23 เมษายน 2565
1,361

การท่องเที่ยวโลกคาด ยอดนักท่องเที่ยวตะลอนทัวร์ทะลุ 300 ล้านคนในปีนี้ ไม่หวั่นโควิดระบาด!

การท่องเที่ยวโลกคาด ยอดนักท่องเที่ยวตะลอนทัวร์ทะลุ 300 ล้านคนในปีนี้ ไม่หวั่นโควิดระบาด!
Highlight

สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลกคาดการเดินทางและท่องเที่ยวโลกจะกลับไปสู่จุดเดิมก่อนโควิดระบาดได้ในปีหน้า โดยคาดว่าจะมีการเติบโตถึง 5.8% ต่อปี สูงกว่า จีดีพีโลกเฉลี่ยที่ 2.7% โดยคาดจะมีการเดินทางท่องเที่ยวถึง 300 ล้านคนในปีนี้ จีดีพีการท่องเที่ยวพุ่งแตะ 8.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านไทยเตรียมพร้อมทุกด้านและกำลังเข้าสู่ช่วงการปรับโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น แม้ยอดติดเชื้อต่อวันยังสูงกว่า 40,000 ราย รวมการตรวจแบบ ATK


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 ว่า สภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council: WTTC) กล่าวในรายงานที่เผยแพร่ระหว่างการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมในกรุงมะนิลาว่า ภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวทั่วโลกคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดในปี 2566 และเติบโตในอัตราที่จะแซงหน้าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โลก 

โดยอุตสาหกรรมนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.8% ต่อปี จากปี 2565-2575 เทียบกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ทั่วโลก 2.7% และสร้างงานใหม่ 126 ล้านตำแหน่ง 

โดยในปี 2562 การท่องเที่ยวคิดเป็น 1 ใน 10 ของ GDP และการจ้างงานทั่วโลก แต่การระบาดของไวรัสโคโรน่าได้ทำลายล้างอุตสาหกรรมมูลค่า 9.6 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงครึ่งหนึ่ง และทำให้มีผู้ว่างงาน 62 ล้านคน

จูเลีย ซิมป์สัน ประธาน WTTC กล่าวว่า การฟื้นตัวจะเป็นตัวเอกมากจนสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศของจีนอีกครั้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลทุกแห่งเปิดพรมแดนอีกครั้ง นโยบาย " ZERO COVID " ของจีนและการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องได้ขัดขวางการค้าโลกและการเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ GDP ของอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวพุ่งแตะ 8.35 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 9.6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด ตำแหน่งงานด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะฟื้นตัวเป็น 300 ล้านคนในปีนี้ และ 324 ล้านคนในปี 2566 ซึ่งใกล้เคียงกับ 333 ล้านคนในปี 2562 

ซึ่งเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกเพียงอย่างเดียว GDP ของอุตสาหกรรมการบริการน่าจะแตะ 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่า 3.3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2019 แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับอเมริกาเหนือและยุโรป การเดินทางในเอเชียแปซิฟิกยังคงล้าหลัง เนื่องจากข้อจำกัดด้านพรมแดนที่เข้มงวดในหลายประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เดินทางกำลังเดินทางกลับโดยเครื่องบิน เนื่องจากมีการยกเลิกการเข้าประเทศและกฎการกักกันโรคโควิด-19 แต่การฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์จะช้า 

ไทยยกเลิกมาตรการตรวจ RT-PCR ต่างชาติแห่เข้าประเทศกว่าหมื่นคนต่อวัน

ไทยคลายล็อก เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยยกเลิกมาตรการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 มีผลให้จำนวนผู้เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และทำให้สนามบินสุวรรณภูมิ คึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง

ทั้งนี้จากการรายงานข่าวของ ThaiPBS ในวันที่ 4 เมษายน ภายหลังการผ่อนคลายกฎการเข้าประเทศ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พบว่า มีผู้เดินทางเข้าไทยเพิ่มจำนวนจากวันละ 6,000-7,000 คนก่อนหน้า เป็น 11,000-12,000 คน และมีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น

ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะผ่อนคลายการเข้าประเทศแบบไม่ต้องตรวจ RT-PCR นาย Bill Heinecke ผู้ก่อตั้งและประธาน ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งกล่าวติติงถึงความยุ่งยากซับซ้อนของระบบการเข้าเมืองของไทย กล่าวว่า การผ่อนคลายกฏเป็นความจำเป็นที่ไทยต้องประคับประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้
 
“ถ้าเราไม่เปิดใจ เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ขณะนี้กฎการเข้าประเทศมีความซับซ้อนเกินไป ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ถึง 10% ของช่วงก่อนโควิด และประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย 10 ล้านคนในปี 2565 เรากำลังตามไม่ทัน แม้แต่เพื่อนบ้านของเราด้วยซ้ำ” นาย Heinecke กล่าว
 
ทั้งนี้ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ในรูปแบบ ‘ไม่กักตัว’ และ ‘ไม่จำกัดพื้นที่’ รองรับความต้องการช่วงไฮซีซันซึ่งเป็นฤดูทำเงินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวช่วงปลายปี ซึ่งผลตอบรับก็ถือว่าดีเยี่ยม อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีเม็ดเงินเข้ามาล่อเลี้ยงคนในอุตสาหกรรม ทว่ายังมีเสียงกร่นด่าถึงความซับซ้อนของระบบ Test & Go ในบางประการ 

