“ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่า กทม. เปิดประประวัติ 5 แคนดิเดด”
Highlight
การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทยอยออกมาเรื่อยๆ ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าเมืองหลวงเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ล่าสุดพรรคก้าวไกลเปิดตัว "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ดีกรีวิศวกร มาสู้กับ สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ จากพรรคประชาธิปัตย์ ปะทะผู้สมัครอิสระ อย่าง ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รสนา โตสิตระกูล และพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม. คนปัจจุบัน ที่ยังคงมุ่งมั่นในการทำงานตลอดเวลา ในรอบนี้คนกรุงเทพฯจะเลือกใครน่าติดตามอย่างยิ่ง ความรู้ความสามารถแต่ท่านไม่หนีห่างกันมาก อยู่ที่วิสัยทัศน์และการเข้าถึงใจคน กทม. ใครที่สามารถเสนอทางออกปัญหาคนกรุงเทพฯในยุคนี้ได้ ต้องติดตามกัน
การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ศึกผู้ว่าเมืองหลวงเข้มขึ้นขึ้นตามลำดับ ล่าสุดพรรคก้าวไกลเปิดตัว "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 34 กลายเป็นพรรคการเมืองที่สองต่อจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัว "ดร.เอ้" ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.2564
พรรคก้าวไกลเลือก "วิโรจน์" อาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะนักตรวจสอบรัฐบาลในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเฉพาะการอภิปรายฯ เมื่อเดือน ก.ย.2563 ได้เปิดโปงกระบวนการปฏิบัติการ "ไอโอ" เป็นการเปิดตัวเป็นที่รู้จัก จากการอภิปรายในครั้งนั้น
พรรคก้าวไกลมาในรอบนี้คงต้องการหยั่งเสียงคนกรุงเทพฯ จากผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 ซึ่งในนามพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้คะแนนป๊อปปูล่าโหวตมากที่สุด ที่ 804,272 คะแนน โดยได้ ส.ส.มา 9 ที่นั่งจาก 30 ที่นั่ง
ดังนั้นในขณะนี้เราเห็นแคนดิเดด ที่จะขึ้นสู่สังเวียนได้ชัดเจนอย่างน้อย 4 คนคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ, รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ และ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ดา.เอ้ จากพรรคประชาธิปัตย์
การต่อสู้ครั้งนี้น่าติดตามว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถทวงเก้าอี้สนามกรุงเทพฯกลับคืนมาได้หรือไม่ หลังจากผู้ว่าคนสุดท้ายคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ครองตำแหน่งหลังสุดในปี 2547-2559 ในรอบนี้ผู้สมัครหลายคนมีประวัติที่น่าสนใจดังนี้
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลผู้นี้ สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ที่ โรงเรียนวัดสุทธิ วราราม ระดับปริญญาตรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมยานยนต์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์) จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ)
ที่ผ่านมาช่วงปี 2541-2543 เคยทำงานวิศวกรควบคุมคุณภาพ บริษัท ซูซุ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จากนั้น 2543-2546 เป็นเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารคุณภาพ และการบริหารจัดการ บริษัท โนโว ควอลิตี้ เซอร์วิส เซส (ประเทศไทย)
จำกัด ต่อมาในปี2546 เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร บมจ. ซีเอ็ดยูเคชั่น และได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในองค์กรเพิ่มเติมในเวลาต่อมา อาทิ
ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้ซีเอ็ด (SE-ED Learning Center) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ SE-ED Book Center ด้านกิจกรรมการตลาดและผู้ช่วยผู้อำนวยการ SE-ED Book Center ด้านการบริหารกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือ ที่ปรึกษาโรงเรียนเพลินพัฒนา และในปี2556 เป็นกรรมการ บริษัท เบสแล็บ จำกัด
