05 มกราคม 2565
15,112

5 ชาติมหาอำนาจของโลก จับมือหลีกเลี่ยงการทำสงครามนิวเคลียร์ แต่เกาหลีเหลือซ้อมยิงขีปนาวุธลงทะเลเข้าวันนี้

5 ชาติมหาอำนาจของโลก จับมือหลีกเลี่ยงการทำสงครามนิวเคลียร์ แต่เกาหลีเหลือซ้อมยิงขีปนาวุธลงทะเลเข้าวันนี้
Highlight
ในขณะที่ 5 ชาติมหาอำนาจคือ สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 5 ชาติที่ได้รับการรับรองว่าเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์หรือเอ็นพีที (NPT) ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า เมื่อ 4 ม.ค. 65 เพื่อย้ำว่าจะไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และจะต้องไม่มีสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น แต่ทว่าเกาหลีเหลือได้ทดสอบการยิงขีปนาวุธลงสู่ทะเลเป็นครั้งแรกของปีนี้ เมื่อเช้าวันนี้ (5 ม.ค.)  เป็นการเดินหน้าฝึกซ้อมอาวุธชนิดมีอานุภาพทำลายล้างสูงต่อไป

สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งเป็น 5 ชาติที่ได้รับการรับรองว่าเป็นประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ตามสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์หรือเอ็นพีที (NPT) ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ทั้ง 5 ชาติ เมื่อ 4 ม.ค. 65 เพื่อย้ำว่าจะไม่มีใครเป็นผู้ชนะในสงครามนิวเคลียร์ และจะต้องไม่มีสงครามนิวเคลียร์เกิดขึ้น การใช้อาวุธนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดผลในวงกว้าง จึงขอย้ำให้ใช้เพื่อการปกป้องประเทศ สกัดกั้นการรุกราน และป้องกันการเกิดสงครามเท่านั้น

 

แถลงการณ์ร่วมทั้ง 5 ชาติระบุว่ามีปรารถนาที่จะร่วมกับทุกประเทศสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และเอื้อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์มีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น เพราะเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างโลกที่ปลอดนิวเคลียร์และมีความมั่นคงที่ไม่ลดลงให้แก่ทุกคน

 

ทั้งนี้แถลงการณ์ร่วมของ 5 ชาติมหาอำนาจนี้มีขึ้นเพื่อให้ตรงกับที่ยูเอ็นจะประชุมทบทวนการปฏิบัติตามเอ็นพีที เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. ตามเวลาสหรัฐ

 

ด้านนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือยูเอ็น (UN) กล่าวชื่นชมประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ที่ตระหนักถึงความจำเป็นของการปฏิบัติตามข้อตกลงและพันธกรณีในการปลดและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ และว่า รู้สึกมีกำลังใจจากที่มหาอำนาจนิวเคลียร์รับปากจะเดินหน้ามาตรการป้องกันสงครามนิวเคลียร์

 

แต่ในขณะที่ 5 ชาติมหาอำนาจของโลกประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน จะหลีกเลี่ยงทำสงครามนิวเคลียร์ และอาวุธนิวเคลียร์นั้น ปรากฎว่า เช้าวันนี้ (5 ม.ค. 65) เกาหลีเหนือได้ยิงวัตถุที่คาดว่าอาจจะเป็นขีปนาวุธไม่ทราบชนิด (unidentified projectiles) ตกลงในทะเล

 

เจ้าหน้าที่หน่วยยามฝั่งของญี่ปุ่น รายงานเหตุยิงขีปนาวุธเป็นหน่วยแรก และระบุว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) แต่ยังไม่มีการยืนยันเพิ่มเติมในขณะนี้

 

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ ออกข้อห้ามไม่ให้เกาหลีเหนือ ยิงทดสอบขีปนาวุธหรืออาวุธนิวเคลียร์ใด ๆ ทั้งนี้ หากการยิงขีปนาวุธดังกล่าวได้รับการยืนยัน นี่จะเป็นการยิงขีปนาวุธครั้งแรกของเกาหลีเหนือในปี 2022

 

การยิงครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจาก คิม จอง-อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ปราศรัยในการประชุมพรรครัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 10 ปีของการบริหารประเทศของนายคิม จอง-อึน ว่ารัฐบาลเปียงยางจะพัฒนาความสามารถทางการทหารต่อไปเนื่องจากสถานการณ์ทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลีมีความไม่แน่ไม่นอนมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

นายโนบุโอะ คิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ระบุว่า ขีปนาวุธทิ้งตัวต้องสงสัยได้ถูกยิงข้ามมาในระยะทางไกลราว 500 กิโลเมตร ด้านนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ระบุถึงการยิงขีปนาวุธครั้งล่าสุดของเกาหลีเหนือว่า "น่าเศร้าอย่างยิ่ง" และชี้ว่าเกาหลีเหนือมีการทดสอบขีปนาวุธซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา

 

ในปี 2021 เกาหลีเหนือได้พัฒนาความก้าวหน้าของโครงการด้านอาวุธ และดำเนินการทดสอบขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง (hypersonic missile) ขีปนาวุธทิ้งตัวติดตั้งบนรถไฟ และขีปาวุธพิสัยไกลตัวใหม่

 

อย่างไรก็ตาม ขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) มีระดับของภัยคุกคามที่สูงกว่าขีปนาวุธร่อน (cruise missiles) เนื่องจากสามารถบรรทุกอุปกรณ์ที่จรวดนำขึ้นที่ทรงพลังกว่า สามารถยิงได้ในพิสัยที่ไกลกว่าและมีความเร็วสูงกว่า

 

รอยเตอร์รายงานว่า นี่เป็นการยิงขีปนาวุธครั้งแรกของปีนี้ โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว คณะเสนาธิการร่วมของเกาหลีใต้ (JCS) ระบุว่า อาวุธที่สันนิษฐานว่าเป็นขีปนาวุธถูกยิงเมื่อเวลาประมาณ 8.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น โดยเป็นการยิงจากภาคพื้นดินข้ามไปยังชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกและตกลงในทะเล

 

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้เดินทางไปยังเมืองชายฝั่งของประเทศติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ เพื่อทำพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายใหม่ที่เชื่อมระหว่างสองเกาหลี โดยเป็นโครงการที่ถือกำเนิดหลังจากการประชุมสุดยอดเกาหลีเหนือ-ใต้ ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างสองผู้นำเมื่อปี 2018 อันมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้เกาหลีเหนือยอมถอยโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ  แต่ทว่าความพยายามนี้ล้มเหลวลงเมื่อในปี 2019

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการปราศรัยของผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้เอ่ยถึงความพยายามของเกาหลีใต้ในการกลับมาเปิดการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งข้อเสนอของสหรัฐฯ

 

ที่มา : BBC

ติดต่อโฆษณา!