11 พฤศจิกายน 2567
288

ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. รับประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก


วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. ที่ได้รับประกาศเกียรติคุณ “โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS)” จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

20241105-b-03.jpg



จากโครงการด้านการจัดการของเสีย จำนวน 2 กิจกรรม ได้แก่ การขยายผลองค์ความรู้การใช้ชุดอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ (Biodegradation Bin) ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากการคิดค้นและพัฒนาโดยศูนย์ฯ สิรินาถราชินี และการคัดแยกขยะรีไซเคิล ภายในร้านอาหารชิกเก้น แอนด์ บี (Chicken and Bee) ซึ่งเป็นร้านอาหารเครือข่ายชุมชนโดยรอบ ช่วงการประเมินระหว่าง 1 มกราคม 2565 – 31 กรกฎาคม 2566 

สำหรับ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีให้การสนับสนุนร้านชิกเก้น แอนด์ บี ได้มอบอุปกรณ์ย่อยสลายขยะอินทรีย์แบบใช้อากาศ จำนวน 9 ชุด ตั้งแต่ปี 2566 มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจก ดังนี้

1. การผลิตปุ๋ยหมักหรือสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์โดยการรวบรวมเศษอาหารขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นภายในร้าน รวมถึงกิ่งไม้ ใบไม้ที่ร่วงหล่นภายในร้าน ใส่ถัง BB ตามคำแนะของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีซึ่งปุ๋ยที่ได้ทางร้านนำไปใช้สำหรับบำรุงผักอินทรีย์ โดยมีน้ำหนักของขยะอินทรีย์ตลอดระยะเวลาที่ขอการรับรอง จำนวน 7,730 กิโลกรัม

2. กิจกรรมการคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิล โดยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี มีการจัดตั้งถังขยะรีไซเคิล เพื่อแยกประเภทขยะ โดยมอบหมายให้พนักงานเป็นผู้รวบรวม และจดบันทึกน้ำหนักขยะ เป็นประจำทุกเดือน ก่อนจำหน่ายขยะรีไซเคิลให้ร้านที่รับซื้อขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะประเภท แก้ว กระดาษ และพลาสติก ตลอดระยะเวลาที่ขอการรับรองสามารถรวบรวมปริมาณขยะรีไซเคิลได้ 1,083 กิโลกรัม


20241105-b-01.jpg


ผลลัพธ์และความสำเร็จจากทั้งสองกิจกรรม สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 6.878 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นับเป็นการขยายผลองค์ความรู้ของศูนย์เรียนรู้ ปตท. ให้สามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง พร้อมร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

โดยทั้ง 2 รางวัลที่ได้รับ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593 ผ่าน “แนวทาง C3” ซึ่งไม่เพียงเป็นแนวทางสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่ยังนับเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความยั่งยืนอย่างสมดุล 

โดย 1 ใน 3 แนวทาง คือ Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All การประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเป็นแกนหลักของประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงการเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า

โดยศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี มีพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลน 717.33 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า-คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

เป็นป่าชายเลนที่เริ่มพัฒนาจากนากุ้งร้างไร้ชีวิตแห่งแรกของประเทศไทย จนปัจจุบันป่าผืนนี้ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ที่หน่วยงานรับผิดชอบทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดูแลในรูปคณะกรรมการทั้งชุมชน ราชการ และเอกชน 

ซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ได้รับรางวัลมาตรฐานดาวแห่งความยั่งยืนในระดับ 5 ดาว จากโครงการ STAR และเครื่องหมายมาตรฐานการท่องเที่ยว สาขามาตรฐานกิจกรรมดูนกระดับดีเยี่ยม

ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ประกอบด้วยอาคารนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ครั้งยังเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำนากุ้ง เรื่อยมาถึงการพลิกพื้นผืนดินจนกลายเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์อย่างทุกวันนี้  เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนก็ร่มรื่นเขียวครึ้มไปด้วยพรรณไม้ป่าชายเลน 

นอกจากนั้นในเส้นทางเดินยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ “ต้นโกงกางประวัติศาสตร์” หรือต้นโกงกางใบเล็กจำนวน 2 ต้น ต้นโกงกางถือเป็นไม้เด่นประจำป่าชายเลน ในป่าแห่งนี้มีทั้งโกงกางใบเล็กและโกงกางใบใหญ่ นอกจากนั้นก็ยังมีต้นแสม ต้นโปรง ตาตุ่มทะเล เป็นสังคมป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ บนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 


20241105-b-02.jpg



นอกจากจะได้รู้จักกับพรรณไม้ต่าง ๆ ในป่าชายเลนแล้ว ก็ยังจะได้เห็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน และยังเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอีกด้วย เช่น ปูก้ามดาบ หอยขี้กา กุ้งดีดขัน 

ส่วนปลาชนิดต่าง ๆ ก็เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน โดยปลาที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลนตลอดชีวิต ตั้งแต่เป็นปลาตัวเล็กจนโตเต็มวัย ได้แก่ ปลาตีน ปลากระบอก ปลาหมอเทศ ปลาแป้นเหลืองทอง เป็นต้น 

นอกจากนั้นก็ยังมีนกกินเปี้ยว หรือนกกระเต็นชนิดหนึ่งที่กินปูเปี้ยวเป็นอาหาร จัดเป็นนกที่มีสีสันสวยงามที่สุดในบรรดานกป่าชายเลน

ป่าชายเลนผืนนี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ยังเป็นปราการป้องกันภัยธรรมชาติที่ทอดตัวปกคลุมรอยต่อระหว่างแผ่นดินกับผืนน้ำด้วย และยังช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้มนุษย์และสรรพชีวิตอีกด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้น ป่าแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นครัวที่ปรุงอาหารจำนวนมากมายมหาศาลให้สัตว์น้ำนานาชนิดและผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนจึงนับเป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้

การได้รับประกาศเกียรติคุณจากโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หรือ LESS ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำความรู้ด้านนิเวศและสิ่งแวดล้อมไปใช้ในการแก้ไขปัญหาขยะและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

โดยศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. จะยังคงเดินหน้าส่งเสริมและขับเคลื่อนการลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน




รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/FJiceEU7pdU?si=QCH6bLbM2zC4Hjms



ติดต่อโฆษณา!