11 มีนาคม 2564
3,971

แนะวิธีติด "หลังคาโซลาร์เซลล์" ดูยังไง แบบไหนคุ้ม ‼️

แนะวิธีติด "หลังคาโซลาร์เซลล์" ดูยังไง แบบไหนคุ้ม ‼️
Highlight

กระแสรักษ์โลกที่ผู้คนหันมาสนใจเรื่องพลังงานสะอาด จนหลายๆ บ้านเริ่มมีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์กันแพร่หลายมากกว่าเมื่อก่อน
แต่การติดตั้ง "หลังคาโซลาร์เซลล์" นั้น นอกจากเรื่องความปลอดภัย การใช้งานแล้ว เรื่องของความคุ้มค่าก็เป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจของหลายๆ คน 

แต่ก่อนอื่น ทันข่าวToday อยากจะมาทบทวนเรื่องระบบโซลาร์เซลล์ กันสักนิดว่ามีกี่แบบ 

3 ระบบโซลาร์เซลล์ ที่เราควรรู้จักก่อน

1. ระบบออนกริด (On-Grid System)
ที่ติดตั้งร่วมกับไฟจากการไฟฟ้านั้น มีจุดประสงค์เพื่อช่วยทุ่นค่าไฟในช่วงเวลากลางวัน จึงใช้ได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เพราะนั่นก็เท่ากับกระแสไฟฟ้าที่แปลงมาจากโซลาร์เซลล์ก็คือหน่วยพลังงานสำหรับขับเคลื่อนกระแสไฟฟ้าภายในบ้านตามปกติ โดยมีอินเวอร์เตอร์ทำหน้าที่สลับระหว่างกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์กับกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้ากรณีจากโซลาร์เซลล์ไม่เพียงพอกับการใช้งาน เช่นในช่วงกลางคืน หรือกลางวันแต่พลังงานแสงไม่เพียงพอ

ถือเป็นระบบที่หลายบ้านนิยมติดตั้งกัน เพราะสามารถขายคืนให้การไฟฟ้าฯ ได้ แต่ก่อนติดตั้งต้องขออนุญาตก่อนเสมอ

2. ระบบไฮบริด (Hybrid)
ข้อแตกต่างระบบนี้อยู่ที่มีแบตเตอรี่มาสำรองพลังงาน สำหรับใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ และกรณีที่ผลิตกระแสไฟฟ้ามากพอเกินกว่าการใช้งานแล้ว ระบบจะนำกระแสไฟฟ้าชาร์ตเข้าแบตเตอรี่ เพื่อนำไปใช้งานต่อในเวลาอื่นๆ ซึ่งมีประโยชน์มากเมื่อบ้านไหนที่ไฟตกบ่อยก็สามารถดึงเอาไฟฟ้าในแบตเตอรี่มาใช้งาน

3. ระบบออฟกริด (Off-Grid System)
ข้อแตกต่างอยู่ตรงไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การติดตั้งจะไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อน 

เหมาะกับการใช้งานโดยตรงจากแผงสู่อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นๆ เช่น แสงสว่าง หรือปั๊มน้ำ ในอดีตจึงเหมาะกับพื้นที่ห่างไกลที่ต้องสำรองไฟสำหรับใช้ในเวลาจำเป็น หรือสำหรับงานภายนอกบ้านที่ไม่เกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าหลักภายในบ้าน

▪️ ก่อนติดตั้ง ต้องรู้จัก 5 อุปกรณ์หลักที่ใช้งาน 

1. ตัวแผงโซลาร์เซลล์
2. เครื่องอินเวอร์เตอร์ ที่แปลงจากกระแสไฟฟ้าตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าสลับสำหรับการใช้งานภายใน บ้าน
3. แบตเตอรี่ (Battery) อุปกรณ์สำหรับเก็บไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์
4. เครื่องควบคุมการชาร์จไฟ (Solar control charger) ทำหน้าที่คุมแรงดันและกระแสไฟฟ้าที่เข้าสู่แบตเตอรี่ในปริมาณที่เหมาะสม 
5. อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร (Over Current Protection & Accessaries)

และสิ่งที่สำคัญที่ลืมไม่ได้ คือ โครงสร้างหลังคา โดยส่วนของหลังคาที่สามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้นั้น จะต้องเป็นพื้นที่รับแดดตลอดทั้งวัน สำหรับประเทศไทยคือทางทิศใต้ ดูระนาบและองศาของการติดตั้ง ซึ่งเหมาะสมที่สุดควรเอียงทำมุมที่ 15 องศา รวมทั้งเรื่องสำคัญโครงสร้างหลังคาแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักของแผงโซลาร์เซลล์ได้ทั้งระบบ

▪️ ติดตั้งเท่าไหร่ถึงจะคุ้มทุน
ใครๆ ก็พูดว่าระยะยาวคุ้มทุน แล้วก็ขายไฟคืนให้รัฐได้ด้วย แต่อย่าลืมว่าเราต้องลงทุนก่อนเป็นสิ่งแรก

ซึ่งเราก็ควรนึกถึงการใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราก่อนว่าควรติดตั้งเท่าไหร่ดีจึงจะพอดีกับการใช้งานในครัวเรือน มาเริ่มต้นคำนวณค่าไฟกันก่อน ทางนี้ 

20210311-a-1.jpg
1. คำนวณจากหน่วยไฟฟ้าเป็น "กิโลวัตต์" 
ซึ่งขนาดแผงโซลาร์เซลล์ สมมติว่า "1 แผง มีขนาดเท่ากับ 120*60 เซนติเมตร มีพื้นที่เท่ากับ 0.72 ตร.ม. มีกำลังผลิตแผงละ 102 วัตต์" ดังนั้นหากต้องการผลิตให้ได้ 1 กิโลวัตต์ ต้องใช้ 10 แผงในการติดตั้ง กินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตร.ม.

2. จากนั้นมาดูปริมาณการใช้งานไฟฟ้าในแต่ละเดือนของเราว่าใช้เดือนละกี่หน่วย (KW-h) 
สมมติ ถ้าใช้เดือนละ 2,000 หน่วย (เสียค่าไฟฟ้าประมาณเดือน 10,000 บาท)
ให้จดเลขมิเตอร์ 2 ครั้งใน 1 วัน ในช่วงเช้าเวลาประมาณ 9.00 น. และเย็น 17.00 น. ทั้งหมด 4 วัน แล้วนำมาลบกันก็จะได้ค่าจำนวนหน่วยที่ใช้ในเวลากลางวัน 

จากนั้นนำหน่วยทั้งหมดที่ได้มาหาร 4 ยกตัวอย่างเช่น 55+40+50+45 = 190/4 เฉลี่ยแล้วใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันประมาณ 47.5 หน่วย

3. ใน 1 วันมีแสงอาทิตย์ประมาณ 5 ชม. 
เราก็ต้องนำ 47.5 หน่วย หาร 5 ได้เท่ากับ 9.5 กิโลวัตต์ ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ประมาณ 10 กิโลวัตต์จึงจะเหมาะสมและคุ้มทุนที่สุด โดยจำนวนแผงที่จะติดตั้งต้องดูตามปริมาณวัตต์ต่อ 1 แผง

อายุการใช้งานของระบบประมาณ 20-25 ปี ลองเคาะตัวเลขกันดู ว่าจุดคุ้มทุนเรามากน้อยแค่ไหน

ข้อมูลอ้างอิง 
การไฟฟ้านครหลวง 
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1129

ติดต่อโฆษณา!