มีความสนใจด้านการศึกษา เศรษฐกิจเป็นคนชอบอ่านหนังสือ และมี "ลิเวอร์พูล"เป็นสโมรสรที่รักประจำใจ
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
สำเร็จปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2530
ในทางการเมือง "ชัชชาติ" ในฐานะนักวิชาการได้เข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช" ต่อมาในปี 2555 ได้รับการทาบทามให้เป็น รมช.คมนาคม ในเดือน ม.ค.2555 จากนั้นได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็น รมว.คมนาคม ในเดือน ต.ค.2555
ในโลกออนไลน์ ได้ความนิยมจากรูปภาพ "ชัชชาติ" เดินเข้าไปทำบุญใส่บาตรภายในวัดแห่งหนึ่งที่ จ.สุรินทร์ โดยสวมเสื้อแขนกุดหิ้วถุงอาหาร และเดินด้วยเท้าเปล่า ภาพดังกล่าวได้ถูกแชร์อย่างรวดเร็ว มีผู้คนตัดต่อภาพล้อเลียนมากมาย โดย "ชัชชาติ" ได้รับฉายา "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"
สำหรับเวทีเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "ชัชชาติ" ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยในช่วงปลายปี 2552 หลังจบการเลือกตั้งใหญ่ โดยได้เปิดตัวกิจกรรมเป็นครั้งแรกในธีม "ชัชชาติชวนคุย คนกรุงเทพฯ ช่วยคิด" เพื่อต่อยอดเป็นนโยบายการพัฒนากรุงเทพฯ ในการลงเลือกตั้งในนามอิสระ
จากนั้นตลอด 2 ปี "ชัชชาติ" ได้ลงพื้นที่หลายเขตของกรุงเทพฯ เพื่อเก็บข้อมูลจัดทำนโยบายเตรียมลงเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเปิดตัว "ดร.ยุ้ย" ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเสนาดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) มาเป็นทีมนโยบายเตรียมพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า "มาช่วยสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน"
รสนา โตสิตระกูล
อดีต ส.ว.กทม.ที่ได้รับคะแนนการเลือกตั้งมากที่สุดจาก ส.ว.ทั่วประเทศในปี 2551 อยู่ที่ 743,397 คะแนน ส่วนเส้นทางการศึกษา "รสนา" จบชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม และจบปริญญาตรีจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2517
ที่ผ่านมาบทบาท "รสนา" เป็นนักต่อสู้เรื่องสิทธิผู้โภค สิทธิประชาชน เคยมีตำแหน่งมากมาย อาทิ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทยกรรมการอิสระ แกนนำเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อผู้บริโภคกรรมการเตรียมการจัดตั้งสภาพัฒนาการเมือง และยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
"รสนา" ยังเคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภานิติบัญญัติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ประธาน สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (2 สมัย)
โดยเฉพาะในปี 2547 เป็นหนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ ยื่นตรวจสอบการทุจริตยาของกระทรวงสาธารณสุขจนเป็นเหตุให้นายรักเกียรติ สุขธนะ รมว.สาธารณสุขขณะนั้น ถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 15 ปี และถูกยึดทรัพย์เป็นจำนวน 233.8 ล้านบาท รวมเวลาการเคลื่อนไหวกว่า 6 ปี ถือเป็นคดีทุจริตนักการเมืองคดีแรกของประวัติศาสตร์
สำหรับเส้นทางเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. "รสนา" ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2562 ประกาศลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ "ตัวจริง" ใช้สโลแกนหาเสียงว่า "กทม.มีทางออกบอกรสนา" ในยุทธศาสตร์เน้นการมีส่วนร่วมภาคประชาชน
สุชัชวีย์ สุวรรณสวัสดิ์
