22 กุมภาพันธ์ 2565
1,556

สงครามใกล้ปะทุ รัสเซียรับรองเอกราช 2 รัฐกันชนในพื้นที่ยูเครน สหรัฐฯ-อียู คว่ำบาตรทันที

สงครามใกล้ปะทุ รัสเซียรับรองเอกราช 2 รัฐกันชนในพื้นที่ยูเครน สหรัฐฯ-อียู คว่ำบาตรทันที
Highlight

สถานการณ์ใกล้เข้าสู่ภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตึงเครียดทั้งยุโรป ดันราคาน้ำมันสูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้ง ราคาทองคำวิ่งทะลุ 1,900 เหรียญต่อออนซ์ หลังจากรัสเซียเซ็นลงนามรับรองเอกราช โดเนสต์-ลูฮันสก์ ดินแดนที่แยกตัวออกมาจากยูเครน ก่อนหน้ามีเหตุปะทะสู้รบตามแนวชายแดน สหรัฐฯ-อียูคว่ำบาตรทันที นักลงทุนทิ้งหุ้นซุกเงินในสินทรัพย์ปลอดภัย


ยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ความขัดแย้ง รัสเซีย-ยูเครน จะจบลงแบบไหน แต่รัสเซียได้ออกมาจรดปากกาลงนามให้การรับรองความเป็นเอกราช 2 พื้นที่ในแคว้นดอนบัสของยูเครน คือ ลูฮันสก์ และ โดเนตสก์เมื่อเร็วๆ นี้ 

รัสเซียลงนามรับรองเอกราช 2 แคว้นขบถยูเครน

แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า “วลาดีเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ลงนามรับรองสถานะความเป็นรัฐอิสระในพื้นที่โดเนสต์-ลูฮันสก์ พร้อมกับสั่งให้กองทหารเข้าประจำการเพื่อทำหน้าที่ “รักษาสันติภาพ” ในภูมิภาคดอนบัสของยูเครน ที่ยึดครองโดยกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน

ต่อไปนี้คือความหมายโดยนัยที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งสหรัฐฯระบุว่ารัสเซียอาจพร้อมที่จะบุกยูเครนด้วยกำลังทหารมากถึง 190,000 นาย ที่มีการระดมกำลังไว้ตามชายแดนประเทศเพื่อนบ้านต่าง ๆ

รู้จักโดเนสต์-ลูฮันสก์ภูมิภาคที่แยกตัวออกมาจากยูเครน

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียในพื้นที่โดเนสต์-ลูฮันสก์ในภูมิภาคดอนบัสได้แยกตัวออกมาจากการควบคุมของรัฐบาลยูเครนเมื่อปี 2557 และประกาศตนเป็น “สาธารณรัฐประชาชน” ที่เป็นอิสระ แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้รับการประกาศยอมรับ

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยูเครนเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสู้รบประมาณ 15,000 ราย ขณะที่รัสเซียปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้ แต่ได้สนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางทหารอย่างลับ ๆ การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน, การจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการออกหนังสือเดินทางของรัสเซียอย่างน้อย 800,000 ฉบับให้กับผู้อยู่อาศัย นอกจากนี้ ทางการรัสเซียปฏิเสธโดยตลอด เรื่องการวางแผนบุกยูเครน

การรับรองของรัสเซียหมายถึงอะไร ?

เป็นครั้งแรกที่รัสเซียกล่าวว่า รัสเซียไม่ถือว่าดอนบัสเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน ซึ่งอาจเป็นการปูทางให้ทางการรัสเซียส่งกองกำลังทหารเข้าไปยังดินแดนที่แบ่งแยกได้อย่างเปิดเผย โดยใช้เหตุผลว่ารัสเซียเข้าแทรกแซงในฐานะพันธมิตรเพื่อปกป้องดินแดนแห่งนี้จากยูเครน

“อเล็กซานเดอร์ โบโรได” สมาชิกรัฐสภารัสเซียและอดีตผู้นำการเมืองในโดเนสต์ ให้สัมภาษณ์รอยเตอร์เมื่อเดือนที่แล้วว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจะพึ่งพารัสเซีย เพื่อให้ช่วยพวกเขาแย่งชิงอำนาจจากกองกำลังยูเครน หากเป็นเช่นนั้น อาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน

20210222-a-01.jpg
ภาพจาก  BBC News

รัสเซียเคยให้การรับรองลักษณะนี้มาก่อนหรือไม่ ?


ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยให้การรับรองอิสรภาพของอับคาเซีย และเซาท์ออสซีเชีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาแบ่งแยกดินแดนในจอร์เจีย การรับรองของรัสเซียในครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากรัสเซียสู้รบกับจอร์เจียในช่วงสั้น ๆ เมื่อปี 2551 โดยรัสเซียได้สนับสนุนงบประมาณกับพื้นที่ดังกล่าว พร้อมให้สัญชาติรัสเซียกับประชากรในพื้นที่ และให้ทหารเข้าไปประจำการหลายพันนาย

สมาชิกนาโต้ของยูเครน

ในประเด็นความสนใจเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน ปูตินกล่าวว่า “หากยูเครนเข้าร่วมนาโต้ จะถือเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อความมั่นคงของรัสเซีย ยูเครนไม่ทำตามข้อตกลงที่เคยให้ไว้ในปี 1994 ว่าจะไม่เข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรตะวันตก”

ผลได้ผลเสียสำหรับรัสเซีย

ในกรณีของจอร์เจีย รัสเซียใช้การรับรองพื้นที่แบ่งแยกเพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของกองทัพในประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เป้าหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้จอร์เจียเข้าร่วมนาโต คล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับยูเครน ในแง่ผลได้ผลเสีย ทางการรัสเซียต้องเผชิญการคว่ำบาตรและการประณามจากนานาประเทศ ที่ละทิ้งข้อตกลงสันติภาพมินสก์ หลังจากรัสเซียให้คำมั่นมานานว่าจะดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว นอกจากนี้รัสเซียยังต้องแบกความรับผิดชอบทั้ง 2 พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสงครามนาน 8 ปี และต้องให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ อย่างไม่มีกำหนด

กระทบข้อตกลงมินสก์อย่างไร ?

การรับรองของรัสเซียได้ทำลายข้อตกลงสันติภาพมินสก์ ระหว่างปี 2557-2558 ซึ่งแม้จะยังไม่มีการดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่ทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงทางการรัสเซีย เคยเห็นพ้องต้องกันว่า ข้อตกลงนี้เป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ ข้อตกลงมินสก์ยังเรียกร้องให้มีการให้อิสระแก่ทั้งสองเมืองในยูเครนด้วย

ยูเครนออกแถลงการณ์

ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ออกแถลงการณ์ทั่วประเทศตั้งแต่เช้าตรู่ตามเวลาท้องถิ่นของยูเครน (22 ก.พ.)  ย้ำว่า ยูเครนไม่ได้เป็นหนี้อะไรต่อใคร และยูเครนจะไม่ยอมมอบอะไรให้แก่ใครทั้งนั้น หลังประธานาธิบดีปูติน ประกาศรับรองเอกราชให้สองแคว้นที่อยู่ในดินแดนการยึดครองของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนในยูเครน และยังส่งทหารเข้ามาด้วย

โดยผู้นำยูเครนย้ำว่า ยูเครนอยู่ในดินแดนของตนเอง และไม่กลัวอะไร ไม่กลัวใครทั้งนั้น ซึ่งความเคลื่อนไหวของรัสเซียนั้นเป็นการละเมิดบูรณภาพดินแดนและอธิปไตยของยูเครน

20210222-a-02.jpg
ภาพจาก  BBC News

สหรัฐ-อียู คว่ำบาตรรัสเซียทันที

สหรัฐ-อียู ประกาศคว่ำบาตรรัสเซียทันที ยูเอ็นเอสซี ประชุมฉุกเฉินวิกฤตยูเครน
การลงนามรับรองอิสรภาพของดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย 

ทำให้พันธมิตรชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อรัสเซียทันที แม้ว่ากองทัพรัสเซียจะยังไม่ได้เคลื่อนไหวใดๆ หลังปูตินมีคำสั่งให้กองทัพธำรงไว้ซึ่งสันติภาพในยูเครนตะวันออก ที่ถูกมองว่าเป็นการปูทางไปสู่การรุกรานยูเครนในเร็ววัน

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะลงนามในคำสั่งผู้บริหารเพื่อห้ามการลงทุนใหม่ทางด้านการค้าและการเงินในภูมิภาคดังกล่าว รวมถึงต่อใครก็ตามที่มุ่งมั่นจะดำเนินการในพื้นที่นั้นของยูเครน โดยมาตรการนี้จะแยกออกจากมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งสหรัฐกำลังเตรียมการอยู่ในกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน

ขณะที่ในแถลงการณ์ร่วมของเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานรัฐสภายุโรป ระบุว่า การกระทำของปูตินถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และสหภาพยุโรป (อียู) จะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรได้ขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เรียกประชุมฉุกเฉินในช่วงค่ำวันจันทร์นี้ตามเวลาในสหรัฐ หรือช่วงเช้าวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในไทย

เหตุปะทะเมื่อวันจันทร์ ก่อนที่ปูตินจะลงนามรับรองรัฐกันชน

สถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งผู้นำชาติยุโรปกล่าวกันว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามสันติภาพในยุโรปครั้งร้ายแรงที่สุดนับแต่สงครามเย็น ส่งผลให้ตลาดหุ้นมอสโกร่วงลงถึง 10% ในวันจันทร์

ในคำกล่าวหาของกองทัพรัสเซียระบุว่า ทหารปะทะและฆ่าชาวยูเครน 5 คน ที่แทรกซึมเข้ามาก่อวินาศกรรมในแคว้นรอสต็อกของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนที่ฝ่ายกบฏควบคุมอยู่ ก่อนหน้านั้นในวันเดียวกัน สำนักงานความมั่นคงกลางของรัสเซียอ้างว่า ปืนใหญ่ลูกหนึ่งยิงโจมตีสถานอำนวยความสะดวกชายแดนของตนที่รอสต็อก พร้อมกับเผยแพร่ภาพความเสียหาย

