04 มีนาคม 2565
2,293

โลกกังวล หวั่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครนระเบิด หลังรัสเซียยิงโจมตีอย่างหนัก

โลกกังวล หวั่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครนระเบิด หลังรัสเซียยิงโจมตีอย่างหนัก
Highlight

รัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 4 มี.ค. ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานในสัดส่วน 25% ของยูเครน หากเสียหายจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในอดีต 10 เท่า เชอร์โนบิล ระเบิดในปี 2529 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก 36 ปีผ่านไป  ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ วอนรัสเซียหยุดโจมตีโรงไฟฟ้า


ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.65  รัสเซียได้โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ยูเครน อย่างต่อเนื่อง โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองอีเนอร์โกดาร์ แคว้นซาปอริซเซีย โอบลาสท์ คาดหากเสียหายจะเกิดภัยพิบัติร้ายแรงกว่า เชอร์โนบิล ในอดีต 10 เท่า 

นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนได้แสดงความกังวล หลังจากกองกำลังทหารของรัสเซียบุกโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ในเมืองอีเนอร์โกดาร์ของยูเครน และส่งผลให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดเพลิงไหม้

“หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียระเบิด มันจะใหญ่กว่าเชอร์โนบิล 10 เท่า” นายคูเลบากล่าว โดยเขาระบุถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของยูเครนในปี 2529 ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก

20220304-a-01.jpeg

ภาพการโจมตี ทหารรัสเซียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ของยูเครนเมื่อ 4 มี.. 65 (ภาพ:รอยเตอร์)

นายคูเลบากล่าวว่า กองกำลังทหารของรัสเซียได้ระดมยิงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียจากทุก ๆ ด้าน พร้อมกับเรียกร้องให้ทหารรัสเซียหยุดยิงทันที เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้เข้าไปควบคุมสถานการณ์

ด้านสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( IAEA ) เปิดเผยว่า IAEA ได้รับทราบเหตุการณ์โจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียในยูเครนแล้ว และขณะนี้ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อประเมินสถานการณ์

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียมีเตาปฏิกรณ์ 6 ตัว และตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตพลังงานในสัดส่วน 25% ของยูเครน

หน่วยงานของยูเครนรายงานก่อนหน้านี้ว่า กองกำลังทหารรัสเซียพยายามรุกคืบเพื่อที่จะยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ และได้นำรถถังเข้ามาในเมืองอีเนอร์โกดาร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าว

ไบเดน วอนรัสเซียหยุดโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้เรียกร้องให้รัสเซียยุติการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia) ในยูเครน หลังจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดเพลิงลุกไหม้ ซึ่งส่งผลให้หลายฝ่ายวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมทั้งวิตกว่าปฏิบัติการรุกรานยูเครนภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ปธน.ไบเดนได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ ซาเลนสกี ผู้นำเครน เพื่อรับทราบสถานการณ์คืบหน้าเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย โดยผู้นำสหรัฐและยูเครนต่างก็เรียกร้องให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถเข้าถึงโรงไฟฟ้าแห่งนี้

รัสเซีย-ยูเครน เจรจา จัดตั้ง “แนวกันชนมนุษยธรรม” 

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายมิไคโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาหัวหน้าสำนักประธานาธิบดีของประเทศยูเครนได้โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า รัสเซียกับยูเครนตกลงจัดตั้ง “แนวกันชนมนุษยธรรม” เพื่อใช้เป็นเส้นทางอพยพพลเรือนในการเจรจารอบสองที่ประเทศเบลารุสเมื่อ 3-มี.ค. 

นายวลาดิเมียร์ เมดินสกี หัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับประเด็นทางทหาร ประเด็นด้านมนุษยธรรม และการยุติความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคตในการเจรจาเมื่อวานนี้

จุดยืนในเรื่องต่าง ๆ มีความชัดเจนอย่างยิ่ง … เราสามารถบรรลุความเข้าใจกันได้ในบางเรื่อง” นายเมดินสกีกล่าว พร้อมระบุว่า การสร้างแนวกันชนมนุษยธรรมคือ “ความก้าวหน้าครั้งสำคัญ”

ทั้งนี้ สื่อยูเครนรายงานว่า นายโปโดลยักเปิดเผยในการแถลงข่าวว่า การเจรจาสันติภาพรอบที่ 3 อาจเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ว่า “การเจรจาใด ๆ” ก็สมเหตุสมผลทั้งสิ้น

