23 สิงหาคม 2564
9,935

คนอยากมีบ้านยังเหนื่อย ราคาสร้างบ้านขึ้นไม่หยุด

คนอยากมีบ้านยังเหนื่อย ราคาสร้างบ้านขึ้นไม่หยุด
Highlight

บ้านน่าจะเป็นความฝันของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหรือสร้าง หากใครพอมีกำลังจะจ่ายไหว ก็คงฝันอยากมีบ้านกันทั้งนั้น แต่การมีบ้านทุกวันนี้ยากลำบากขึ้น ไม่เพียงแต่ว่ารายได้ของคนไทยจำนวนมาก ลดลงจากผลกระทบของโควิด แต่ราคาค่าก่อสร้างกลับเพิ่มสวนทางกับเศรษฐกิจที่ซบเซา เนื่องจากราคาวัสดุหลายอย่างปรับตัวขึ้น เช่นเหล็ก ทำให้การสร้างบ้านขนาดกลางๆสักหลังในตอนนี้ แพงกว่าเมื่อปีก่อนหลังละมากกว่า 1 แสนบาท


ไตรมาส 2 ราคาค่าก่อสร้างบ้านเพิ่มอีก 2.36% จากไตรมาสแรก

 
มูลนิธิประเมินค่า-นายหน้าแห่งประเทศไทย ได้จัดทำราคาค่าก่อสร้างอาคารเป็นประจำทุกไตรมาส ทำให้เราเห็นภาพรวมการปรับขึ้นลงของราคาก่อสร้างบ้านและอาคารต่างๆ
 
ซึ่งถ้านับเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นมา พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของวัสดุต่างๆ เฉลี่ย +4.48% โดยปัจจัยสำคัญก็คือ ไม้เพิ่มขึ้น + 1.9% ผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้น +1.5% เหล็กเพิ่มขึ้น +16.0% อุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น +1.9% วัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพิ่มขึ้น +0.9% ส่วนวัสดุที่มีราคาคงที่ ได้แก่ กระเบื้อง วัสดุฉาบผิว สุขภัณฑ์ และส่วนวัสดุที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ ซีเมนต์ ลดลง -0.4%
 
และถ้าหากนับเฉพาะไตรมาสที่ 2 ก็พบว่าวัสดุก่อสร้าง ปรับเพิ่มขึ้นมา 3.93% โดยเหล็กคือวัสดุที่ปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 13.80% ซึ่งเหล็ก คิดเป็นต้นทุนสัดส่วนประมาณ 23.6% ของวัสดุก่อสร้างทั้งหมด ทำให้การเพิ่มของราคาเหล็กกระทบกับต้นทุนรวมค่อนข้างมาก
 
อย่างไรก็ตาม ค่าวัสดุข้างต้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ราคาค่าก่อสร้างยังประกอบด้วยค่าแรง และภาษีและค่าดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งโดยเฉลี่ย เราแบ่งต้นทุนการก่อสร้างคร่าวๆ ได้เป็น ต้นทุนจากวัสดุ ราว 60% ของค่าก่อสร้าง ค่าแรงคิดเป็น 20% ของค่าก่อสร้าง และที่เหลืออีก 20% คือ ภาษี ค่าดำเนินการต่างๆ และกำไร ของบริษัทก่อสร้าง ซึ่งจากภาวะโควิด ทำให้ในสองส่วนหลัง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีเพียงค่าวัสดุที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นค่าก่อสร้างที่แท้จริง เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว จึงเพิ่มขึ้น +2.36% ในไตรมาสที่ 2/2564
 
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีก คือถ้าหากเราต้องการสร้างบ้านคอนกรีต 2 ชั้น ขนาดพื้นที่ใช้สอย 200 ตารางเมตร ใช้วัสดุคุณภาพปานกลาง หากสร้างเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ค่าก่อสร้างจะอยู่ที่ 2,420,000 บาท (ตารางเมตรละ 12,100 บาท) แต่ถ้าสร้างช่วงกลางปีนี้ ค่าก่อสร้างจะอยู่ที่ 2,540,000 บาท (ตารางเมตรละ 12,700) แพงขึ้นถึง 120,000 บาททีเดียว

ติดต่อโฆษณา!