ทางการยูเครน ที่กังวลว่ารัสเซียกำลังสร้างข้ออ้างเพื่อหาความชอบธรรมในการรุกราน รีบปฏิเสธคำกล่าวหาเหล่านี้ของรัสเซียทันที

ดมิโตร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน ปฏิเสธผ่านทวิตเตอร์ว่า ไม่จริง ยูเครนไม่ได้โจมตีโดเนตสค์ หรือลูฮานสค์, ไม่ได้ส่งมือก่อวินาศกรรมหรือยานลำเลียงพลหุ้มเกราะข้ามชายแดนรัสเซีย, ยิงปืนใหญ่โจมตีดินแดนของรัสเซีย, ยิงปืนใหญ่ข้ามชายแดนรัสเซีย และก่อวินาศกรรม "ยูเครนไม่ได้วางแผนกระทำการอะไรแบบนั้น รัสเซียหยุดโรงงานผลิตของปลอมของพวกคุณเดี๋ยวนี้" เขาทวีต

20210222-a-03.jpg
ภาพจาก  BBC News

นักลงทุนหนีตายขายหุ้นทิ้ง หอบเงินซุกสินทรัพย์ปลอดภัย ดันราคาทองคำ น้ำมัน พุ่ง

นักลงทุนหนีตลาดหุ้น ซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย  ย้ายเงินเข้าตลาดตราสารหนี้ ลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำชั่วคราว เนื่องจากคงามไม่แน่นอนในสถานการณ์

เหตุตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สร้างความกังวลให้นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกขายสินทรัพย์เสี่ยงตั้งแต่วันจันทร์ ส่งผลให้ราคาทองคำยืนเหนือ 1,900 เหรียญต่อออนซ์ ราคาน้ำมันยืนเหนือ 90 เหรียญต่อบาร์เรล อีกครั้ง 

ทั้งนี้เงินทุนบางส่วนไหลเข้าตลาดบอนด์เพื่อพักรอดูสถานการณ์ชั่วคราว รวมทั้งสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอื่นๆ 

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) ปรับตัวขึ้นแรงจากราว 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนมกราคมมาอยู่เหนือ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในเดือนกุมภาพันธ์ จากความกังวลต่อประเด็นความเสี่ยงที่รัสเซียจะบุกยูเครน ซึ่งอาจทำให้มีการตอบโต้จากประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับสองของโลกรองจากซาอุดิอาระเบีย และเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ไปยังยุโรป ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามจึงเป็นความเสี่ยงต่อ supply พลังงานโลกที่ตลาดจับตาอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ทิสโก้ คาดว่า ความขัดแย้งรัสเซีย – ยูเครนจะส่งผลกระทบจำกัดต่ออุปทานน้ำมันดิบโลก จาก 2 เหตุผล ได้แก่

ประการแรก ยุโรปกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก จึงไม่น่าเลือกใช้มาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานเพื่อตอบโต้รัสเซีย เพราะหากคว่ำบาตรไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจยุโรปเป็นอย่างมาก

และประการต่อมาคือ มาตรการคว่ำบาตรสินค้าพลังงานที่ผ่านมา คาดว่า ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียอย่างจำกัด โดยในปี 2557 สหรัฐฯ และยุโรปคว่ำบาตรบริษัทพลังงานของรัสเซีย เพื่อตอบโต้การบุกเข้ายึดครอง Crimea แต่มาตรการดังกล่าวส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียลดลงแค่เล็กน้อย และกระทบในระยะสั้นเพียงเดือนแรกเท่านั้น 

อีกทั้งการผลิตน้ำมันของรัสเซียได้ฟื้นตัวกลับมามากกว่าระดับก่อนการคว่ำบาตรภายในเวลาเดือนเดียวหลังจากนั้น เนื่องจากรัสเซียสามารถส่งน้ำมันดิบไปขายในตลาดอื่นๆ ได้

นอกจากนั้น มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างกันมีความคืบหน้า โดยสหรัฐฯ ยังมีแรงจูงใจที่จะเจรจาให้สำเร็จมากขึ้น เพื่อลดราคาพลังงานและแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความนิยมของประธานาธิบดี รวมถึงพรรค Democrat ลดลง

หากการเจรจาประสบผลสำเร็จ ทิสโก้คาดว่าอิหร่านจะสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อย่างน้อย 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบ WTI กลับมาเทรดอยู่ในช่วง 85 – 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง แม้โอกาสการเกิดสงครามเต็มรูปแบบค่อนข้างตํ่า แต่ความตึงเครียดมีแนวโน้มยืดเยื้อ อาจจะมีผลกระทบช่วงสั้น จากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มถูกนำมาใช้จะตกอยู่กับตลาดการเงินรัสเซีย กลุ่มธนาคารยุโรปที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจในรัสเซีย และเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ติดต่อโฆษณา!