24 เมษายน 2565
1,655

IMF เตือนเอเชียเตรียมรับมือเศรษฐกิจทรุดเหตุสงครามยืดเยื้อ จีนป่วยจากโควิดระลอกใหม่สะเทือนทั้งภูมิภาค

IMF เตือนเอเชียเตรียมรับมือเศรษฐกิจทรุดเหตุสงครามยืดเยื้อ จีนป่วยจากโควิดระลอกใหม่สะเทือนทั้งภูมิภาค
Highlight

เมื่อสงครามยังไม่จบ เราก็ยังคงได้รับผลกระทบไปเรื่อยๆ จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ก่อนหน้าภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ชื่อว่า เป็นพื้นที่ห้างไกลสงคราม ถึงจะกระทบก็น้อยกว่าที่อื่น แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด จีน ซึ่งเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาค โดนโควิดโจมตีระลอกใหม่ต้องล็อคดาวน์ไปหลายเมือง เมื่อจีนป่วยเอเชียก็ป่วยเช่นกัน ทำให้ IMF ออกมาเตือนเพราะหลายประเทศเริ่มมีหนี้สาธารณะสูงขึ้น มีความเสี่ยงเรื่องค่าเงินอ่อนค่า


แอนน์-มาเรีย กอล์ด-วูล์ฟ (Anne-Marie Gulde-Wolf) รักษาการผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเตือนประเทศในภูมิภาคให้เตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบจากปัญหาสงครามยูเครน และการระบาดระลอกใหม่ของโควิดในจีน ที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของเอเชียหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้น

กอล์ด-วูล์ฟกล่าวว่าปัจจัยปัญหาทั้งสองประการข้างต้นกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนต่อการฟื้นตัวและเติบโตของเอเชีย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ IMF จะปรับลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียโดยรวมลงจาก 5.4 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเติบโตของจีน  ลดลงจาก 4.8 เปอร์เซ็นต์ มาอยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์
 
สำหรับสิ่งที่น่ากังวลสำหรับหลายชาติทั่วเอเชียก็คือ ภาวะเงินเฟ้อ ที่ทำให้หลายประเทศต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันของสินค้าราคาแพง ยกเว้นประเทศจีน ที่ทางผู้แทนจาก IMF ยอมรับว่ามีนโยบายทั้งทางการเงินและคลังที่ดีมากมายเพียงพอที่จะจัดการกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นได้
 
ขณะเดียวกันชาติในเอเชียยังเจอแรงกดดันจากการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่หันมารัดเข็มขัดมากขึ้นด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อาจก่อกระแสทุนไหลออกจากภูมิภาค

อย่างไรก็ตามในภาพรวมประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียค่อนข้างรับมือกับสถานการณ์ได้ดี และมีการเตรียมพร้อมมากกว่าอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเงินสำรองคงคลังที่อยู่ในระดับดี รวมถึงมีกรอบนโยบายการเงินที่ชัดเจนและรัดกุม ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจของชาติเอเชียจึงค่อนข้างเป็นไปในทางบวก กอล์ด-วูล์ฟกล่าว

อย่างไรก็ตามความท้าทายของชาติในเอเชียก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้สาธารณะ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับแรงกดดันของอัตราแลกเปลี่ยน ที่การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย

วันเดียวกันมีรายงานจากบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้จะมีสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจจีนยังสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้

เดเรก ซิสเซอร์ส (Derek Scissors) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัย China Beige Book กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับภาวะติดขัดและอุปสรรคขัดขวางมากมาย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ปัญหาที่ต้องวิตกแต่อย่างใด เพราะอยู่ในระดับที่จีนรับมือไหว
 
ขณะที่ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์อีกส่วนหนึ่ง เศรษฐกิจจีนไม่ถือว่าดีสักเท่าไรนัก แต่ก็อยู่ในสภาพที่สามารถทนได้ สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญไว้ลำดับแรกสุดก็คือ การจัดการโควิด เพราะหากมีการระบาดถึงคนรากหญ้า คนกลุ่มนี้ก็ไม่อาจยืนหยัดอยู่ได้แน่นอน

ริชาร์ด เยตเซนกา (Richard Yetsenga) นักวิเคราะห์ของ ANZ กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนสามารถจัดการกับโควิดได้อยู่หมัด เศรษฐกิจจีนโดยรวมย่อมสามารถกลับมาแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพได้

ด้าน วินนี วู (Winnie Wu) นักกลยุทธ์หลักทรัพย์จีนของ Bank of America Securities กล่าวว่า ปัจจัยท้าทายของจีนขณะนี้มี 3 ประการด้วยกัน หนึ่งคือการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่จะต้องไม่กระทบต่อการคมนาคมขนส่ง สองคือความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงเรื่อยๆ และสุดท้ายคือการส่งออกจีนที่หลายโรงงานผลิตกำลังเผชิญกับปัญหาด้านซัพพลายเชนอยู่ในเวลานี้

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเซี่ยงไฮ้ปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 2 ปี เหตุล็อกดาวน์คุมโควิด

นายอู๋ จินเฉิง ประธานหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเซี่ยงไฮ้ร่วงลงในเดือนมี.ค. 7.5% เมื่อเทียบรายปี โดยเป็นการปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 หลังมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดส่งผลให้การผลิตในบางโรงงานหยุดชะงัก

นายอู๋กล่าวว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกิจกรรมทางอุตสาหกรรมของเมือง ทำให้ผลผลิตในเดือนมี.ค.ปรับตัวลง 7.5% เมื่อเทียบรายปี” พร้อมเสริมว่า ขณะที่การเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.8% เมื่อเทียบรายปี

ทั้งนี้ เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดถึง 25 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการผลิตขั้นสูง โดยเป็นที่ตั้งของโรงงานจำนวนมาก รวมถึงโรงงานของเทสลา, บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ป (SMIC) และเป็นสำนักงานใหญ่ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของบริษัทต่างชาติมากมาย

ในปี 2564 ผลผลิตมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมของเซี่ยงไฮ้แตะที่ 1 ล้านล้านหยวน (1.5461 แสนล้านดอลลาร์) เป็นครั้งแรก และเป็นสถิติสูงสุดของทุกเมืองทั่วประเทศ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า สำนักงานประจำเซี่ยงไฮ้ของคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและประกันภัยของจีน (CBIRC) เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (21 เม.ย.) ว่า จะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยฟื้นฟูการผลิตในเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่เซี่ยงไฮ้รับมือกับโรคโควิด-19 ระลอกล่าสุดด้วยการล็อกดาวน์

อ้างอิง : 

https://asia.nikkei.com/Economy/IMF-cuts-emerging-Asia-growth-estimate-on-war-COVID-lockdowns

https://www.msn.com/en-us/money/markets/imf-downgrades-asias-growth-forecast-due-to-ukraine-war-and-covid-surge-in-china/vi-AAWoj79

ติดต่อโฆษณา!