09 มีนาคม 2564
1,978

"ไต้หวัน" จุดประเด็น จีน-สหรัฐฯ รอบใหม่ ยุคไบเดน

"ไต้หวัน" จุดประเด็น จีน-สหรัฐฯ รอบใหม่ ยุคไบเดน
Highlight

รัฐบาลปักกิ่งยังคงมีความหวังว่า สหรัฐฯ และจีนจะยังคงมีโอกาส "พบกันครึ่งทาง" และ "ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่มีเหตุผล" ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและยกระดับความร่วมมือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา


1. คำเตือนแรงๆ จากรัฐบาลจีน

นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรมว.การต่างประเทศจีน กล่าวนอกรอบการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ( เอ็นพีซี ) ที่มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง เมื่อต้นเดือน มีนาคม ที่ผ่านมา ว่า 

รัฐบาลปักกิ่งยังคงมีความหวังว่า สหรัฐและจีนจะยังคงมีโอกาส "พบกันครึ่งทาง" และ "ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่มีเหตุผล" ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูและยกระดับความร่วมมือตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
 
พร้อมกับกล่าวถึง "ความสนับสนุน" ของสหรัฐที่มีต่อไต้หวัน ด้วยการย้ำหลักการจีนเดียว "เป็นเส้นตายที่ข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด" และทุกประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน "ไม่มีโอกาสของการเจรจา" 

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลปักกิ่งจึงขอเน้นอีกครั้งไปยังรัฐบาลวอชิงตันชุดใหม่ ว่าเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน "มีความละเอียดอ่อนสูงมาก" ตอนนี้สหรัฐฯ จึงไม่ควรเดินบน "เส้นทางอันตราย" ด้วยการ "ล้ำเส้นและเล่นกับไฟ"

2. การโต้ตอบจากสหรัฐฯ

แอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า จีนคือ "ความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุด" ในทางภูมิรัฐศาสตร์

3. ทำไม ไต้หวัน จึงจะเป็นตัวแปร สร้างปัญหา จีน - สหรัฐฯ ?

1. จีนและไต้หวันต่างมีรัฐบาลของตัวเอง นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองในจีนสิ้นสุดลงในปี 1949 รัฐบาลปักกิ่งได้พยายามที่จะจำกัดกิจกรรมระหว่างประเทศของไต้หวันมาเป็นเวลานาน และทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขันกันเพื่อมีอิทธิพลในภูมิภาคแปซิฟิก

2. มีเพียงไม่กี่ชาติที่ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าไต้หวันเป็นประเทศเอกราช แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันก็มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการและความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายประเทศ

3. เช่นเดียวกับชาติส่วนใหญ่ สหรัฐฯ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน แต่กฎหมายของสหรัฐฯ กำหนดให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือไต้หวันในการป้องกันตัวเองได้

เพราะช่วงก่อนหน้าทศวรรษที่ 70 สหรัฐฯ รับรองไต้หวันว่าเป็นจีนเดียว (สาธารณรัฐจีน) แต่ด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ จึงหันมารับรองจีนแผ่นดินใหญ่แทน (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ว่าเป็นจีนเดียวและให้ไต้หวันพ้นสถานะสมาชิกสหประชาชาติ พร้อมกับที่จีนเเข้ามานั่งเก้าอี้ดังกล่าวแทน 

แม้ว่าสหรัฐฯ จะตัดสัมพันธ์ทางการกับไต้หวัน แต่ก็ยังมีสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการที่แนบแน่น แต่สหรัฐฯ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปไต้หวันเพราะจะทำให้จีนโกรธเคือง

จนกระทั่งรัฐบาลทรัมป์ยูเทิร์นโยบาย 360 องศา ทำการส่งเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีไปไต้หวันครั้งแรกในรอบหลายสิบปีและยังแสดงท่าทีสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นทางการต่างๆ นานา เห็นได้ชัดว่าเพื่อแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีน

4. ท่าทีของสหรัฐฯ ยุคไบเดน

นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังคงสนับสนุน "นโยบายจีนเดียว"

คำยืนยันดังกล่าวมีขึ้นหลังจากรัฐบาลของ ปธน.ไบเดนได้แสดงออกชัดเจนถึงการสนับสนุนไต้หวันที่กำลังเผชิญหน้ากับการกดดันทางทหารจากจีน นอกจากนี้ ตัวแทนของไต้หวันในสหรัฐฯ ยังได้เข้าร่วมพิธีสาบานตนของ ปธน.ไบเดนเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้รับเชิญอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ เปลี่ยนการรับรองทางการทูตจากไต้หวันไปเป็นจีนในปี 2522

5. ประเด็นเรื่องการปกครองตนเองของไต้หวัน
เป็นหนึ่งในความท้าทายใหญ่ที่ ปธน.ไบเดน ต้องเผชิญ โดยจีนอ้างอธิปไตยทั้งหมดเหนือไต้หวัน แม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะปกครองแยกกันมานานกว่า 70 ปี โดยจีนมองว่า การที่เรือรบสหรัฐฯ แล่นผ่านช่องแคบไต้หวันในยุคการปกครองของ ปธน.ไบเดน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นการยั่วยุ และกระตุ้นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน

การดำเนินนโยบายระหว่างสหรัฐฯ และจีนของ ปธน.ไบเดนถูกจับตาอย่างใกล้ชิด หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนของโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวและมีการเผชิญหน้ากับจีนในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงประเด็นสงครามการค้า, เทคโนโลยี, ประเด็นในฮ่องกงและไต้หวัน, ปัญหาสิทธิมนุษยชน และการแผ่อิทธิพลในทะเลจีนใต้

สัมพันธ์สามเส้า สหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน จะเป็นอย่างไรในยุคไบเดน พัฒนาการนี้จะส่งผลต่อเอเชียแค่ไหน คอยดูกันต่อไป

ติดต่อโฆษณา!