22 ธันวาคม 2563
1,800

“ASEAN DAY 2020” สู่วิถีใหม่ ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน

Highlight
วันอาเซียน หรือ ASEAN Day คืออะไร
มีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงต้องมีการจัดงานฉลองในโอกาสนี้ทุกๆ ปี คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากอาเซียนบ้าง เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามเหล่านี้ คำถามใดคำถามหนึ่งอยู่ในใจบ้าง



"อาเซียน" หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในความตึงเครียดอย่างมาก อันเป็นผลมาจากสงครามเย็นและความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ระหว่างประเทศที่สนับสนุนอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับประเทศที่ยึดมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดย ฯพณฯ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในขณะนั้น ได้เสนอแนวคิดที่จะให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถควบคุมทิศทางการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ และกำหนดอนาคตของตนเองได้อย่างแท้จริง รวมทั้งยังเป็นการช่วยรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของ พ.อ.(พิเศษ) ถนัด ซึ่งเป็นทั้งนักการทูตและผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในบิดาผู้ให้กำเนิดอาเซียน ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วมกันลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) ที่พระราชวังสราญรมย์ เพื่อก่อตั้งอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศจัดงานวันอาเซียน เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 53 ปี ของการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งในปีนี้เน้นการจัดงานแบบวิถีใหม่ มีการเว้นระยะห่างทางสังคม กิจกรรมสำคัญในงานครั้งนี้คือ การเชิญธงอาเซียนขึ้นสู่ยอดเสาและการสัมมนาวิชาการผ่านระบบออนไลน์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาเซียน ภายใต้หัวข้อ “อาเซียน : สู่วิถีใหม่ ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน ?” 

นางสาวอุศณา พีรานนท์ อธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในแต่ละปีอาเซียนมีการเดินทางไปประชุมระหว่างกันมากกว่า 300 การประชุม แต่ปัจจุบันการประชุมเหล่านั้นก็ปรับเปลี่ยนมาโดยใช้รูปแบบของการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจอาเซียนก็หันมาใช้การติดต่อซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพูดถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น Telemedicine ซึ่งเป็นการเอาระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามผู้ติดเชื้อต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เป็นความร่วมมือของอาเซียนในการปรับตัวเข้าสู่ยุควิถีใหม่

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การต่อสู้กับโรคระบาดครั้งนี้จะใช้เวลานานและไม่ง่าย หากแต่ความร่วมมือระดับภูมิภาคและทั่วโลกเท่านั้น จึงจะทำให้เราสามารถ ‘พลิกฟื้นกลับมาได้แบบแข็งแกร่งกว่าเดิม’ และเปลี่ยนวิกฤติที่มืดมิดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นโอกาสแห่งอนาคตที่สดใสตลอด 53 ปีที่ผ่านมา อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการรักษาสันติภาพในภูมิภาค ซึ่งช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความสัมพันธ์อันดีในระดับประชาชน
ติดต่อโฆษณา!