คนนี้เปิดตัวเป็นที่ฮือฮาตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) สู่ถนนการเมืองว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์ ถือเป็นการเปิดตัวจากพรรคการเมืองคนแรกในสนาม กทม.ครั้งนี้ โดยใช้สโลแกนหาเสียงว่า "เปลี่ยนกรุงเทพ เราทำได้"
สำหรับประวัติการศึกษา "ดร.เอ้" จบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จบปริญญาโท นโยบายและเทคโนโลยี Massachusetts Institute of Technology (MIT), สหรัฐฯ ส่วนปริญญาโทอีกใบจาก วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) The University of Wisconsin-Madison, สหรัฐฯ และปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) Massachusetts Institute of Technology (MIT), สหรัฐฯ
เป็นศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของไทยตอน อายุ 37 ปี เป็นอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศด้วยวัยเพียง 43 ปี จากโปรเจกต์จบปริญญาตรีเรื่องงานวิจัยออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของไทย สู่การเป็น 1 ในทีมผู้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของไทย
นอกจากนี้ ยังเคยเป็นนายกวิศวกรรมสถานแห่งชาติแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 7 สมัย และเป็นชาวอาเซียนเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลระดับโลก Eisenhower Fellows 2013 ด้านวิศวกรรมเทคโนโลยี ในฐานะผู้นำยุคใหม่ของโลก
ขณะเดียวกันเป็นผู้นำทีมก่อสร้างโครงการ “แก้มลิงใต้ดิน” แห่งแรกในไทย ณ วัดมังกรกมลาวาส แก้ปัญหาน้ำท่วมเพื่อคนกรุงเทพฯโดยเฉพาะได้รับฉายาว่า “The Disruptor เมืองไทย” มีแฮชแท็กประจำตัวว่า #จะทำก็ทำได้
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า ก.ท.ม. คนปัจจุบัน
โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 30 (นรต.30) จบหลักสูตรการบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 16 และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 45 อัศวิน ได้ชื่อว่าเป็นนายตำรวจมือปราบฝีมือดีคนหนึ่ง เคยผ่านคดีสำคัญ ๆ ระดับชาติมาแล้วหลายคดี อาทิ คดีสังหารนายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น (โจ ด่านช้าง), คดีคาร์บอมบ์รถอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, คดีจับกุมนายประชา โพธิพิพิธ (กำนันเซี๊ยะ), คดีจับกุมนายนพพล ประสงค์ศิล (จิ๊บ ไผ่เขียว) และคดีวิสามัญฆาตกรรมนายชาญชัย ประสงค์ศิล (โจ๊ก ไผ่เขียว) เป็นต้น
ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่า "อัศวินปิดจ๊อบ" เนื่องจากมีผลการทำงานที่ดุดัน รวดเร็ว และ "มือปราบไผ่เขียว" และยังได้รับผลโหวตจากการสำรวจความคิดเห็นจากเอแบคโพลด้วยว่า เป็นนายตำรวจที่เป็นตำรวจมือปราบ ที่ประชาชนรู้สึกชื่นชอบและบรรเทาเหตุอาชญากรรมได้มากที่สุด
ภายหลังอัศวินเกษียณอายุราชการ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ดูแลงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และเทศกิจ
วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 16 จนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าเขาเป็นนายตำรวจไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้ และมีผลงานเปลี่ยนกรุงเทพ ฯ ด้วยนโยบาย "ผลักดันทันใจ แก้ไขทันที" และ "NOW ทำจริง เห็นผลจริง"ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาทิ สร้างอุโมงค์ระบายน้ำหนองบอน, สร้างโครงข่ายถนนสายหลักแนวตะวันตก-ตะวันออก, เปิดโรงพยาบาลคลองสามวา เร่งสร้างโรงพยาบาล กทม. ทุกมุมเมือง, สร้างแก้มลิงใต้ดิน Water Bank แก้ปัญหาน้ำท่วมปากซอยสุทธิพร 2 วงเวียนบางเขน และเพิ่มกล้อง CCTV ทั่วกรุง ฯ ติดตั้งใหม่ 20,217 ตัว เป็นต้น
หน้าตาว่าที่ผู้ว่า ก.ท.ม. ในรอบนี้มีดีกรีความรู้ความสามารถดีทีเดียว อยู่ที่ชาวกรุงเทพฯเป็นผู้ตัดสินเลือกพ่อเมือง เพื่อนำพาให้เมืองหลวงแห่งนี้มีระบบการจัดการที่ดีและพัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป