“เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ” ตอน พาชม “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” จากสะพานร้าง สู่จุดชมวิว 360 องศา เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา

Highlight

ปักหมุดไฮไลท์ ที่ไม่ควรพลาด กับ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร กับจุดชมวิว 360 องศา เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา … ที่เป็นมากกว่าสวนสวย


รู้จัก “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ที่เป็นมากกว่าสวนสวย

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ที่เรียกว่า เป็นทั้งแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร และจุดชมวิว 360 องศา เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา หนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาเมืองสู่อนาคต เพราะได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิมของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี จนได้รับการเรียกขานกันจนติดปากว่า “สะพานด้วน” มาสู่ สวนแห่งใหม่

ปักหมุดไฮไลท์ ที่ไม่ควรพลาด

“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เราเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา นับว่าเป็น “สวนลอยฟ้าข้ามแม่น้ำแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งแรกของโลก”
จากโครงสร้างของรางรถไฟฟ้าที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง “โครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน” ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ทางทีมที่มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่มีทางเดินและทางจักรยาน และมุมพักผ่อนที่สวยงาม โดยมีระยะทางยาวประมาณ 280 เมตร กว้าง 8.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันตกความสูง 2-3 เมตร รวมทั้งติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ เพื่อให้ทุกคนสามารถมาใช้บริการได้อย่างทั่วถึง

นอกจากสวนลอยฟ้าแห่งนี้จะมีเส้นทางเดินและเส้นทางจักรยานแล้ว ยังมีพื้นที่สีเขียวตลอดทางเดินอีกด้วย โดยเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของกรุงเทพฯ และน้ำหนักของโครงสร้าง พร้อมสตอรี่การนำต้นไม้เก่าแก่จากถนนหน้าพระลาน ย้ายมาไว้ที่นี้


ไฮไลท์ที่ไม่อยากให้พลาดถ้าได้มีโอกาสมาที่นี่ คือ วิว 360 องศา เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแบ่งจุดชมวิวออกเป็น 3 จุด ประกอบด้วย
▪️ ลานอรุณรุ่ง
▪️ ใจเจ้าพระยา
▪️ ลานตะวันรอน

เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ที่มีชีวิตชีวา และมีความหมายแก่ย่านเมืองเก่าทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเห็นจุดเริ่มต้นของกรุงเทพฯ ก็ว่าได้
อีกทั้งบริเวณโดยรอบยังเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างงดงามและเก่าแก่ อาทิ สะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส วัดซางตาครูส วัดกัลยาณมิตร ชุมชนกุฎีจีน พระปรางค์วัดอรุณ อาคารไปรษณียาคาร ศาลเจ้าพ่อกวนอูคลองสาน รวมไปถึงสิ่งก่อสร้างใหม่ อาทิ ตลาดยอดพิมาน ห้างไอคอนสยาม เป็นต้น




Urban Design and Development Center (UddC) ให้ข้อมูลเป็นตัวเลขสนุกๆ เกี่ยวกับสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาว่า


– 280 x 8.5 x 9 คือ ความยาว x ความกว้าง x ความสูงของสวนลอยฟ้า (ม.)
– 22,400 คือ ขนาดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด (ตร.ม.)
– 200 คือ จำนวนสถานที่ท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม ศาสนสถาน สาธารณูปโภคทางปัญญา ฯลฯ โดยรอบโครงการ
– 26 คือ จำนวนสถานศึกษาของฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรีที่นักเรียนสามารถใช้สะพานเดินข้ามไปเรียน
– 76 คือ ค่าคะแนนการเดินเท้า (walkscore) ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 เมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (คะแนนเต็ม 100)
– 15 คือ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง เนื่องจากอัตราการใช้รถยนต์ในพื้นที่ต่ำลงเมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (ร้อยละ)
– 172 คือ จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มในโครงการ
– 0 คือ จำนวนต้นไม้เดิมในพื้นที่โครงการที่ถูกตัดทิ้ง

เดินตระเวนเที่ยวจากสวนลอยฟ้า เก็บตกที่เที่ยวน่าไปได้อีกหลายแห่ง เพราะสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ได้เชื่อมต่อการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เชื่อมต่อและส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน-คลองสาน และสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ เชิงสะพานพระปกเกล้า เขตคลองสาน เข้ากับสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ เขตพระนคร ต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์ และย่านอื่นๆ ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ที่ไม่ควรพลาด …

รูปแบบการเดินทางไปยังสวนลอยฟ้า


“สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” สามารถเดินทางได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
– โดยสารรถประจำทาง มาลงที่ใต้สะพานพุทธ ได้แก่ สาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก และ 82
– เรือด่วนเจ้าพระยา ขึ้นที่ท่าสะพานพุทธ (เฉพาะเรือด่วนธงสีส้ม) และเรือประจำทาง (แบบธรรมดา ไม่มีธง)
– รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีสนามไชย ทางออก 4 เดินเท้าไปอีกประมาณ 800 เมตร
– รถส่วนตัว จอดรถได้ที่วัดพิชยญาติการามวรวิหาร วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ลานจอดรถท่าเรือดินแดง

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเปิดให้บริการทุกวัน
เวลา 05:00 – 20:00 น.
ติดต่อโฆษณา!