11 กันยายน 2564
3,335

“2 ทศวรรษ เหตุการณ์ 9/11 บทเรียนราคาแพงที่โลกไม่ลืม”

“2 ทศวรรษ เหตุการณ์ 9/11   บทเรียนราคาแพงที่โลกไม่ลืม”
Highlight :

เป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษหลังจากที่เหตุการณ์ 9/11 หรือโศกนาฏกรรมที่โลกไม่มีวันลืม ผู้ก่อการร้ายได้ทำการจี้เครื่องบินโดยสารโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก  มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน โอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนั้น แม้เหตุการณ์ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่บทเรียนที่โลกได้รับสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย 

1. การเดินทางทางอากาศใช้เวลายาวนานขึ้นทั่วโลกในการตรวจเช็คอิน
2. ผลสำรวจชาวอเมริกันยังหวาดผวาในการเดินทางกลัวการก่อการร้าย
3. สหรัฐถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานอาจเกิดความเสี่ยงการก่อการร้ายอีกครั้ง


วินาศกรรม 9/11 โลกตะลึง

เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2001 หรือวันนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เกิดโศกนาฏกรรมที่โลกไม่มีวันลืม ผู้ก่อการร้ายได้ทำการจี้เครื่องบินโดยสารจำนวน 4 ลำ และบังคับให้พุ่งชนเป้าหมาย 4 แห่งในสหรัฐ โดย 2 ลำแรกโจมตีตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก เครื่องบินลำแรกชนเข้ากับอาคารด้านเหนือในเวลา 08.46 น. ตามด้วยอาคารด้านใต้ถูกพุ่งชน เมื่อเวลา 09.03 น. และทั้งสองอาคารถล่มลงภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา 

ส่วนลำที่ 3 โจมตีเพนตากอน หรือกระทรวงกลาโหมสหรัฐที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนีย และลำที่ 4 เชื่อกันว่ามีเป้าหมายถล่มอาคารรัฐสภาสหรัฐ หรือทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่แผนการล้มเหลว เนื่องจากผู้โดยสารพากันขัดขืนและต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย ทำให้เครื่องบินตกลงในทุ่งแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย

โอซามา บิน ลาเดน และกลุ่มอัลกออิดะห์ อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนี้ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 3,000 คน จนตามมาด้วยกองกำลังสหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรบุกอัฟกานิสถานในที่สุด

ย้อนอดีต มูลเหตุการก่อการร้ายถล่มตึกเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

กลุ่มอัลกออิดะห์ นำโดยโอซามา บิน ลาเดน ได้วางแผนโจมตีสหรัฐจากอัฟกานิสถาน เนื่องจากเขามีความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐให้การสนับสนุนอิสราเอล ซึ่งเป็นศัตรูของชาติอาหรับ และการที่สหรัฐนำทหารเข้าประจำการในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถือเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม รวมทั้งการที่สหรัฐมีมาตรการลงโทษอิรัก

การก่อเหตุวินาศกรรมครั้งแรกต่อตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เกิดขึ้นในปี 1993 โดยมือระเบิดฆ่าตัวตายขับรถบรรทุกระเบิดวิ่งเข้าชนอาคารดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บร่วม 1,000 ราย

ต่อมาบิน ลาเดนวางแผนโจมตีสหรัฐอีกครั้งในปี 2001 โดยใช้ผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบิน 19 คน แบ่งเป็น 4 ทีม แต่ละทีมมีสมาชิกที่ขับเครื่องบินเป็น 1 คน โดยพวกเขาเรียนขับเครื่องบินในสหรัฐ ในบรรดาคนร้าย เป็นชาวซาอุดีอาระเบียจำนวน 15 คน รวมถึงบิน ลาเดนเอง และ 2 คนมาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนอีก 2 คนเป็นชาวอียิปต์และเลบานอน

ผลกระทบจากเหตุการณ์ 9/11

ผู้เสียชีวิตรวม 2,977 ราย (ไม่นับผู้ก่อเหตุจี้เครื่องบิน 19 ราย) แบ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือบนเครื่องบิน 4 ลำจำนวน 246 ราย ผู้ที่อยู่ในตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ 2,606 ราย และที่อาคารเพนตากอน 125

ราคาตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต้องปิดทำการตั้งแต่วันที่ 11-16 กันยายน 2001 และเมื่อตลาดกลับมาเปิดอีกครั้ง ดัชนีดาวโจนส์ได้ทรุดตัวลงถึง 685 จุด หรือ 7.1% ภายในวันเดียว

มีการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในช่วง 2-4 สัปดาห์แรกหลังเหตุการณ์ 9/11 สูงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่คาดว่าผู้ก่อการร้ายมีค่าใช้จ่ายในการวางแผนและปฏิบัติการโจมตีราว 500,000 ดอลลาร์

