การดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง กับบทบาท “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร”



Highlight

นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. มองว่า การปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านคนเดียว กินอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเจ็บป่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งให้มากขึ้น การเข้าไปดูแล เข้าไปจัดระบบตั้งแต่แรก จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด


แม้การพัฒนาชีวิตคนกรุง คือ บทบาทหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหาร แต่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ก็เปิดทางขับเคลื่อนการดำเนินงานเหล่านั้น เพื่อความสุขของทุกคน อย่างในขณะนี้ สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งหลายชุมชนทั่วกรุงเทพมหานคร พบผู้สูงอายุ ที่อยู่เพียงลำพัง นอนติดเตียง ไร้ญาติ ขาดที่พึ่ง
 
แนวทางการดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง กับ บทบาทสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เป็นอย่างไร ? ทีม “ทันข่าว Today” จะพาไปติดตามกัน
 
แม้ “ผู้สูงอายุ” จะได้รับเงินสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะนำมาเยียวยาสภาพจิตใจของผู้สูงวัย ที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว

การดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่ง กับบทบาท “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร”

สำหรับการพัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร แต่นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเหล่านั้น ในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในชุมชนวังทอง เขตดอนเมือง นายไพฑูรย์ ยกตัวอย่างหญิงสูงอายุวัย 80 ปี รายหนึ่ง อยู่ตัวคนเดียว แต่มีแรงและกำลังใจที่ดีเพราะน้ำใจของคนในชุมชน ที่แบ่งปันเงินและอาหารมาให้
 

ยิ่งผู้สูงอายุเจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขยิ่งเพิ่มมากขึ้น

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสังคมไทย มีประชาชนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่เรียกว่าผู้สูงอายุ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ สำหรับผู้สูงอายุที่สุขภาพแข็งแรง มีชมรมผู้สูงอายุ ให้ร่วมกิจกรรมผ่อนคลายได้ แต่หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า เป็นผู้พิการ การปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านคนเดียว กินอยู่คนเดียว ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ก็จะยิ่งเจ็บป่วย ทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งให้มากขึ้น การเข้าไปดูแล เข้าไปจัดระบบตั้งแต่แรก จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด”
 
นอกจากนี้ นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า “เป้าหมายของผม คือ ต้องการรู้จำนวนที่แท้จริงของผู้สูงอายุในแต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร ว่ามีอยู่เท่าไร และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวง หรือ หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร จะได้มีข้อมูลนั้นเข้ามาบริหารจัดการ ดูแลผู้สูงอายุไร้ที่พึ่งได้อย่างทั่วถึง เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด อย่างการพามาเยี่ยมหญิงสูงอายุวัย 80 ปี ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า ต่อไปถ้าเขาล้มป่วย เดินไม่ไหวแล้ว ต่อไปจะทำอย่างไร เราทำตรงนี้ เราต้องการให้เขามีที่พึ่งทางใจ ให้สามารถอยู่ได้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันทุกคน”
 
พร้อมกับเรียกร้องให้สังคมตระหนักร่วมกันว่า “ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ในบั้นปลายชีวิต”  
 

ติดต่อโฆษณา!