12 มิถุนายน 2565
6,903

ส่อง 10 อันดับเมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลกปี 2022

ส่อง 10 อันดับเมืองค่าครองชีพแพงสุดในโลกปี 2022
Highlight

ECA International จัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพแพงสุดในโลกประจำปี 2022  ปรากฎว่า “ฮ่องกง” รั้งตำแหน่งแชมป์ถึง 3 ปีซ้อน ทั้งที่ประสบปัญหาต่างๆทั้ง การระบาดของ Covid-19 และการเมือง แต่ราคาที่พักกลับไม่ลดลงเลย และฮ่องกงยังคงเป็นศูนย์กลางทางเงินในภูมิภาค หนุนด้วยความก้าวหน้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี


ECA International บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลระดับโลก ได้เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงสุดในโลกประจำปี 2022 จากการสำรวจ 207 เมืองใน 120 ประเทศและเขตการปกครองทั่วโลก ซึ่งผลออกมาว่า ‘ฮ่องกง’ ยังคงครองแชมป์เมืองที่มีค่าครองชีพแพงสุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 3 

โดยวัดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น การแข็งค่าของสกุลเงิน ราคาสินค้าจำเป็นในครัวเรือน เช่น อาหาร นม น้ำมันปรุงอาหาร ค่าเช่าที่พัก ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค  และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การสำรวจค่าใช้จ่ายของชาวต่างชาติที่มาลงหลักปักฐานอยู่ในต่างแดน (Expat)

เป็นที่น่าสนใจว่าเมืองจากทวีปเอเชียติดโผในลิสต์ดังกล่าวถึง 5 เมือง ได้แก่ ฮ่องกง โตเกียว เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และโซล และหากนับรวมเมืองเทลอาวีฟของอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศตะวันออกกลางมาอยู่ในกลุ่มเอเชียด้วยนั้น ก็จะถือว่าชาติจากเอเชียติดโผมาถึง 6 ใน 10 อันดับ

แม้ว่าฮ่องกงจะบอบช้ำจากเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย และสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย แต่ราคาค่าที่พักไม่ได้ลดลงเลย ทั้ง ๆ ที่ในทางทฤษฎีปัจจัยเหล่านี้น่าจะทำให้อุปสงค์ด้านที่พักอาศัยลดลง ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเพราะฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งเอเชีย และเป็นแกนหลักในโครงการ Greater Bay Area หรือ GBA ที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม เทคโนโลยีทันสมัย เป็นจุดบ่มเพาะสตาร์ทอัพทีสำคัญทั้งของจีนและของโลก จึงยังดึงดูดนักลงทุนทำให้ฮ่องกงยังคงยืนหนึ่งอยู่ได้ 

ส่วนกรุงเทพมหานคร ร่วงลงมา 13 อันดับ จากเดิมซึ่งอยู่ที่อันดับ 34 ในปีที่แล้ว มาอยู่ที่อันดับ 47 ในปีนี้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในภาพรวม

กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา รั้งตำแหน่งเมืองที่มีอันดับก้าวกระโดดมากที่สุด โดยขยับขึ้นสูงถึง 23 อันดับ จากเดิมที่อันดับ 162 เมื่อปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่อันดับ 149 ในปีนี้ ท่ามกลางปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายของประเทศ

สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะพบว่า สปป.ลาว กับเมียนมา ไม่ติดอันดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกือบ 10% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา สวนทางกับสกุลเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมาก 

โดย สปป.ลาว กำลังประสบปัญหาการส่งออกไปจีนลดลง รวมถึงต้องชำระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่วนเมียนมาเผชิญปัญหาค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าจากสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2564
 
ขณะที่สิงคโปร์อยู่อันดับดีที่สุดคือ 13 ส่วนมาเลเซียกับไทย ต้องรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันโดยมาเลเซียเพิ่มขึ้น 49% และไทย 33% แต่ยังมีผลดีคือ ราคาค่าเช่าที่พักอาศัยถูกลง

นักวิเคราะห์ชี้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีส่วนสัมพันธ์กันในลักษณะนี้ มีส่วนผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมืองอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ทำให้ถูกมองว่าเมืองใหญ่ในประเทศทั้งสองมีค่าครองชีพที่ไม่แพงมากสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้อันดับของมาเลเซียตกลงไปอยู่ที่ 163 ส่วนไทยตกลงไป 13 อันดับ อยู่ที่ 47

ติดต่อโฆษณา!