08 ตุลาคม 2564
2,873

“Challenge” ภาพยนตร์ที่จะมีการถ่ายทำในอวกาศเรื่องแรกนอกโลกโดยรัสเซีย

“Challenge” ภาพยนตร์ที่จะมีการถ่ายทำในอวกาศเรื่องแรกนอกโลกโดยรัสเซีย
Highlight

ทีมสร้างภาพยนตร์บนอวกาศครั้งแรกนอกโลกของรัสเซีย โดยยานโซยุซ (Soyuz) เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยจะใช้เวลาถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “Challenge” เป็นเวลา  12 วัน และจะเดินทางกลับโลกในวันที่ 17 ตุลาคมนี้ ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือว่าเป็นการตัดหน้าแผนของพระเอกชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ด ทอม ครูซ ซึ่งจับมือกับอิลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และองค์การอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ที่ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเช่นกัน ส่วนธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ ได้รับความสนใจต่อเนื่อง


ยานโซยุซของรัสเซียถึงสถานีอวกาศ เมื่อ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา เตรียมเริ่มถ่ายหนังเรื่องแรกนอกโลก “ใช่แล้วเป็นรัสเซีย ไม่ใช่ฮอลลี่วู้ด ที่เคยได้ยินมาว่าสนใจจะสร้างหนังในอวกาศ มาก่อนหน้านี้”

ลูกเรือของยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซีย เดินทางถึงสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ในวันอังคาร หลังจากเดินทางออกจากศูนย์ส่งจรวดในคาซัคสถานก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง

ความพิเศษของยานอวกาศรัสเซียลำนี้คือ มีผู้กำกับภาพยนตร์มืออาชีพ คลิม ชิเพนโก และดาราหญิง ยูเลีย เพเลสลิด เดินทางไปด้วย เพื่อเตรียมถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ทั้งชิเพนโกและเพเลสลิด จะใช้เวลา 12 วันจากนี้ในการถ่ายทำบางส่วนของภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่มีชื่อว่า “Challenge” โดยดาราหญิงชาวรัสเซียจะรับบทคุณหมอที่ต้องเดินทางไปรักษานักบินอวกาศที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งนักบินอวกาศชาวรัสเซียสามคนที่ประจำอยู่ที่นั่นก็จะมีบทในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

หลังการถ่ายทำเสร็จสิ้น ผู้กำกับชิเพนโกและเพเลสลิด จะเดินทางกลับโลกในวันที่ 17 ตุลาคม พร้อมกับหนึ่งในนักบินอวกาศและยานโซยุซ

ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ถือว่าเป็นการตัดหน้าแผนของพระเอกชื่อดังแห่งฮอลลีวู้ด ทอม ครูซ ซึ่งจับมือกับอิลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) และองค์การอวกาศสหรัฐฯ (NASA) ที่ประกาศไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะขึ้นไปถ่ายทำภาพยนตร์ในอวกาศเช่นกัน

20211008-a-04.jpg

ธุรกิจทัวร์อวกาศศึกคัก เป็นที่สนใจของบรรดาเศรษฐี

ทั้งนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว ชาวอเมริกันสี่คนเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประชาชนทั่วไปกลุ่มแรกที่เดินทางไปอวกาศกับยานของสเปซเอ็กซ์และโคจรรอบโลกเป็นเวลาสามวันก่อนที่จะกลับสู่พื้นโลกเป็นผลสำเร็จ

แคปซูลดราก้อนสเปซเอ็กซ์ที่พาพลเรือน 4 ราย ออกท่องอวกาศนอกโลก ได้เดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยแล้ว โดยกางร่มชูชีพลงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา

ทริปการเดินทางท่องอวกาศครั้งประวัติศาสตร์ ของแคปซูลสเปซเอ็กซ์พร้อมพลเรือน 4 ราย สำเร็จราบรื่นด้วยดี หลังจากแคปซูลสเปซเอ็กซ์พร้อมผู้โดยสาร 4 คน กางร่มชูชีพลงบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก นอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา ตามแผนเมื่อช่วง 19.00 น. วันที่ 18 กันยายน ตามเวลาในท้องถิ่น โดยมีเรือของสเปซเอ็กซ์ที่ได้จอดรออยู่เดินทางเข้าช่วยเหลือ โดยมีการตรวจสุขภาพทั้งสี่คนบนเรือ ก่อนจะนำทั้งหมดขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับไปยังแหลมคานาวารัล เพื่อไปพบหน้าครอบครัวที่มารับอยู่ที่นั่น

ลูกเรือพลเรือนทั้ง 4 คน ในทีมอินสไปร์เรชั่น 4 คือ จาเร็ด ไอแซคแมน มหาเศรษฐีอเมริกันวัย 38 ปี ผู้บริหารบริษัท อีคอมเมิร์ซชิฟต์ 4 เพย์เมนต์ และพลเรือนอีก 3 คนที่ถูกคัดเลือกมาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คือ เฮย์ลีย์ อาร์เซโนซ์ หญิงอเมริกันวัย 29 ปี, คริสโตเฟอร์ เซมโบรสกี อดีตทหารกองทัพอากาศสหรัฐฯ และ ซีอาน พรอคเตอร์

ศาตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์วัย 51 ปี ได้ออกเดินทางจากศูนย์อวกาศเคนเนดีขององค์การนาซา โดยจรวดฟัลคอน 9 ที่แหลมคานาวารัล รัฐฟลอริดา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา หลังจากนั้นทั้งสี่คนได้พูดคุยไลฟ์สดมายังโลก ในคืนวันศุกร์ตามเวลาในท้องถิ่น โดยทั้งหมดแข็งแรงดี และยังได้ทดลองทำหลายๆ อย่างในอวกาศ อย่างคริสโตเฟอร์ เซมโบรสกี ได้ใช้โอกาสนี้โชว์เล่นอูคูเลเล่ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วง ขณะที่เฮย์ลีย์ อาร์เซโนซ์ นางพยาบาลสาว ได้พูดระดมทุนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือโรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์ จู้ด ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย รวมเวลาในการเดินทางทั้งหมด 3 วัน นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์นำมนุษย์ 4 คน ซึ่งไม่มีประสบการณ์ด้านอวกาศมาก่อน ไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จ

20211008-a-02.jpg

คิวเที่ยวอวกาศปีหน้า โครงการ AX-1

ในเดือน ม.ค. ปี 2022 นักธุรกิจ 3 คนมีกำหนดเดินทางไปเยือนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) พร้อมกับนักบินอวกาศนาซาที่มีประสบการณ์สูง โดยจะใช้พื้นที่ของนักบินอวกาศอเมริกันบน ISS ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์

ภารกิจนี้จะใช้ระยะเวลารวม 10 วัน และเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยบริษัท Axiom Space ซึ่งได้ทำสัญญาเดินทางไปอวกาศด้วยยานของ SpaceX อีก 3 ครั้งในอนาคต

20211008-a-01.jpg


โครงการ DEARMOON

ยูซากุ มาเอซาวะ (Yusaku Maezawa) มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มสินค้าแฟชั่นออนไลน์ Zozotown มีแผนเดินทางไปทัวร์รอบดวงจันทร์ด้วยจรวดสตาร์ชิป (Starship) ของ SpaceX ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยคาดว่าจะออกเดินทางภายในปี 2023 ขณะที่เจ้าตัวยังประกาศเปิดรับสมัครสมาชิกที่ร่วมเดินทางไปดวงจันทร์ด้วยอีก 8 คน

ราคาทัวร์อวกาศเชิงพาณิชย์

Virgin Galactic

ก่อนหน้านี้ ริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้ก่อตั้งบริษัท เวอร์จิน กาแลคติก (Virgin Galactic) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้านการท่องเที่ยวในอวกาศ ด้วยการทดลองเดินทางออกไปนอกโลกด้วยเครื่องบินที่ทะยานสู่ความสูง 80 กิโลเมตรเหนือทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก และกลับมาลงจอดได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันที่ 11 ก.ค.