ความเสียหายต่อเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์และอาคารข้างเคียง รวมทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานและรถไฟใต้ดินคิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์

มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายฉุกเฉินที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2001 คิดเป็นมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์

มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินที่สภาคองเกรสให้การอนุมัติคิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์

ค่าชดเชยที่ผู้ทำประกันเรียกร้องจากบริษัทประกันภัยคิดเป็นมูลค่า 9.3 พันล้านดอลลาร์

"บุช" สั่งกองทัพลุยอัฟกานิสถาน หวังตามล่า บิน ลาเดน

ไม่ถึงเดือนหลังเหตุการณ์ 9/11 ในปี 2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สั่งกองทัพสหรัฐบุกอัฟกานิสถาน โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) พร้อมกับเป้าหมายในการกำจัดกลุ่มตาลีบัน ซึ่งเชื่อกันว่าให้ที่พักพิงและฝึกฝนแก่กลุ่มอัลกออิดะห์ รวมทั้งตามล่าบิน ลาเดน ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ 9/11

ชาวอเมริกันต่างพร้อมใจให้การสนับสนุนประธานาธิบดีบุชในขณะนั้น ซึ่งผลสำรวจพบว่า เขาได้รับคะแนนนิยมสูงถึง 90% ซึ่งถือเป็นคะแนนนิยมสูงสุดตลอดกาลสำหรับประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ดี แม้ใช้ความพยายามอย่างหนัก แต่สหรัฐต้องใช้เวลาถึง 10 ปีในการประสบความสำเร็จในการล่าตัวและสังหารบิน ลาเดนที่ปากีสถานเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐก็ยังคงกำลังทหารอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป เนื่องจากเชื่อว่ามีความจำเป็นในการกวาดล้างกลุ่มหัวรุนแรง และรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

ฝันร้าย 9/11 ยังคงตามหลอนชาวอเมริกัน

ผลสำรวจของแกลลัพระบุว่า ชาวอเมริกันยอมรับว่า 9/11 ยังคงมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา แม้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี

ผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันจำนวน 26% ปฏิเสธที่จะขึ้นเครื่องบิน, 27% ไม่กล้าไปยังอาคารสูง, 36% มีความหวาดกลัวที่จะต้องเดินทางไปยังต่างประเทศ, 37% รู้สึกวิตกที่จะเข้าร่วมงานที่มีผู้คนจำนวนมาก, 36% กังวลว่าตนเองจะตกเป็นเหยื่อของการก่อการร้าย

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันมีความเชื่อมั่นลดลงต่อความสามารถของรัฐบาลสหรัฐในการปกป้องประชาชน

“ไบเดน" สั่งถอนทหารจากอัฟกานิสถาน จุดปะทุกลุ่มหัวรุนแรงคืนชีพ

หลังจากที่สหรัฐได้คงกำลังทหารในอัฟกานิสถานนานเกือบ 20 ปี ซึ่งถือเป็นการทำสงครามในต่างแดนของสหรัฐที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดี โจ ไบเดนก็ได้ประกาศถอนกองทัพสหรัฐทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานในเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดี ไบเดนระบุสาเหตุการถอนกำลังทหารว่า เนื่องจากสหรัฐได้บรรลุภารกิจในการสังหารบิน ลาเดนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงกำลังทหารในอัฟกานิสถานอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐประหยัดงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปี 

นอกจากนี้ สหรัฐไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ในอัฟกานิสถาน เนื่องจากแม้แต่กองกำลังอัฟกันเองก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะปกป้องประเทศของตนเองจากการรุกคืบของกลุ่มตาลีบัน

หลายฝ่ายเตือนระวังซ้ำรอย 9/11 หลังตาลีบันทวงคืนอำนาจและเพิกเฉยต่อการช่วยเหลืออัฟกานิสถาน

การตัดสินใจถอนกำลังทหารสหรัฐ ทำให้กลุ่มตาลีบันกลับมามีบทบาททางการเมืองในอัฟกานิสถานอีกครั้ง ส่งผลให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจะกลับมามีอำนาจ และเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของโลก

นายคาลิด นูร์ อดีตเจ้าหน้าที่เจรจาสันติภาพของรัฐบาลอัฟกานิสถาน กล่าวว่า เหตุการณ์ 9/11 อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง หากโลกเพิกเฉยต่อสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน

นายนูร์กล่าวว่า ประชาคมโลกเคยทำสิ่งที่ผิดพลาดในการไม่ยอมยื่นมือช่วยเหลืออัฟกานิสถาน หลังจากที่กองทัพโซเวียตถอนกำลังทหารในปี 1989 ซึ่งหากโลกยังคงเมินเฉยต่ออัฟกานิสถานอีกครั้ง กลุ่มก่อการร้ายก็จะปรากฏตัวขึ้น และวางแผนการโจมตีทั่วโลก

"หากประชาคมโลกทำผิดพลาดซ้ำซากเหมือนในอดีต สงครามและการก่อการร้ายก็จะไปถึงตัวพวกเขาอีกครั้ง และจะเป็นอีกครั้งที่พวกเขาจะได้เห็นเหตุการณ์เหมือน 9/11 และนี่เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ 9/11 ผ่านมาแล้วถึง 2 ทศวรรษ แต่โลกก็ยังคงไม่ได้พบกับสันติภาพที่แท้จริง และการที่สหรัฐได้ประกาศถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ก็ยิ่งกระพือความวิตกว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะหวนกลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง”นายนูร์กล่าว

ทั้งนี้ นายนูร์เคยเป็นสมาชิกคณะผู้แทนของรัฐบาลอัฟกานิสถานในการเจรจากับกลุ่มตาลีบันในเดือนกรกฎาคม 2019

นายโมอีด ยูซูฟ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติปากีสถาน กล่าวเช่นกันว่า ประชาคมโลกไม่ควรโดดเดี่ยวอัฟกานิสถาน มิฉะนั้นจะเกิดภาวะสุญญากาศด้านความมั่นคงภายในประเทศ รวมทั้งจะเกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรม

"หากโลกเมินเฉยต่ออัฟกานิสถาน โดยไม่ยอมสนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็กำลังทำความผิดพลาดซ้ำรอยที่เคยเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990" นายยูซูฟกล่าว

"ปากีสถานไม่ได้ต้องการบอกโลกว่าควรหรือไม่ควรสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน แต่ปากีสถานหวังว่านานาประเทศควรมีความสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อให้เป็นรัฐบาลที่ไม่มีนโยบายสุดโต่ง และเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งป้องกันการส่งออกลัทธิก่อการร้ายจากแผ่นดินอัฟกานิสถาน"

นายยูซฟ กล่าว

วินาศกรรม 9/11 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการบินไปตลอดกาล 

ความหวาดระแวงการก่อการร้าย สร้างความกังวลให้อุตสาหกรรมการบินและการเดินทางทั่วโลก ที่ต้องผ่านมาตรการตรวจสอบเข้มข้นก่อนการเดินทางเพื่อป้องกันเหตุร้าย

จะเห็นได้ว่าแม้เหตุการณ์นี้ผ่านมานานถึง 20 ปี แต่ทุกคนยังตระหนักและตื่นตัวในเรื่องก่อการร้ายอยู่เสมอ  เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับความเข้มข้นในการตรวจสอบการเดินทางในแต่ละสนามบินเป็นระยะๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อ  15 กรกฎาคม 2017 พนักงานที่เคาน์เตอร์เช็คอินของสายการบิน Etihad Airways ในสนามบินซิดนีย์ ปฏิเสธที่จะนำกระเป๋าเดินทางที่ทั้งใหญ่และหนัก ของผู้โดยสารคนหนึ่งที่จะเดินทางไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE

การตัดสินใจของพวกเขาอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัย ที่นำมาใช้หลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักสัมภาระ ขนาดและรูปทรง รวมถึงการตรวจสอบสัมภาระที่โหลดใต้ท้องเครื่อง

พวกเขาไม่รู้เลยว่า การกระทำเช่นนั้น ช่วยขัดขวางการวางระเบิดที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม IS ไว้ได้ เนื่องจากกระเป๋าสัมภาระที่ เอเมอร์ คายาต ครอบครองนั้น มีระเบิดซุกซ่อนอยู่ เขาถูกจับเมื่อเดินทางถึงเลบานอน โดยคาเล็ดและมาห์มูด พี่น้องของเขาในออสเตรเลีย ถูกตัดสินว่ามีความผิด ฐานแอบวางระเบิดไว้ในกระเป๋าของเอเมอร์ โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดชนวนระเบิดกลางอากาศ

รัฐบาลสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สั่งห้ามนักเดินทางจากบางเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ไม่ให้พกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากเกรงว่าอาจมีการซุกซ่อนวัตถุระเบิดขึ้นเครื่องบิน

เหตุการณ์ในซิดนีย์ รวมถึงการห้ามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นตัวอย่างที่อุตสาหกรรมการบินยกระดับความปลอดภัย และเป็นความพยายามระดับโลกในการขัดขวางการก่อการร้าย หลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินสี่ลำ และบังคับให้บินชนตึกสูง คร่าชีวิตผู้โดยสาร 246 คน รวมถึงคนบนภาคพื้นดินกว่า 2,731 คน ซึ่งเป็นการโจมตีที่เลวร้ายที่สุดบนผืนแผ่นดินสหรัฐฯ

เหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดมาตรการรักษาความปลอดภัยแบบใหม่ ที่ในตอนแรกนักท่องเที่ยวต่างคิดว่ายุ่งยาก แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นความเคยชิน ขณะที่ปี 2018 อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวขึ้น ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 1.4 พันล้านคน

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ถึงอย่างนั้นแล้ว ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายไม่ได้หายไปไหน อีกทั้ง มาตรการในยุคโควิด-19 นำไปสู่การกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติม ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมความปลอดภัยในการบินอีกครั้ง และอาจดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงหลังเหตุการณ์ 9/11

มาตรการที่เพิ่มขึ้น ท้าทายพื้นที่สนามบินที่มีอย่างจำกัด ผู้โดยสารต้องทดเวลาเพิ่มขึ้นในการตรวจเช็คต่างที่สนามบิน รวมถึงมีผลกระทบต่อการออกแบบสนามบิน โดยเฉพาะการคัดกรองสัมภาระที่จุดเช็คอิน ซึ่งกลายเป็นข้อบังคับไปโดยปริยาย

สนามบินที่ทันสมัย เช่น ฮ่องกง มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการเข้าตรวจสอบสัมภาระผู้โดยสาร  แต่ในสนามบินที่สร้างมานานแล้ว กลับเป็นไปได้ยากที่จะติดตั้งเครื่องตรวจสอบดังกล่าว ในขณะเดียวกัน สนามบินบางแห่งปรับปรุงหรือขยายอาคารผู้โดยสารเก่า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบใหม่นี้

สิ่งที่ตามมาคือผู้โดยสารมีเวลาเหลือเฟือ และจำนวนผู้คนในเขตปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการจัดสรรพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร และร้านค้า รวมถึงที่พักต่าง ๆ

การก่อการร้ายยังไม่สูญสิ้น

20 ปีหลังเกิดวินาศกรรม นอกจากมาตรการรักษาความปลอดภัยในสนามบินมีความรัดกุมมากขึ้น โอกาสที่จะตรวจพบแผนก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผ่านการทำประวัติ สำหรับการครอบครองอาวุธและวัตถุระเบิด รวมถึงการตรวจสอบเอกสารการเดินทางที่ถูกขโมยหรือปลอมขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีช่องโหว่บางประการ เนื่องจากระดับความปลอดภัยในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันไป
 
มีผู้กล่าวว่า เป้าหมายของผู้ก่อการร้าย ที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบจะไม่มีวันหายไป แต่พวกเราสามารถสกัดกั้นไม่ให้ผู้ก่อการร้าย ใช้ประโยชน์จากส่วนนั้นได้

ผู้ก่อการร้ายมักมองหาโอกาสในการโจมตีสร้างความเสียหาย เพื่อบ่มเพาะความหวาดกลัว เพราะฉะนั้นสนามบินจึงต้องตื่นตัวอยู่เสมอ แม้ในช่วงเวลาที่มองว่าโอกาสเกิดภัยคุกคามเกิดขึ้นได้น้อยก็ตาม

การเดินทางที่ต้องใช้เวลามากขึ้นในตรวจสอบต่างๆ ยังมีเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังตรวจสอบเพิ่มขึ้นอีก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
 
แม้ว่า มาตรการจัดการโรคระบาด ทำหน้าที่เป็นอีกขั้นหนึ่งในการตรวจสอบและติดตาม ซึ่งจะทำให้การเดินทางทางอากาศเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม แต่สุดท้ายแล้ว นักเดินทางต่างยอมรับมาตรการดังกล่าว ว่าเป็น new-normal สำหรับการเดินทางทางอากาศอย่างปลอดภัย

ในอนาคต นักเดินทางต้องยอมรับความไม่สะดวกของการเดินทางทางอากาศในยุคโรคระบาด โดยเฉพาะหากการบินในปัจจุบัน มีความจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิม และไม่ใช่เพียงความหรูหรา
 
ในขณะที่ภัยก่อการร้ายก็ไม่สามารถองข้ามได้ จากเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานล่าสุด อย่างน้อยคำเตือนต่างๆก็สร้างความกังวลให้ชาวโลกไม่น้อย  ความเข้มงวดในการเดินทางทางอากาศยังคงเข้มข้นต่อไป 

BBC News, TNN World News, RYT9

https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3147891/september-11-changed-aviation-security-forever-will-covid-19

 

 

ติดต่อโฆษณา!