รัสเซียยึด “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อ 24 ก.พ. 65

ในครั้งนี้กองกำลังรัสเซียเข้ายึดควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.65 ซึ่งเป็นโรไฟฟ้านิวเคลียร์ร้าง เผยมีเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าถูกจับเป็นตัวประกัน

กองกำลังรัสเซียเข้ายึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ทางตอนเหนือของยูเครนได้สำเร็จ โดยยึดได้ตั้งแต่ 24 ก.พ. ซึ่งเป็นวันแรกที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน และมีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าถูกจับไว้เป็นตัวประกันด้วย

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล มีชื่อทางการว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์วลาดิเมียร์ เลนิน สร้างแล้วเสร็จในปี 1977 สมัยที่สหภาพโซเวียตยังไม่ล่มสลาย แต่เกิดหายนะในปี 1986 เมื่อปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 เกิดระเบิด ทำให้อาคารระเบิดเป็นเสี่ยง และมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีน้อยกว่า 100 ราย แต่มีผลพวงระยะยาวต่อผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงพื้นที่โดยรอบ โดยเฉพาะการเกิดโรคมะเร็ง และต้องมีการอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เชอร์โนบิลมากกว่า 100,000 คน

หลังเกิดเหตุ โรงไฟฟ้ายังคงทำงานต่อด้วยปฏิกรณ์ 3 เครื่องที่เหลือ และยุติการทำงานถาวรในปี 2000 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน เชอร์โนบิลตั้งอยู่ในเขตเมืองพริเพียตของยูเครน เรื่องราวเคยถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ชื่อดัง พื้นที่บางส่วนของเชอร์โนบิลกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ แต่ทั้งนี้ คาดการณ์กันว่า กัมมันตรังสีที่รั่วไหลมาจากเหตุระเบิดครั้งนั้น จะถูกกำจัดได้หมดในปี 2065

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดียูเครน โวโลดีเมียร์ เซเลนสกี เคยเตือนว่า กองกำลังรัสเซียกำลังพยายามเข้าควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

“กองกำลังยึดครองของรัสเซียกำลังพยายามยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เจ้าหน้าที่ของเรากำลังเสียสละชีวิตของพวกเขาเพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอยปี 1986  นี่เป็นการประกาศสงครามกับทั้งยุโรป” เซเลนสกี กล่าว

ด้านกระทรวงการต่างประเทศยูเครนก็แสดงความเห็นด้วย “ในปี 1986 โลกได้เห็นหายนะทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ที่สุดในเชอร์โนบิล หากรัสเซียยังคงทำสงครามต่อไปโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลก็สามารถเกิดขึ้นได้อีกครั้งในปี 2022”

20220304-a-02.jpg

เมืองปริปยัต ใกล้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่เกิดระเบิด กลายเป็นเมืองร้างมานานกว่า 30  ปี (ภาพ: AP)

ย้อนอดีต ภัยพิบัติโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชอร์โนบิล ระเบิด เมื่อปี 1986

ปีนี้ครบรอบ 36 ปี การระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เชอร์โนบิล ทางเหนือของประเทศยูเครน เมื่อปี 1986 ซึ่งทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง และเปลี่ยนมุมมองของโลกที่มีต่อพลังงานนิวเคลียร์ไปตลอดกาล

ตอนนี้ผ่านมาแล้ว 36 ปี จากหายนะในครั้งนั้น ความรู้สึกหวาดกลัวได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ภัยมืดจากผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี ยังทำร้ายชีวิตผู้คนที่อาศัยใกล้เมืองเชอร์โนบิล เด็กจำนวนมากเกิดมาพร้อมกับโรคแต่กำเนิด หรือโรคมะเร็งหายาก ขณะที่การปฏิบัติจากภาครัฐทำให้ผู้ได้รับผลกระทบเริ่มรู้สึกว่า พวกเขาถูกทางการทอดทิ้งแล้ว

อาลีโอนา เชฟต์โซวา ที่ปรึกษาผู้บัญชาการกองกำลังภาคพื้นดินของยูเครนกล่าวว่า ขณะนี้ กองกำลังรัสเซียยังคงเข้าควบคุมโรงไฟฟ้าและ "จับเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน"

ด้าน มิคาอิโล โปโดลยัก ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า ยูเครนสูญเสียอำนาจการควบคุมเขตเชอร์โนบิลไปหลังจาก "การต่อสู้ที่ดุเดือด"

เขาเสริมว่า ปัจจุบัน ไม่ทราบว่า สภาพของโรงเก็บกากนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเป็นเช่นไรบ้าง โดยเกรงว่าจะเกิดการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมา "หลังจากการโจมตีของรัสเซียอย่างไร้เหตุผล เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าเชอร์โนบิลปลอดภัย ... นี่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดต่อยุโรปในปัจจุบัน"

