ตั้ง 8 ด่าน รุกตลาดกว่า 400 แห่ง สกัดคนติด COVID-19

Highlights
ชวนมาอัพเดทกับ #มาตรการเชิงรุก เร่งหาผู้ป่วย #โควิด-19 ของกรุงเทพมหานคร  นอกจากลุยตรวจทั้ง
▪️ตลาด
▪️แรงงานต่างด้าวไซต์งานก่อสร้าง
▪️โรงงานต่างๆ 
และยังพร้อมรับมือกับ #โรงพยาบาลสนามแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร จะเป็นที่ไหน ยังไง มาลองดูกัน 


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่มาจากหลาย Clusters หลายพื้นที่ขยายวงกว้างส่วนหนึ่งมาจากการเดินทาง การอยู่ในพื้นที่แออัด และความไม่ระมัดระวังที่ดีพอ

แม้ว่าเราจะเริ่มเห็นการคลายล็อค เริ่มเปิดกิจการหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ภาพรวมแนวโน้มคงตัว แต่ค้นหาเชิงรุกตามจุดเสี่ยงของกรุงเทพมหานครยังเจอคนติดเชื้อต่อเนื่อง การคัดกรองเชิงรุกในชุมชนถือเป็นอาวุธที่ใช้มากและสำคัญ ในการระบาดรอบนี้ 

ทันข่าวToday ชวนมาดูมาตรการคัดกรองเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของ กทม. ตลอดช่วงของการระบาดครั้งนี้ ว่ามีอะไรบ้าง

ค้นหาเชิงรุกในจุดเสี่ยงสำคัญ 

ตลาด 

20210129-a-07.jpg
▪️กทม. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดเจ้าหน้าที่ 80 ทีม ตรวจแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในตลาดทั่วกรุงเทพฯ 472 แห่ง  
▪️ล้างทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และกวดขันให้มีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด 
▪️ผลการตรวจในกลุ่มตลาดเสี่ยง 117 ตลาด ผลการตรวจพบเชื้อ 14 ราย [จากการ SWAB 7 ราย การตรวจน้ำลาย 7 ราย] 
▪️ตลาดที่ไม่มีความเสี่ยงและมีความเสี่ยงต่ำจำนวน 355 ตลาด ผลการตรวจพบเชื้อ 1 ราย [จากการตรวจน้ำลาย] 

20210129-a-08.jpg

แคมป์คนงานก่อสร้าง - โรงงาน และชุมชน 

▪️คัดกรองด้วยระบบ BKK COVID-19 แบบเร่งด่วนให้ครบ 100% เพื่อสำรวจความเสี่ยงจากการสัมผัส เกี่ยวข้อง หรือเข้าไปในสถานที่เสี่ยง พร้อมทั้งสุ่มตรวจในแรงงานต่างด้าว

ตั้งจุดสกัด 8 จุดคัดกรองของ กทม. ตลอด 24 ชั่วโมง 


20210129-a-01.jpg
▪️ในทุกจุดสกัดฯ ได้มีการใช้ระบบคัดกรอง BKK COVID-19 แทนการบันทึกด้วยมือ และแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” เพื่อช่วยจดจำข้อมูลการเดินทาง เป็นข้อมูลในการสอบประวัติผู้ป่วยและเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น ทำให้แพทย์และพยาบาลทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น

