09 กรกฎาคม 2564
3,298

GC ขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน

HighLight

ท่ามกลางมรสุมแห่งโลกธุรกิจ กลับเป็นจังหวะของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC องค์กรธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำในกลุ่ม  ปตท. ในการจับมือ “พนักงาน” ร่วมมือกันพลิกวิกฤตนั้นให้มาเป็น “โอกาสในการเรียนรู้ที่จะปรับตัว นำกลยุทธ์ 3 Steps ปรับประยุกต์ใช้ร่วมกับหลักการ Circular Economy และการเสริมสร้าง Up-Skill และ Re-Skill พัฒนาพนักงาน GC ให้มี Mindset และ Attitude ที่ดีในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คือ ทักษะที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนองค์กรเติบโตยั่งยืน”


ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กับกลยุทธ์เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ได้อย่างไร ?

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจทั่วโลก ต่างเผชิญหน้ากับสงครามการค้า สงครามราคาน้ำมัน สงครามทางภูมิรัฐศาสตร์ จนมาถึงการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 ที่สร้างความปั่นป่วนต่อระบบสาธารณสุข และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง 

ธุรกิจยักษ์ใหญ่ในหลายแวดวงอุตสาหกรรม ก่อนหน้านี้ พอประคับประคองให้อยู่รอดไปได้ เมื่อเจอวิกฤต COVID-19  กระหน่ำซ้ำเติม ถึงขั้นล้มละลาย ปิดตัวลง

แต่ท่ามกลางมรสุมแห่งโลกธุรกิจ กลับเป็นจังหวะของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC องค์กรธุรกิจเคมีภัณฑ์ชั้นนำของกลุ่ม ปตท. ในการจับมือ “พนักงาน” ร่วมมือกันพลิกวิกฤตนั้นให้มาเป็นโอกาสในการนำกลยุทธ์ที่มี มาปรับประยุกต์ใช้

หลักคิดของ GC ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนคืออะไร ? ทรัพยากรมนุษย์ในอุดมคติเป็นแบบไหน ? “ทันข่าว Today” จะพาไปไขคำตอบกับ ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในมุมมองของ ดร. คงกระพัน มีอะไรบ้าง ?

ดร. คงกระพัน กล่าวว่า “ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นมีทั้งสงครามราคาน้ำมัน สถานการณ์ความต้องการใช้น้ำมันน้อยลง ในอนาคต (Peak Oil Demand) เพราะการมี Disruption จากรถไฟฟ้า (EV) รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยน โลกเปลี่ยน ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม และมีเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่เข้ามาช่วงนี้ คือ Net Zero Carbon และ Decarbonization การรักษาภูมิอากาศของโลก

ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นได้ทั้งวิกฤตและโอกาส ที่ทำให้ต้องปรับตัว เราอาจจะโชคดีที่ปรับตัวได้เร็วกว่าคนอื่น จึงถือโอกาสนี้ในการปรับเรื่องความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ”


20210709-a-01.jpg


GC รับมือวิกฤต COVID-19 อย่างไร ?

GC ให้ความสำคัญในการร่วมฝ่าวิกฤต COVID-19 โดยมี 4 มาตรการหลักของ GC ได้แก่

  1. ความปลอดภัยของพนักงาน จัดลำดับความสำคัญให้มาเป็นอันดับ 1 ไม่เช่นนั้นธุรกิจก็ดำเนินต่อไม่ได้ ถ้าพนักงานไม่มีความปลอดภัย
  2. การดำเนินงานด้านความต่อเนื่องทางธุรกิจตลอด Supply Chain สิ่งรอบตัว คือ Operation กับลูกค้า Supplier ต้องไปด้วยกันได้
  3. การช่วยเหลือสังคม  GC เป็นองค์กรใหญ่ ต้องเข้าไปช่วยเหลือสังคม ระดมสรรพกำลังของบุคลากร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขององค์กร ไปช่วยเหลือสังคม
  4. การสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย


GC ปรับการทำงานในช่วง COVID-19 ระบาด อย่างไร ?

ดร. คงกระพัน อธิบายว่า “เราตัดสินใจเร็ว เราให้พนักงาน Work From Home ตั้งแต่เกิด COVID-19 ระลอกแรก และมีนโยบายให้พนักงาน Work From Home คิดเป็น 2 ใน 3 ขององค์กร ปรับรูปแบบการทำงาน โดยใช้เครื่องมือออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เช่น การจัด Smart Office ทำให้พนักงานปลอดภัย และคุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเดินทาง สามารถทำงานอยู่ที่บ้านได้”

ส่วนพนักงานกลุ่ม Operator ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการผลิต ใช้วิธีการสร้าง Bubble ที่เรียกว่า Lock Up ให้กับพนักงาน ด้วยการเหมาโรงแรมให้พนักงานพัก และเดินทางไป-กลับ ด้วยรถยนต์ที่องค์กรจัดไว้ให้

