27 ตุลาคม 2564
1,938

ผู้นำสหรัฐฯเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทในรอบ 4 ปี ในขณะที่ผู้นำเมียนมา ไม่ร่วมประชุม ครั้งนี้ชูความมั่นคงและสันติภาพ การควบคุมโควิด-19

ผู้นำสหรัฐฯเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทในรอบ 4 ปี ในขณะที่ผู้นำเมียนมา ไม่ร่วมประชุม ครั้งนี้ชูความมั่นคงและสันติภาพ การควบคุมโควิด-19
Highlight

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 38 และ 39 เน้นความร่วมมือแก้ไขปัญหาโควิด-18  การรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy-BCG) เพื่อสร้างความสมดุลของเศรษฐกิจและสังคมในยุค "Next Normal"  การประชุมครั้งนี้เกิดปรากฎการณ์ผู้นำสหรัฐ โจ ไบเดน ร่วมประชุมและมอบเงินช่วยเหลืออาเซียน 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ผู้นำเมียนมาและผู้แทนไม่เข้าร่วมประชุม


การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 ซึ่งเป็นการจัดประชุมเสมือนจริง หรือ Virtue Meeting โดยประเทศบูรไนเป็นเจ้าภาพ การจัดประชุมครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2564 นี้ ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนได้รับความสนใจเข้าร่วมจากบรรดามหาอำนาจชั้นนำของโลกทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น  ที่มองเห็นความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ โดยในช่วงที่ผ่านมาทั้งจีนและสหรัฐ ต่างเพิ่มบทบาทในด้านต่างๆ ในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง

โจ ไบเดนผู้นำสหรัฐฯจะมอบเงินช่วยเหลืออาเซียน 102 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ผ่านระบบการประชุมทางไกลเสมือนจริง (Virtual Meeting)ในคืนวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา

การเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกของผู้นำสหรัฐในรอบ 4 ปี และเป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐยังคงต้องการมีบทบาทในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เข้าร่วมการประชุมในปี 2560 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ แต่หลังจากนั้นก็ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมถึง 3 ปีติดต่อกัน จนทำให้จีนสามารถแผ่อิทธิพลในภูมิภาค

ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายไบเดนจะประกาศขยายความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐและอาเซียน โดยสหรัฐจะมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 102 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,300 ล้านบาทให้แก่อาเซียน เพื่อสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพและการป้องกันโควิด-19 จำนวน 40 ล้านดอลลาร์ การแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ  20.5 ล้านดอลลาร์  สำหรับการบรรลุเป้าหมายระดับโลก ที่ต้องการควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยจะนำไปใช้ด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงการลดมลพิษในอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญในภูมิภาค ขณะที่งบส่วนที่เหลือ จะเป็นการจัดสรรให้ด้านการค้าและนวัตกรรม 20 ล้านดอลลาร์ โครงการด้านการศึกษา 17.5 ล้านดอลลาร์ และส่งเสริมด้านความเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศอีก 4 ล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ประธานาธิบดีไบเดนจะสร้างความมั่นใจต่ออาเซียนว่า กลุ่มพันธมิตร Quad ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย รวมทั้งการที่สหรัฐทำข้อตกลงจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่ออสเตรเลีย ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะมาแทนที่บทบาทของอาเซียนในภูมิภาค

นายเอ็ดการ์ด คาแกน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านและโอเชียเนียของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่าสหรัฐมีความสนใจที่จะร่วมมือกับอาเซียนด้านห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรับมือกับ “ความท้าทายร่วมกันทางทะเล” ซึ่งบ่งชี้ถึงการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้

ไร้เงา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ในอาเซียนซัมมิต

หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ต.ค.  แต่ปราศจากผู้แทนจากเมียนมา หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศว่าจะบอยคอตการประชุม

เนื่องจากประเทศเจ้าภาพบรูไนและสมาชิกอาเซียนไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมประชุม แต่กลับเชิญ ชาน เอ เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเมียนมาเข้าร่วมประชุมแทน เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่มีความคืบหน้าในการแก้วิกฤตที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร และไม่ปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ได้ตกลงกันไว้

ขณะที่ ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลเมียนมา กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวเป็นถือเป็นการละเมิดต่อหลักการของอาเซียน และดูหมิ่นอธิปไตยของเมียนมา จึงไม่แน่ใจว่าเมียนมาจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้หรือไม่ แต่ท้ายที่สุดเมียนมาก็ไม่ปรากฏตัวในการประชุม