ไทยสูญเสียรายได้ ถึง 5 ล้านล้านบาท ใน ช่วง 2 ปีที่โควิดระบาด 

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า หลังจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สูญโอกาสสร้างรายได้การท่องเที่ยวจากวิกฤติโควิด-19 เกือบ 5 ล้านล้านบาท สมาคมฯมองว่าปีนี้ประเทศไทยไม่ควรเสียโอกาสอีก! หลังเห็น “โมเมนตัม” หรือแรงส่งการฟื้นตัวที่ดีขึ้น 

หวังว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงไฮซีซั่นไตรมาส 4 ปีนี้ ให้กลับมาดีเท่ากับไตรมาส 4 ในปีปกติ ซึ่งถือเป็นกรณีการฟื้นตัวที่ดีที่สุด (Best Case Scenarios) หากทุกประเทศประกาศให้โควิด-19 เป็น “โรคประจำถิ่น” สามารถควบคุมการระบาดทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง

ในเวทีการอภิปรายเรื่อง “ไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม ลีดเดอร์ชิป ซัมมิต 2022” ในช่วงต้นเดือนมีนาคม เหล่าผู้นำในวงการโรงแรมและท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ร่วมกันถกถึงอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจโรงแรมทั่วโลกในยุค Next Normal รวมถึงเรียกร้องรัฐบาลเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน มาริสา มองว่า “ควรยกเลิกระบบไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) และ Test & Go ให้ Let it Go  เพราะเป็นทางออกที่จะช่วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้อยู่รอดและฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด”

ตัวแทนโรงแรมไทยร้องรัฐบาลช่วยผ่อนคลายกฎหวังดึงนักท่องเที่ยวกลับ

เหล่าตัวแทนผู้บริหารโรงแรมชั้นนำในงานนี้ต่างก็ “ประสานเสียง” ว่ารัฐบาลไทยควรยกเลิกระบบ Test & Go ด้วยเช่นกัน ผ่านการปรับลดเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และคงเงื่อนไขที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ การมีใบรับรองฉีดวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทาง ไม่ต้องมีการตรวจหาเชื้ออีกเมื่อเดินทางมาถึงไทย เพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้การเดินทางเข้าไทยเป็นเรื่องง่ายขึ้น

โดยในขณะนั้นหลายๆ ประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มรูปแบบ เช่น สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, มัลดีฟส์, นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกัมพูชา

อย่างไรก็ตามข้อเสนอเหล่านั้น รัฐบาลได้ผ่อนคลายตามคำขอไปหมดแล้ว และเหลือรอปลดล็อคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งรอความพร้อมจากกระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมโรคเสียก่อน 

ส่วนเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2565 ที่ 10 ล้านคน จากยอดนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนโควิดที่ 40 ล้านคนเมื่อปี 2562  แต่ปัญหาสงครามยูเครน-รัสเซียซ้ำเติม จนเป้าลดเหลือราว 4-5 ล้านคน ในปีนี้

สเตฟาน ฟานเดน อาวาเล หัวหน้าคณะกลุ่มโรงแรม บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวเสริมว่า วิกฤติรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้สายการบินต้องเปลี่ยนเส้นทางบินและใช้เวลาบินนานขึ้นอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เมื่อกฎเกณฑ์ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยยากอยู่แล้ว พอมีสถานการณ์ตึงเครียดเช่นนี้ ยิ่งทำให้เดินทางมาไทยยากขึ้นไปอีก

“อย่างไรก็ตามภาคเอกชนท่องเที่ยวและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน มองหาโอกาสในการเติบโต แสดงให้โลกเห็นว่าประเทศไทยยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก”

คลาเรนซ์ ตัน รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนา ฮิลตัน โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท บอกว่า จากวิกฤติต่างๆ ที่ผ่านมา อาทิ วิกฤติต้มยำกุ้ง สึนามิ และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง พบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่พอเป็นวิกฤติโควิด-19 กลับฟื้นตัวได้ช้ามาก! ส่งผลต่ออัตราการเข้าพักโรงแรมไม่ได้สวยหรูเหมือนเคย แม้จะหวังพึ่งตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศไทย แต่ก็ยังฟื้นตัวช้าอยู่ดี ต่างจากตลาดท่องเที่ยวในประเทศของจีนและอินเดียที่ฟื้นตัวรวดเร็ว

พราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท พราว กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีสินค้าบริการท่องเที่ยวที่โดดเด่น เช่น หาดทรายชายทะเล แต่ตอนนี้ทะเลสวยๆ มีอยู่ทั่วโลก สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือการสร้างความแตกต่างด้วย “เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เช่น การจัดอีเวนท์ และคอนเสิร์ต เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง!

บุน ควี ลิ้ม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ในยุคระหว่างและหลังโควิด-19 ผู้ประกอบการโรงแรมจำเป็นต้อง “อัพสกิล” แรงงานท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมดึงดูด “คนรุ่นใหม่” เข้ามาทำงานในวงการท่องเที่ยวมากขึ้น แสดงให้พวกเขาเห็นถึงศักยภาพและอนาคตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยว่าสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาแรงงานและธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

หากข้อเสนอต่างๆถูกปลดล็อคไปหมดแล้ว ต้องมาดูว่าบรรดานักท่องเที่ยวจะกลับมาไทยอย่างเมื่อก่อนหรือไม่ สำหรับสถานการณ์ของไทยในปัจจุบันคือมียอดผู้ติดเชื้อใหม่สูงกว่า 40,000 รายทุกวัน (รวมผลตรวจ ATK) ในขณะที่โควิด-19 ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ในหลายประเทศทั่วโลกและวนกลับมา โดยไม่หยุดการระบาด 

อ้างอิง : https://www.reuters.com/world/the-great-reboot/global-tourism-recover-pandemic-by-2023-post-10-year-growth-spurt-2022-04-21/, Thai PBS

ติดต่อโฆษณา!