นอกจากนี้ ยังปรับการสื่อสารจากการพบหน้ากัน เปลี่ยนเป็นการทำ Podcast โดยเฉพาะตอนที่ COVID-19 แพร่ระบาดแรก ๆ ทาง GC ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับพนักงานและคู่ค้าเกี่ยวกับมาตรการดูแลและป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจที่ยังคงดำเนินอย่างไปต่อเนื่อง ส่วนประชุมแบบ Town Hall ก็ปรับเป็นแบบ Virtual ดร.คงกระพัน ขยายความว่า “ข้อดี คือ สามารถสื่อสารโดยตรงกับพนักงานทุกคน มีคนเข้ามาฟัง Town Hall ประมาณ 4,000-5,000 คน จากเดิมที่เคยประชุม Town Hall มีผู้เข้าฟังประมาณ 1,000-2,000  คน จากนั้นเราก็ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยการทำ Townhall แบบ Virtual เป็นสารที่ส่งตรงพนักงานทุกคน”

GC ช่วยเหลือสังคมในยามวิกฤต 

GC เริ่มจากการช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่รอบโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ด้วยการมอบอุปกรณ์ป้องกัน COVID-19 เช่น หน้ากากอนามัย ที่ผลิตจากพลาสติกโดยกระบวนการ Upcycling เจลแอลกอฮอล์ ที่ GC ผลิตเอง ด้วยการใช้ส่วนผสมจากเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ

จากนั้น ขยายการช่วยเหลือสังคมในระดับประเทศ เช่น ชุดกาวน์แบบใช้แล้วทิ้ง ผลิตจากพลาสติกของ GC เอง และเริ่มพัฒนาเป็นชุดแบบคลุมทั้งร่างกาย หรือชุด Coverall ผลิตจากพลาสติก Recycle สามารถซักและใช้งานซ้ำได้ 20 ครั้ง ได้ประโยชน์ทั้งการป้องกันตนเองจาก COVID-19 และรักษ์โลกด้วย

อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ GC นำไปช่วยเหลือสังคม เช่น ร่วมมือกับโรงพยาบาลทำ PAPRs เครื่องช่วยหายใจ เครื่องความดันบวก

ดร. คงกระพัน สะท้อนภาพการมีส่วนร่วมกับสังคมที่ทำได้อย่างสำเร็จลุล่วง ก็เพราะว่า “เกิดจากที่ GC มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ Partner เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ และต้องมี Innovation ที่ต้องคิดได้เร็ว ในระยะเวลาที่จำกัด การมีส่วนร่วมจากหลายหน่วยงาน ทั้ง หน่วยงานที่ทำ Innovation, Business Development, Marketing ก็ช่วยกันการหาความต้องการของโรงพยาบาล หาโรงพยาบาลใดที่ขาดแคลนหรือต้องการอุปกรณ์ป้องกัน COVID-19 โดยต้องใช้ Model เป็นหลัก เปรียบเหมือนเราพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับคู่ค้า”

20210709-a-02.jpg

GC ใช้กลยุทธ์อะไร ? ในการดำเนินธุรกิจ

GC มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแบบ 3 Steps คือ

  1. Step Change คือ การสร้างองค์กรให้แข็งแรง  ทำให้ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราแข็งแรงมากขึ้น
  2. Step Out คือ การออกไปข้างนอก ขยายธุรกิจใหม่ไปในต่างประเทศ  เติบโตเป็นผู้นำในระดับสากล ส่วนใหญ่เป็นการควบรวมกิจการกับบริษัทที่มีความก้าวหน้าทางธุรกิจเคมีภัณฑ์บางชนิดที่เหมาะกับ Trend ของโลกในอนาคต
  3. Step Up คือ  การสร้างความยั่งยืน เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนอย่างบูรณาการ โดยมี 3 เรื่องสำคัญ คือ               1. เศรษฐกิจ 2. สังคม 3. สิ่งแวดล้อม คือ ต้องดำเนินธุรกิจและรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ตั้งเป้าหมายในอนาคต คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือ Net Zero ให้เป็นศูนย์

สำหรับกลยุทธ์ 3 Steps นี้ ดร.คงกระพันกล่าวว่า เป็นกลยุทธ์ของบริษัทฯ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตต่างๆ และเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นมา กลยุทธ์ 3 Steps ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมยกตัวอย่างว่า “บางเรื่องเราต้องเร่งนำกลยุทธ์นี้มาใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่ถูก Disrupt ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ทาง GC ก็ได้ทำ Carbon Decarbonization ลดก๊าซเรือนกระจก ได้ปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ คือ Bioplastics , Green Chemical  เพื่อพัฒนาความยั่งยืนของระบบนิเวศ สร้างรากฐานด้าน Circular Economy ให้กับประเทศเป็นกลยุทธ์เดิม แต่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น”