กทม. คัดกรองกว่า  2 แสนคน ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว 

20210129-a-02.jpg

หลักเกณฑ์ของการตรวจ และแนวทางในการทำงานหากพบกรณีกลุ่มที่มีความเสี่ยง หลักๆ คือ  


- จะเรียกตรวจสอบรถที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดโดยดูจาก “ทะเบียนรถ”  
- มีการเรียกรถที่เป็นลักษณะขนส่งซึ่งมีบุคคลอาศัยมาด้วย 
- จากนั้น เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมขอตรวจสอบบัตรประชาชน และมีการสอบถามถึงเรื่องการเดินทางมาจากจุดที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส CVOID-19 หรือไม่  
หากเข้าข่าย จะมีการจดบันทึกข้อมูลการเดินทาง และหากพบว่ามีบุคคลใดที่มีอุณหภูมิเกินกว่า 37 องศา จะมีการกักตัวไว้ชั่วคราว ดำเนินการซักถามประวัติ และตรวจสอบตามขั้นตอนทางการแพทย์อย่างละเอียด และจะมีการส่งรถพยาบาลมารับเพื่อไปตรวจหาเชื้อ CVOID-19 อีกครั้ง หากพบว่าติดเชื้อ ทางกรุงเทพมหานครก็จะส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

มาตรการเชิงรุก ใช้วิธีแบบไหนตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อ?

ทางสำนักอนามัย ของกรุงเทพมหานคร ใช้วิธีการตรวจ 2 วิธี คือ  

1. การตรวจด้วยวิธีการ SWAB : ใช้ในกรณีผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ผู้มีความเสี่ยงสูง หมายถึง ผู้ที่เข้าเกณฑ์อย่างน้อย 1 ใน 3 ข้อ ดังนี้ 

1. เป็นคนไทย/ต่างชาติที่มีประวัติเดินทางไปหรือซื้อสินค้าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยเฉพาะตลาดกลางกุ้ง ตลาดทะเลไทย และหอพักศรีเมืองจังหวัดสมุทรสาครหรือจังหวัดควบคุมสูงสุดอื่นๆ เพื่อจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63  
2. เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่รับสินค้าโดยมีการขนส่งจากผู้จำหน่ายในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครหรือจังหวัดควบคุมสูงสุดอื่นๆ มาส่งสินค้าที่สถานประกอบการของตนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 
3. เป็นชาวต่างชาติที่เข้าทำงานใหม่ หรือมีประวัติขาดงานในช่วง 1 พ.ย. 63 ถึง ปัจจุบัน 

2. การตรวจโดยใช้ตัวอย่างจากน้ำลาย : ใช้ในผู้มีความเสี่ยงต่ำและไม่มีความเสี่ยง โดยจะทราบผลการตรวจภายใน 2-3 วัน

กรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 ทาง กทม. มีขั้นตอนการทำงานอย่างไรต่อ

1. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center, EOC) สำนักอนามัย จะส่งต่อผู้ป่วยให้ศูนย์ส่งต่อผู้ป่วย 1646 หรือ 1669 
2. ดำเนินการกระบวนการสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และแยกกักที่บ้าน (Home Quarantine) เป็นเวลา 14 วัน ตามกระบวนการควบคุมโรค 

ทางกรุงเทพมหานครได้จัดเตรียมสถานที่รองรับ (Local Quarantine) ไว้ 2 แห่ง ในเคสที่ผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ 

- โรงแรม My Hotel 
- โรงแรมธำรงอินน์ 

โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ของสำนักอนามัยจะเป็นผู้พิจารณา

3. เจ้าของตลาด และสถานประกอบการ ต้องปิดกิจการเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน และให้ดำเนินการล้างตลาดตามการหลักสุขาภิบาลโดยเคร่งครัด

มารู้จักกับโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของ กรุงเทพมหานคร 

กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย มีแนวทางในการเตรียมความพร้อมต่อสภาวะวิกฤติ โดยจัดโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลสนาม  

1. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของ กทม. เตรียมพร้อมรับผู้ป่วยโควิด-19 กว่า 500 เตียง 

2. เป็นที่พักสำหรับการสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย 

3. อาคารเป็นสำหรับดูแลผู้ป่วย ประกอบด้วย

20210129-a-03.jpg

▪️เรือนกลางน้ำ มีจำนวน 7 หลังๆ ละ 4 ห้องๆ ละ 2 คน รวมรองรับผู้ป่วยได้ 56 คน [ห่างจากชุมชนมากกว่า 8 เมตร] มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแล เคาน์เตอร์พยาบาล ระบบเครื่องปรับอากาศแยกส่วน และจัดเส้นทางเข้าออกแยกจากผู้ป่วยทั่วไป  

