13 มีนาคม 2565
1,907

"น้ำมันแพง" สะเทือนโลกถึง "อาเซียน"

"น้ำมันแพง" สะเทือนโลกถึง "อาเซียน"
Highlight

วิกฤติ ‘ราคาน้ำมัน’ ที่ทุกคนกังวลดูเหมือนจะไม่คลี่คลายง่าย ๆ  เมื่อล่าสุดราคาน้ำมันยังคงยืนเหนือระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล หากสงครามยืดเยื้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอีก ผู้นำรัสเซียยังเคยขู่ไว้ว่าราคาอาจวิ่งไปถึง 300 เหรียญต่อบาร์เรล หากราคาน้ำมันสูงนานๆ จะทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซ้ำเติมเข้าไปอีก ล่าสุด ประธานาธิบดีไบเดน เจรจา เวเนซูเอล่า ให้ช่วยเพิ่มการผลิต รอลุ้นผลเร็วๆ นี้


ผลจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงไปทั่วโลก ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าไม่ว่าจะเป็นชาติตะวันตกหรือประเทศต่าง ๆ ในเอเชียต่างได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วิกฤติ ‘ราคาน้ำมัน’ ที่ทุกคนกังวลดูเหมือนจะไม่คลี่คลายง่าย ๆ  เมื่อล่าสุดราคาน้ำมันพุ่งทะยานแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เมื่อวันอังคารที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ประกาศห้ามการนำเข้าพลังงานฟอสซิล รวมถึงน้ำมันจากรัสเซีย 

เพื่อตอบโต้ประเด็นการบุกรุกยูเครน โดยราคาน้ำมันดิบ WTI พุ่งสูงสุดถึง 7% ซื้อขายเหนือระดับ 128 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์พุ่งขึ้นสูงสุด 7.7% ที่ระดับ 132.75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรก็ประกาศว่าจะยุติการนำเข้าจากรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ EU ก็ได้เปิดเผยถึงแผนการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียเช่นกัน

20220313-a-02.jpeg

ก่อนหน้านี้ องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ ‘โอเปก’ (OPEC) คือ ความหวังของโลกที่จะช่วยบรรเทาราคาน้ำมัน แต่เมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ‘โอเปก’ และกลุ่มชาติพันธมิตรผู้ทรงอิทธิพลด้านพลังงาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ OPEC+ 

ซึ่งตกลงกันว่าจะปฏิบัติตามแผนเดิมที่จะเพิ่มการผลิตเล็กน้อยในเดือนเมษายน แม้จะมีการเรียกร้องให้ผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น เนื่องจากราคาพุ่งสูงสุดในรอบหลายปีจากความหวั่นเกรงว่าอุปทานของรัสเซียจะหยุดชะงัก

กลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตตกลงที่จะปรับระดับการผลิตรวมรายเดือนเพิ่มขึ้นวันละ 400,000 บาร์เรลในเดือนเมษายน ซึ่งน้ำมันจาก OPEC เพียงอย่างเดียวคิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 40% ของอุปทานน้ำมันโลก

เมื่อสถานการณ์ ‘ราคาน้ำมัน’ ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ย่อมซ้ำเติม ‘เศรษฐกิจโลก’ ให้ทรุดลงไปอีก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจึงส่งผลกระทบต่อตลาดโลก 

โดย Goldman Sachs มองว่าบทบาทที่สำคัญของรัสเซียต่อ ‘อุปทานพลังงานโลก’ ทำให้ ‘เศรษฐกิจโลก’ อาจต้องเผชิญกับหนึ่งในปัญหาด้านอุปทานพลังงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาในไม่ช้านี้

ขณะเดียวกัน หากลองส่องเศรษฐกิจในฝั่งตะวันออก นอกจากประชาชนและผู้ประกอบการต่าง ๆ จะได้รับแรงกระแทกจาก ‘ราคาน้ำมันแพง’ แล้ว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วทั้ง ‘เอเชีย’ และการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าอาจส่งผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากการส่งออกสินค้ากว่า 40% มาจากภูมิภาคนี้

ซึ่งเมื่อดูผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใน ‘ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ อย่าง ‘อินโดนีเซีย’ พบว่ามีระดับเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 2.06% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดของช่วงเป้าหมาย 2-4% ของธนาคารกลาง จึงยังเหลือพื้นที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า

ส่วน ‘ไทย’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยต้นทุนด้านการขนส่งและราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในเดือนที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 

แต่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมองว่ายังพอมีเครื่องมือในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ โดยที่ธนาคารกลางยังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร

สำหรับ ‘มาเลเซีย’ ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบสุทธิยังคงทำกำไรได้จากดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารกลางมาเลเซียยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 

ขณะที่ธนาคารกลาง ‘สิงคโปร์’ มีการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีที่แล้วและอีกครั้งในเดือนมกราคม ผ่านเครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ค่าเงินของคู่ค้าแข็งค่าขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับต้นทุนการนำเข้าอาหารและพลังงานที่สูงขึ้นได้

20220313-a-01.jpeg

ทางออกของวิกฤติที่พอจะมองเห็นในขณะนี้ คือ การผลิตน้ำมันเพิ่ม แต่ปัญหาของ OPEC+ คือ มีเพียงซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีกำลังการผลิตเหลือพอที่จะเพิ่มการผลิตได้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองก็พยายามที่จะขอเจรจาในประเด็นราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรดาผู้นำของซาอุดีอาระเบียและ UAE ยังคงปฏิเสธการเจรจานัดหมายกับผู้นำสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ดี ความหวังของการแก้ปัญหา ‘ราคาน้ำมันแพง’ ยังไม่ถือว่าริบหรี่เสียทีเดียว เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ สหรัฐฯ ได้เปิดช่องทางการทูตกับเวเนซุเอลาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ซึ่งเวเนซุเอลาเป็นพันธมิตรของรัสเซียและเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก 

โดยมองว่ามีสัญญานบวก จากที่เวเนซุเอลาได้ปล่อยตัวชาวอเมริกันอย่างน้อย 2 คนออกจากเรือนจำเพื่อแสดงเจตจำนงที่ดีต่อคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเป็นการเบิกทางต่อการเพิ่มการผลิต เพื่อบรรเทาปัญหาราคาที่พุ่งสูงขึ้น

ที่มา : https://www.cnbc.com/2022/03/02/russia-ukraine-crisis-opec-to-decide-on-oil-production-policy.html
BangkokBank

ติดต่อโฆษณา!