พร้อมกับกล่าวว่า “เมื่อเกิดวิกฤต ทำให้เกิดการ SET ZERO ความสามารถในการแข่งขันด้านต่างๆ ชะลอตัวลง บางเรื่อง ก่อนหน้านี้เหมือนความสามารถในการแข่งขันจะห่างไกล แต่พอทุกคนต้องชะลอหมด ข้อดี คือ หากเกิดวิกฤตแล้วถ้าเราคิดได้ดีและคิดได้ไว ลงทุนและทำในสิ่งที่ถูกต้อง ระยะห่างก็จะลดลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับเดียวกันกับบริษัทอื่น ๆ”

20210709-a-03.jpg

GC นำหลักการ Circular Economy มาปรับใช้กับธุรกิจอย่างไร ?

ทุกองค์กรสามารถนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับใช้ในธุรกิจได้ โดยสรุปมี 3 ด้าน คือ

  1. Smart Operating การพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการการผลิตให้ดีเยี่ยม :  ทำงานโดยใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ปล่อยของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้น้อยที่สุด 
  2. Responsible Caring การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภค : ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตต้องมีความยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) ที่สามารถย่อยสลายได้ ลด Footprint ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้
  3. Loop Connecting การร่วมมือกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่าแบบครบวงจร : ยกตัวอย่างเช่น ถ้า GC ต้องการกำจัดขยะพลาสติก ก็ต้องร่วมมือกับพันธมิตรหลายกลุ่ม เช่น มหาวิทยาลัย ชุมชน

สุดท้ายกระบวนการจัดการ (Solution) ของ GC คือ พลาสติกที่ Recycle ได้ ก็ทำโรงงาน Recycle จากนั้น นำไป Upcycle เช่น เสื้อผ้า จีวรพระ หากพลาสติกชนิดใดที่ Recycle ไม่ได้ ก็มีวิธีจัดการรูปแบบอื่น คือ การทำผลิตภัณฑ์ Bioplastics ที่สามารถย่อยสลายได้


นอกเหนือจากการเดินหน้ากลยุทธ์ 3 Steps ร่วมกับหลักการ Circular Economy แล้ว การขับเคลื่อนองค์กรที่สำคัญที่ ดร.คงกระพัน เล่าเน้นย้ำกับ “ทันข่าว Today” คือ “ทรัพยากรมนุษย์”

การจัดกระบวนทัพด้านทรัพยากรมนุษย์ของ GC ก็คือในวิกฤตที่ผ่านมา สร้างโอกาสให้ GC พัฒนาเรื่อง Transformation ด้วยการปรับทั้งโครงสร้างองค์กรและ Digital Transformation ให้ไปในทิศทางเดียวกัน”

ดร.คงกระพัน เล่าต่ออีกว่า GC ทำโครงการ FIT มา 2 ปีแล้ว (การปรับจำนวนพนักงานให้เหมาะสม) แตกต่างจากเมื่อก่อน GC พนักงานออกเท่าไหร่ ก็รับเพิ่มในจำนวนเท่านั้น แต่ขณะนี้ รับพนักงานใหม่ในอัตราที่น้อยลง

ให้ดิจิทัลมาช่วยเปลี่ยนวิธีการทำงานให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้เวลาน้อยลง แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ตามหลัก 4 Core Behaviors ที่สำคัญ “องค์กรมีหน้าที่เสริมสร้างการ Up-Skill และ Re-Skill แก่พนักงาน Mindset และ Attitude ที่ดี ในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ คือ ทักษะที่สำคัญอย่างมาก” เพราะวิชาที่เรียน ความรู้ที่มี 1 ปี หรือ 3 ปี มันก็เปลี่ยนไปได้ แต่ถ้าเรามีทักษะยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนได้ เราพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เราอยู่ในองค์กรดี ๆ มีอุปกรณ์มาช่วยเสริม นี่คือทักษะที่สำคัญ” 

ดร.คงกระพัน ได้ให้แง่คิดในการปรับตัว ปรับทัศนคติว่า “คนยิ่งเก่งควรต้องพูดให้ง่าย ๆ คือ ไม่ควรพูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องยาก หรือพูดเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก” อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ “ต้องเข้าใจอะไรได้ง่าย เพราะถ้าเราเข้าใจ ก็จะมีความเชื่อ  และไปทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ และสามารถสื่อสารกับคนอื่นให้เข้าใจได้ง่ายและถูกต้องอีกด้วย”

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว #CEOTalk #ทันข่าวพลังงาน

ติดต่อโฆษณา!