เครื่องบินอวกาศของ เวอร์จิน ที่แนบอยู่ด้านล่างของเครื่องบินลำตัวคู่ไต่ระดับความสูง 46,000 ฟุตเหนือพื้นโลก ก่อนจะถูกปล่อยออกจากยานแม่ และจุดไอพ่นเพื่อให้พุ่งไปในอวกาศด้วยความเร็วเหนือเสียงในระดับความสูง 86 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขอบเขตของอวกาศตามนิยามของสหรัฐฯ จากนั้นจึงปิดไอพ่นเพื่อลอยในสภาพไร้น้ำหนักให้ผู้เดินทางได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศนอกโลก แล้วร่อนลงกลับมาจอดบนพื้นโลกอีกครั้งอย่างปลอดภัย โดยใช้เวลาทั้งหมดในการเดินทางราว 1 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ เวอร์จิน ถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) สั่งระงับการทดสอบชั่วคราว หลังพบว่าจรวดที่ แบรนสัน ใช้โดยสารทัวร์อวกาศได้หันเหออกนอกเส้นทางระหว่างกลับมาลงจอดยังพื้นโลก
ก่อนหน้านั้น เวอร์จินเปิดเผยว่ามีแผนจะทดสอบเครื่องบินอวกาศอีกอย่างน้อย 2 เที่ยว ก่อนเริ่มปฏิบัติการเที่ยวบินพาณิชย์จริงๆ ในปี 2022 และจากข้อมูลในเดือน ก.ค. พบว่าบริษัทขายตั๋วได้แล้วราว 600 ที่นั่งให้แก่ลูกค้าจาก 60 ประเทศ ด้วยราคาตั้งแต่ 200,000-250,000 ดอลลาร์ (6.5-8.1 ล้านบาท)

20211008-a-03.jpg

Blue Origin

บริษัทขนส่งอวกาศของมหาเศรษฐี เจฟฟ์ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บแอมะซอน ประเดิมการทัวร์อวกาศครั้งแรกที่ทะเลทรายเวิ้งว้างในรัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยตัว เบซอสเองเป็นหนึ่งใน 4 ผู้โดยสารที่ได้ขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์ไร้น้ำหนัก 2-3 นาทีที่ความสูงกว่า 100 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก โดยใช้จรวดขับเคลื่อน นิว เชพพาร์ด (New Shepard) ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ ได้ส่งยานแคปซูลพุ่งทะยานขึ้นท้องฟ้าในแนวตั้ง ก่อนที่ตัวยานแคปซูลแยกออก และกลับลงสู่พื้นโลกโดยมีร่มชูชีพขนาดใหญ่ 3 ตัวช่วยชะลอความเร็ว

Space Perspective

Space Perspective ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวอวกาศในรัฐฟลอริดา มีแผนที่จะส่งยานแคปซูล “เนปจูน” ที่ผูกติดกับบอลลูนยักษ์ขนาดพอๆ กับสนามฟุตบอลขึ้นไปจากศูนย์อวกาศเคนเนดี โดยผู้โดยสารจะได้เดินทางขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศ “สทราโทสเฟียร์” เพื่อชมเส้นขอบอวกาศ ทว่าไม่ถึงขั้นสัมผัสสภาวะไร้น้ำหนัก สำหรับสนนราคาของตัวโดยสาร 1 ใบอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 4.1 ล้านบาท

เรียกได้ว่า อวกาศได้กลายเป็นดินแดนใหม่ของการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาพยนตร์ และความบันเทิงไปแล้ว

ที่มา : เอเอฟพี,   BBC, MGR Online

ติดต่อโฆษณา!