20210129-a-04.jpg
▪️อาคารผู้ป่วยใน ชั้น 2–ชั้น 6 เป็นอาคารกลางน้ำ [ตั้งห่างจากชุมชนเกินกว่า 8 เมตร] พื้นที่รับผู้ป่วยอยู่ที่ชั้น 2 ถึงชั้น 6 รองรับผู้ป่วยได้ 453 คน ในแต่ละชั้นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ด้านห้องเดี่ยวและห้องรวม ช่องทางการเข้าออก หรือลิฟท์โดยสารของผู้ป่วยแยกโซนการเข้าออกของเจ้าหน้าที่ และเตรียมความพร้อมของระบบในทุกๆ ด้าน มีระบบป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อสู่ชุมชน

▪️ขยะติดเชื้อ ซึ่งจะถูกทิ้งลงในถุงขยะ 2 ชั้น ปิดอย่างแน่นหนา ใช้ผ้าชุบน้ำยาทำความสะอาดที่ด้านนอกของถุงขยะ และนำใส่ถังพักขยะติดเชื้อที่มีฝาปิดมิดชิดภายในอาคาร และนำมาทิ้งที่ห้องพักขยะที่เป็นระบบปิดด้านนอกอาคาร และจะเปิดตามเวลาที่บริษัทรับกำจัดขยะติดเชื้อของกรุงเทพธนาคมมารับขยะ เพื่อไปกำจัดตามแนวทางกำจัดขยะติดเชื้อเท่านั้น 

20210129-a-05.jpg

▪️ระบบสุขาภิบาลน้ำ มีการตัดระบบน้ำทิ้ง
น้ำโสโครกจากระบบระบายน้ำทิ้งเดิม นำน้ำเสียดังกล่าว มาบำบัดในบ่อบำบัดใหม่ และมีการเติมคลอรีนที่มีความเข้มข้นพิเศษ ก่อนปล่อยออกจากระบบระบายน้ำของโรงพยาบาล
▪️ระบบระบายอากาศ พื้นที่ในการดูแลผู้ป่วยเป็นระบบกึ่งปิด ทำให้พื้นที่บริเวณนั้น มีความดันเป็นลบ โดยกำหนดทิศทางระบายลมออกห่างจากบ้านหรือชุมชนอย่างน้อย 8 เมตร และตำแหน่งในทิศทางของลมไม่พัดย้อนกลับไปยังชุมชน
▪️ระบบรักษาความปลอดภัย มีทางออกทางเดียวและเป็นระบบปิด มีประตูล็อคหลายชั้น มีกล้องวงจรปิดกระจายอยู่ภายในอาคาร มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

ฝากถึงพี่น้องประชาชน และร้านค้า ผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการ ในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ว่าอยากเน้นย้ำถึงมาตรการ DMHTT 
20210129-a-06.jpg

(D-เว้นระยะห่าง M-สวมหน้ากาก H-ล้างมือบ่อยๆ T-ตรวจวัดอุณหภูมิ T-ไทยชนะ) อย่างเคร่งครัด ซึ่งก็คือ

D : Social Distancing เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร เลี่ยงการอยู่ในที่แออัด  
M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา  
H : Hand Washing ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 
T : Temperature Check การตรวจวัดอุณหภูมิและตรวจหาเชื้อโควิด-19  
ในกรณีที่มีอาการเข้าข่าย  
T : Thai Cha Na สแกนไทยชนะก่อนเข้า-ออกสถานที่สาธารณะทุกครั้ง  ควบคู่กับดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อให้มีข้อมูลในการประสานงานได้ง่ายขึ้น

20210129-a-09.jpg

ติดต่อโฆษณา!