จุดเริ่มต้นมหันตภัยนิวเคลียร์ครั้งร้ายแรงที่สุดในโลก

ภัยพิบัติเชอร์โนบิล เริ่มขึ้นจากการที่วิศวกรทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็น และระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ แต่การทดสอบล่าช้าจนถึงช่วงกลางคืน ก่อนเกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนทำให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอมละลาย และเกิดระเบิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 26 เม.ย. 1986

ผลจากการระเบิด ทำให้เกิดขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีพวยพุ่งขึ้นสู่บรรยากาศยาวนานถึง 10 วัน ขี้เถ้าปกคลุมทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต, ยุโรปตะวันออก, ยุโรปตะวันตก และยุโรปเหนือ พื้นที่กว่า 200,000 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 71% ของประเทศเบลารุส, รัสเซีย และยูเครน ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ทำให้ทางการของทั้ง 3 ประเทศต้องอพยพประชาชนรวมกว่า 336,000 คนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ขณะที่พื้นที่รัศมี 30 กม. รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย (exclusion zone)

เหตุระเบิดครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีหลังเกิดระเบิด จำนวน 31 คน โดยเป็นคนงานภายในโรงงานเชอร์โนบิล ขณะที่ รายงานในการประชุม 'เชอร์โนบิล ฟอรัม' ในปี 2005 ระบุว่า ในอนาคตอาจมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีอีกกว่า 4,000 คน

ผลกระทบต่อสุขภาพยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน

เป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า กัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนอย่างไร ที่เห็นชัดที่สุดคือการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์ ซึ่งหายาก โดยการศึกษาของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์แห่งสหประชาชาติ (UNSCEAR) ในปี 2005 พบว่ามีเด็กและผู้เยาว์ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์มากถึง 6,000 ราย

UNSCEAR ยังชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าจะเกิดข้อบกพร่องทางพันธุกรรมในระยะยาว โดยพบทารกที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในปีแรกๆ หลังเหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิล

ในปัจจุบัน แม้ระดับการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในหลายพื้นที่จะลดระดับลงมา แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังถูกพบเห็นในประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เขตอันตราย โดย ดร.เรเชล เฟอร์เลย์ กุมารแพทย์ชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ 'สะพานสู่เบลารุส' (Bridges to Belarus) ระบุว่า เธอเคยทำคลอดหญิงที่สัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีหลายรายในเมืองโกเมล ของ เบลารุส และพบว่ามีเด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับความพิการ ทารกคนหนึ่งเกิดมามี 2 หัว

ดร.เฟอร์เลย์ ยังพบด้วยว่า ในหมู่เด็กกว่า 800 คนในเมืองโกเมล ที่มูลนิธิของเธอให้การดูแล กว่าครึ่งป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ทั้งที่ตลอดชีวิตการทำงานในอังกฤษของเธอ เธอพบผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์เพียง 2 คนเท่านั้น

ด้าน ศาสตราจารย์คอนสแตนติน โลกานอฟสกี จากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งชาติยูเครน ผู้ศึกษากผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีต่อสุขภาพในระยะยาว ก็ออกมาเปิดเผยว่า กัมมันตภาพรังสีมีผลกระทบต่อเซลล์ประสาท

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการพิสูจน์แล้วว่าเซลล์ประสาทแบ่งตัว ดังนั้นมันจึงเสี่ยงอันตรายจากกัมมันตภาพรังสีมาก โดยเฉพาะเซลล์ในส่วนฮิปโปแคมปัส และสมองส่วนหน้า ซึ่งทำให้เกิดความบกพร่องต่างๆ เช่น ความบกพร่องทางสติปัญญา, ทางพฤติกรรม, ทางความคิด และทางอารมณ์ ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า จนกระทั่งฆ่าตัวตายได้" ศาสตราจารย์โลกานอฟสกี กล่าว

"แน่นอนว่าผู้สะสางสารกัมมันตภาพรังสีขั้นสุดท้าย (ที่เชอร์โนบิล จำนวนกว่า 500,000 คน), ผู้อพยพ, และเด็กๆ ได้รับกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงสุด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าคนเหล่านี้ส่งต่อผลกระทบไปยังลูกของพวกเขา หรือส่งต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน"

อ้างอิง : สกู้ปไทยรัฐ-เซอร์โนบิล,CNN, AP

ติดต่อโฆษณา!