ด้านบรูไนซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีนี้ยังไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อความเคลื่อนไหวของเมียนมา

ทั้งนี้ สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง ระบุว่า นับตั้งแต่คณะรัฐประหารเมียนมายึดอำนาจจากออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีเกิดความขัดแย้งทางการเมืองและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 1,000 คน ขณะที่อีกหลายพันคนถูกจับกุม
ขณะที่รัฐบาลเมียนมากล่าวโทษว่าความขัดแย้งในประเทศมีสาเหตุมาจากรัฐบาลเงาและบรรดากลุ่มติดอาวุธที่ออกมาสู้รบกับกองกำลังความมั่นคงเมียนมา พร้อมยืนยันว่าเมียนมาพร้อมที่จะให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนเยือนเมียนมาตามที่ได้ตกลงกันไว้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ย้ำอาเซียนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ภูมิภาค

พล.อ. ประยุทธ์ เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39 ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อ 26 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า  ที่ประชุมมีประเด็นหลักที่หยิบยกขึ้นหารือ ได้แก่ การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อที่ประชุมว่า ทุกประเทศต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันสมาชิกอาเซียนต้องรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อเอาชนะกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งโควิด-19 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายต่อภูมิรัฐศาสตร์ในโลกและในภูมิภาค อาเซียนจะต้องมีความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับภายนอกภูมิภาค และรักษาความสงบสุขในภูมิภาค เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป

นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวเสนอ 3 แนวทางโดยให้ดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่

1. อาเซียนควรเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกให้มากยิ่งขึ้น รักษาความเป็นเอกภาพ มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มต่าง ๆ เพื่อขยายโอกาสและสร้างพลังของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก และเห็นว่าอาเซียนควรใช้โอกาสจากความเป็นหุ้นส่วนเหล่านี้ในการผลักดันวาระต่าง ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของอาเซียนและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคต่อไป

2. อาเซียนต้องร่วมกันส่งเสียงที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเกี่ยวกับความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกต่าง ๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ โดยใช้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้มหาอำนาจมีปฏิสัมพันธ์กันในภูมิภาคของเราอย่างสร้างสรรค์ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค

3. อาเซียนควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแสวงจุดร่วมในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกฯ กล่าวว่าเป็นบททดสอบความสามารถของอาเซียนในการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาเซียนควรมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อความน่าเชื่อถือของอาเซียนในประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาและพร้อมฉันทามติ 5 ข้อ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมีความเห็นต่อเมียนมาว่า  ไทยเชื่อในภูมิปัญญาร่วมกันของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ ที่จะหาวิธีการเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ได้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงความเป็นครอบครัวอาเซียนเดียวกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อการบรรลุถึงสันติภาพและความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค 

“ในฐานะสมาชิกครอบครัวอาเซียน เมียนมาจะไว้ใจในการช่วยเหลือให้เมียนมาบรรลุสันติภาพและความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 25 ฉบับ และแสดงความยินดีกับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ของบรูไนฯ และพร้อมสนับสนุนกัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนปีหน้า ทั้งนี้ บรูไนฯ ในฐานะประธานอาเซียนจะออกแถลงการณ์ประธาน (Chairman’s Statement) สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 รวมกันในฉบับเดียว

สำหรับการประชุมสำคัญในระดับโลกครั้งถัดไปของไทย คือการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ 
ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC  หรือ Asia Pacific Economic Cooperation ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันมี สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ

สำหรับการประชุม APEC ครั้งที่ 28 ซึ่งนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ จะจัดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้คาดว่านายกรัฐมนตรีไทยจะรับมอบหน้าที่ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอย่างเป็นทางการในปีหน้าจากนางสาวจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์   

โดยประเทศไทยจะมีการนำเสนอวีดิทัศน์การเป็นเจ้าภาพ APEC ปี 2565 พร้อมกับเปิดตัวตราสัญลักษณ์ APEC 2022 THAILAND ที่ได้รับการคัดเลือกจากผลงานกว่า 600 ชิ้นจากผู้เข้าร่วมประกวดระดับเยาวชน อายุไม่เกิน 25 ปี อีกด้วย

“การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 2565 ไทยพร้อมจะผลักดันวาระต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะ BCG Economy ในระดับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ  รวมทั้งการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด -19 จะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำโลกจะใช้โอกาสนี้ในการประชุมหารือ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี ที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพและเป็นเวทีระดับโลก” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ที่มา : https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Biden-to-announce-up-to-102m-in-funds-for-U.S.-ASEAN-partnership
Infoquest

ติดต่อโฆษณา!