26 กุมภาพันธ์ 2567
326

ชาวจีนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เหตุค่าเลี้ยงดูแพง สะเทือนตลาดแรงงาน

ชาวจีนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก เหตุค่าเลี้ยงดูแพง สะเทือนตลาดแรงงาน

สถาบันวิจัยประชากร “อวี้วา” (Yuwa Population Research Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของจีน เปิดเผยว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับ GDP ต่อหัว

รายงานระบุว่าค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรหนึ่งคนจนถึงอายุ 18 ปีเมื่อแยกตามประเทศต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้ 

  • จีนสูงกว่ามูลค่า GDP ต่อหัว 6.3 เท่า 
  • ออสเตรเลียสูงกว่ามูลค่า GDP ต่อหัว 2.08 เท่า 
  • ฝรั่งเศสสูงกว่ามูลค่า GDP ต่อหัว 2.24 เท่า
  • สหรัฐอเมริกาสูงกว่ามูลค่า GDP ต่อหัว 4.11 เท่า 
  • ญี่ปุ่นสูงกว่ามูลค่า GDP ต่อหัว 4.26 เท่า

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูบุตรในประเทศจีนจนถึงอายุ 18 ปีอยู่ที่ 538,000 หยวน (ราว 2.73 ล้านบาท) และหากเป็นเด็กที่เติบโตในเมือง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นเป็น 667,000 หยวน (ราว 3.38 ล้านบาท)

นอกจากนี้ รายงานระบุว่าการเลี้ยงดูบุตรในประเทศจีนยังส่งผลให้ผู้หญิงมีชั่วโมงทำงานลดลงและได้รับค่าจ้างน้อยลง ในขณะที่ความเป็นอยู่ของผู้ชายส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม 

ต้นทุนเสียโอกาส ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับมารดาที่มีลูก โดยจากการสำรวจระหว่างปี 2010 - 2018 พบว่า เวลาต่อสัปดาห์ที่ผู้ปกครองต้องใช้ในการช่วยทำการบ้านของลูกวัยเรียนชั้นประถมศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 3.67 ชั่วโมงเป็น 5.88 ชั่วโมง ทำให้มารดาประสบกับการสูญเสียชั่วโมงการทำงานและเวลาว่าง ส่งผลต่อรายได้ประมาณหนึ่ง

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจ คือ สภาพแวดล้อมทางสังคมของจีนในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการมีบุตรของผู้หญิงจีน จึงทำให้ค่าเสียเวลาและค่าเสียโอกาสสำหรับผู้หญิงในการมีบุตรสูงเกินไป 

นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น การคลอดบุตรมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงความยากลำบากสำหรับผู้หญิงในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวกับการทำงาน ยังส่งผลให้ค่าเฉลี่ยความเต็มใจในมีบุตรของชาวจีนแทบจะต่ำที่สุดในโลก

เมื่อปีที่แล้วจำนวนประชากรของจีนลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ส่วนจำนวนการเกิดในปี 2023 อยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของตัวเลขเมื่อปี 2016

ก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อว่ารัฐบาลจีน จะมีนโยบายอะไรออกมาเพื่อสนับสนุนการมีบุตรหรือไม่ เพราะโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป อาจจะส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อขีดความสามารถของประเทศจีนที่ปัจจุบันยังพึ่งพาภาคการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ


ติดต่อโฆษณา!