั้งหมดประมาณ 72 กิโลเมตร แต่ที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีความยาวระยะทาง 45.5 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 เขต ได้แก่

1. ราชเทวี 2. ปทุมวัน 3. วัฒนา 4. ห้วยขวาง 5. สวนหลวง 6. วังทองหลาง 7. บางกะปิ 8. บึงกุ่ม

9. สะพานสูง 10. คันนายาว 11.คลองสามวา 12. มีนบุรี 13. หนองจอก 14. ดุสิต 15. ดินแดง

16. จตุจักร 17. บางเขน 18. ลาดพร้าว 19. สายไหม 20. หลักสี่ และ 21. ดอนเมือง

 

โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และฟื้นฟู “คลองแสนแสบ”

1. การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน

- การเดินเรือในคลองแสนแสบมีส่วนต่อขยายเพิ่มเติม 10.50 กม.

- มีท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย 8 ท่า

- พัฒนาและปรับปรุงท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบ 10 ท่า

- มีเรือไฟฟ้าเพิ่มในการสัญจร 12 ลำ สามารถรองรับประชาชนที่ใช้บริการเรือไฟฟ้า

 ส่วนต่อขยายวัดศรีบุญเรือง ถึงสำนักงานเขตมีนบุรี ได้ถึง 800-1,000 คน ต่อวัน

 

2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ

- ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งคลอง

- ปรับปรุงภูมิทัศน์ชุมชนริมคลองและซ่อมแซมสะพานข้ามคลอง

- พัฒนาและขยายผลพื้นที่ชุมชนริมฝั่งคลองต้นแบบ 21 แห่ง

 

3. การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ

- จัดระเบียบพื้นที่ภายในคลองแสนแสบ

- มีระบบรวบรวมน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 10,000 ลบ.ม./วัน

- มีกฎหมายเฝ้าระวังและตรวจสอบกำกับดูแลโรงงานบริเวณคลองแสนแสบ

- ติดตามและตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ อาคารประเภทต่าง ๆ

 

4. การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ

สำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่าง ๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบและคลองสาขา

 

5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ

- กำจัดวัชพืช

- การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง

 

กทม. ตั้งเป้าหมายพัฒนา “คลองแสนแสบ” ภายใน  5 ปี ตั้งแต่ปี 2563 – 2565

การดำเนินการฟื้นฟูคลองแสนแสบ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

20210618-a-01.jpg

1. ระยะเร่งด่วน

1.1 โครงการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย

1.2 ระบบความปลอดภัยทางน้ำในคลองต้นแบบ (คลองแสนแสบ)

 

2. ระยะกลาง

2.1 ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติม

2.2 ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย

2.3 ระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่

 

20210618-a-02.jpg

3. ระยะยาว

ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและระบบรวบรวมน้ำเสียขนาดใหญ่ ครอบคลุมคลองแสนแสบ และคลองสาขา จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

3.1 โครงการบำบัดน้ำเสียวังทองหลาง

3.2 โครงการบำบัดน้ำเสียสะพานสูง

3.3 โครงการบำบัดน้ำเสียบางเขน

3.4 โครงการบำบัดน้ำเสียดอนเมือง

3.5 โครงการบำบัดน้ำเสียบึงกุ่ม

3.6 โครงการบำบัดน้ำเสียหนองจอก 1

3.7 โครงการบำบัดน้ำเสียลาดพร้าว

 

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร การฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างกรุงเทพมหานคร และอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม รวมถึงความร่วมมือจากประชาชน ในการจัดระเบียบสองฝั่งคลอง

 

แผนพัฒนาคลองแสนแสบ 4 ด้าน ตามเป้าหมายหลัก

1. งานพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย

2. การทำความสะอาดและจัดระเบียบพื้นที่สิ่งแวดล้อมริมฝั่งคลอง

3. งานปรับปรุงภูมิทัศน์และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

4. การมีส่วนร่วมของชุมชน พัฒนาภูมิทัศน์ พัฒนาชุมชนริมฝั่งคลอง

 

แคมเปญ #หันหน้าเข้าคลอง รณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจสภาพคลอง

ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เนื่องจากการทำงานต้องสร้างการรับรู้ของประชาชน ว่ากรุงเทพมหานครกำลังดำเนินการเรื่องอะไรทางกรุงเทพมหานคร ถือว่าการประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ จึงชูแคมเปญ #หันหน้าเข้าหาคลอง เพราะไม่อยากให้คนหันหลังให้คลอง ไม่เช่นนั้น จะไม่รู้สภาพคลอง เมื่อเราหันหน้าเข้าหาคลอง เราก็จะรู้ว่าสภาพคลองเป็นแบบไหน ? เราจะช่วยกันทำให้สภาพคลองมีสภาพที่ดีได้อย่างไร ? เราพยายามรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากขึ้น ปัจจุบัน ประชาชนก็ได้ให้ความร่วมมือ ด้วยการจัดตั้งชมรมขึ้นมา

 

แคมเปญ #ทิ้งรักลงคลอง รณรงค์ให้คนรักคลอง

ปลัดกรุงเทพมหานคร เล่าถึงแคมเปญนี้ว่า ต้องการรณรงค์ให้คนรักคลอง อยากให้ทุกคนนำความรักมาลงคลองไว้ ถ้าประชาชนเกิดความรู้สึกรักในแม่น้ำลำคลอง เขาก็จะช่วยกันดูแลคลอง ให้มีความสะอาดเรียบร้อยสวยงาม

 

หัวใจสำคัญในการทำให้ “คลองใสสะอาด” คือ “การไม่ทิ้งขยะลงคลอง”

 

ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน สะท้อนความเข็มแข็งของชุมชนริมคลอง

ชุมชนสุเหร่าบ้านดอน ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองแสนแสบ เขตวัฒนา เป็นหนึ่งในชุมชนที่สะท้อนความเข้มแข็งของการร่วมมือระหว่างคนในชุมชนกับภาครัฐ ในการปรับภูมิทัศน์และฟื้นฟูสภาพคลอง ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่

1. ความสามัคคีในชุมชน

2. การปรับภูมิทัศน์ จากจุดทิ้งขยะให้เป็นสวนที่ร่มรื่นสวยงาม จนกลายเป็น แหล่งท่องเที่ยว

3. การท่องเที่ยวได้ต่อยอดการสร้างรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน

 

อีกจุดหนึ่งคือ ชุมชนสุเหร่าคลองตัน เขตสวนหลวง กทม. ได้ปรับภูมิทัศน์ และคนในชุมชนซึ่งประกอบด้วยชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม ก็ได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พื้นที่ริมคลองให้สวยงาม

 

นางศิลปะสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวสรุปว่า “ภาครัฐได้ดำเนินการดูแลรักษาคูคลอง อย่างการปรับภูมิทัศน์และฟื้นฟู “คลองแสนแสบ” อยากขอให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาพื้นที่ให้สะอาดเรียบร้อย ผ่านแคมเปญ #หันหน้าเข้าคลอง ให้ช่วยกันดูแลว่าคลองมีสภาพเป็นอย่างไร ? เราจะพัฒนาคุณภาพน้ำ และพื้นที่สิ่งแวดล้อมโดยรอบได้อย่างไร ? รวมถึงแคมเปญ #ทิ้งรักลงคลอง ให้เกิดความรัก ความหวงแหนคลอง เพื่อการรักษาสภาพคลองให้เกิดความสวยงาม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต”

 

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!