03 มีนาคม 2564
86,152

ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย...มาจากไหน?

ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทย...มาจากไหน?
Highlight

ทันข่าวToday จะมาชวนคุยเรื่องใกล้ตัว ที่เราต้องใช้ทุกวัน นั้นก็คือ "ไฟฟ้า" 
วันนี้ เรามาหาคำตอบกันว่า ไฟฟ้าของประเทศไทยได้มาจากไหน?

คำตอบที่เราจะได้จากคำถามนี้ เรามาเริ่มที่

1.แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันไทยทุกวันนี้มาจากที่ไหน ? 

▪️ ก๊าซธรรมชาติ 57.8% 
▪️ นำเข้า coal / lignite 16.2% 
▪️ นำเข้า 12.2% 
▪️ พลังงานทางเลือก (Renewable Energy) 10.4%
▪️ พลังงานน้ำ 2.9% 
▪️ น้ำมัน 0.5% 

เห็นว่าไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก โดยโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และของเอกชน ส่วนมากเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 

2. แหล่งพลังงานในไทยอยู่ที่ไหนบ้าง ?

1. ก๊าซธรรมชาติ
สำหรับก๊าซธรรมชาติ ประเทศไทยมีแหล่งผลิตราว 13 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาค โดยมีแหล่งใหญ่คือ แหล่งบงกช และ แหล่งเอราวัณ ซึ่งทั้งสองแหล่งนี้ตั้งอยู่ในอ่าวไทย และล่าสุดมีแหล่งบงกชใต้เพิ่มเข้ามา ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน

2. น้ำมันดิบ
แหล่งพลังงานน้ำมันของไทยแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ

▪️ แหล่งพลังงานบนบก
แหล่งพลังงานบนบกจะมีอยู่ที่ภาคเหนือและภาคกลาง เช่น แอ่งฝาง แอ่งพิษณุโลก เป็นต้น
▪️ แหล่งพลังงานในทะเล
เช่น แอ่งจัสมิน แอ่งบานเย็น เป็นต้น

3. ถ่านหิน
ประเทศไทยมีแหล่งถ่านหินกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออก และโดยส่วนมากเป็นถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ โดยแหล่งผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่หลายคนรู้จักกันดีคือเหมืองถ่านหินในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลัก

นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และถ่านหิน ประเทศไทยยังมีการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานน้ำจากเขื่อน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ทางภาครัฐกำลังผลักดันให้มีสัดส่วนพลังงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

3. ใครผลิตไฟฟ้าบ้าง ? 

ปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 45,595.87 เมกะวัตต์ 
▪️ ผลิตเองจาก กฟผ. 35.13% 
▪️ รับซื้อจากเอกชน 64.87%

ซึ่งการรับซื้อจากเอกชน มาจากที่ไหนบ้าง? 
▪️ จากประเทศลาว และมาเลเซีย 12.55% 
▪️ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 32.78%
▪️ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก  (SPP) และผู้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีกำลังผลิตต่ำกว่า 100 เมกะวัตต์ (VSPPS) 20.84%

*ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปี 2563

4. ทำไม กฟผ.ต้องซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ? 

ทำไม กฟผ.ไม่สามารถที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง? 
นี่อาจจะเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย 

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป ซึ่งเหตุผลนั้น ก็คือ 
จากข้อมูลเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดเอาไว้ 

▪️ ในปี 2532 
ให้มีการส่งเสริมเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าเนื่องจาก จะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ยัง ลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น สนับสนุนประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศและช่วยพัฒนาตลาดทุน

▪️ ในปี 2535
รัฐบาลมีนโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า โดยมีมติ ครม.เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ.กำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าประเทศไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของ IPP และจะต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย

▪️ ในปี 2537
กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=80&Itemid=116

ติดต่อโฆษณา!