10 สิงหาคม 2564
2,361

โควิดทำพิษ หมุนเงินไม่ทัน ปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ?

โควิดทำพิษ หมุนเงินไม่ทัน ปรับโครงสร้างหนี้อย่างไร ?
HighLight

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือคนทั่วไป วิกฤตโควิดรอบนี้ น่าจะส่งผลกระทบถึงตัวท่านบ้างไม่มากก็น้อย หากโดนโควิดเล่นงานอย่างหนัก เช่นตกงาน ทำมาหากินไม่ได้ แต่หนี้ที่มีก็ยังต้องจ่ายจะทำอย่างไร? วันนี้ ทันข่าว รวบรวมทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้มาให้ติดตาม ไล่เรียงไปตั้งแต่ เจอปัญหาไม่มากแต่อยากลดดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย ไปจนถึงขาดเงินสดจ่ายไม่ไหวเลย ต้องทำอย่างไร ซึ่งบอกก่อนเลยว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ไม่ใช่ทางออกแน่ๆ เพราะเสียประวัติและอาจส่งผลกระทบในระยะยาว เรามาปรับโครงสร้างหนี้แบบถูกต้องดีกว่า


ในที่นี้ เราขอแบ่งประเภทลูกหนี้ออกเป็น 4 ประเภท ตามความหนักหนาสาหัสของวิกฤตที่ต้องเจอ

1. จ่ายไหว แต่อยากประหยัดรายจ่ายที่เป็นดอกเบี้ยลง

สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้

  • เปลี่ยนประเภทหนี้ จากสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง โดยการเปลี่ยนประเภทหนี้ในลักษณะนี้ ต้องมั่นใจว่าจะสามารถชำระคืนตามงวดที่กำหนดได้ ซึ่งบางกรณีอาจต้องจ่ายหนี้แต่ละงวดมากขึ้น หรือน้อยกว่าขั้นต่ำที่เคยจ่าย ขึ้นอยู่กับยอดค้างจ่าย และระยะเวลาการชำระคืนที่ได้รับอนุมัติมาใหม่
  • รีไฟแนนซ์ โดยการปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้รายเดิมแล้วย้ายไปขอกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่ที่มีเงื่อนไขดีกว่า ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด แต่การรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเจ้าหนี้ด้วย เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าทำประกันใหม่ ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้รายเดิมตามสัญญา ซึ่งต้องคำนวณให้ดีว่าเปลี่ยนแล้วคุ้มกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ลดลงหรือไม่

 
2. จ่ายได้ไม่เต็มจำนวนที่ถูกเรียกเก็บ หรือจ่ายไม่ได้ตามสัญญา

สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้

  • ขอลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จ่าย เหมาะกับคนที่รายรับลดลงชั่วคราว เช่น 3 - 6 เดือน  เพราะสถาบันการเงินมักลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน
  • ขอพักชำระเงินต้น เหมาะสำหรับคนที่รายรับลดลงชั่วคราวเช่นเดียวกัน ซึ่งสถาบันการเงินมักจะพักชำระเงินต้นให้ประมาณ 3 – 12 เดือน โดยลูกหนี้จ่ายเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ย แต่การพักชำระเงินต้นอาจทำให้ภาระหนี้ช่วงหลังจากพักชำระเพิ่มขึ้น หรืออาจต้องขยายเวลาการชำระหนี้ เนื่องจากต้องนำเงินต้นที่พักชำระไปจ่ายในช่วงหลังการพักชำระเงินต้นด้วย ทำให้อาจจะมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากยอดเงินต้นไม่ได้ลดลงตามกำหนดเวลาเดิม ดังนั้นต้องตกลงกับสถาบันการเงินหรือดูเงื่อนไขด้วยว่า หลังสิ้นสุดการพักชำระเงินต้นแล้ว จะต้องจ่ายคืนอย่างไร โดยต้องดูความสามารถในการชำระคืนของตัวเราประกอบด้วย
  • ขอลดอัตราผ่อนและขยายเวลาชำระหนี้ เหมาะกับคนที่รายรับลดลงในระยะยาว เช่น เปลี่ยนงานใหม่ที่รายรับน้อยกว่าเดิม ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ในจำนวนเท่าเดิมได้ ยิ่งขยายเวลานาน ยิ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แม้จำนวนผ่อนต่อเดือนจะลดลงก็ตาม ดังนั้นควรขอขยายเท่าที่จ่ายไหวและใช้เวลาน้อยจะดีกว่า


3. มีเงินก้อนแต่ไม่พอปิดหนี้ทั้งหมด

สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ ดังนี้

เจรจาขอส่วนลด เพื่อจ่ายทั้งหมดแบบปิดบัญชีด้วยเงินก้อน ที่เรียกกันว่า hair cut เช่น มียอดหนี้คงค้าง 120,000 บาท ขอลดเหลือ 100,000 บาท  หากตกลงกันได้ด้วยวิธีนี้ ก็จะทำให้หมดหนี้ทันที แต่การปิดจบด้วยเงินก้อน มักมีเงื่อนไขว่าจะต้องจ่ายให้ครบภายในเวลาที่กำหนด เช่น 1 – 6 งวด หากไม่มั่นใจว่าจะจ่ายได้ทั้งหมดภายในเวลาที่กำหนด ให้พิจารณาทางเลือกอื่นแทน
 

4. จ่ายไม่ไหวเลย

สามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการ

ขอพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้ว ค่อยจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงที่พักไป (ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ตลอดเวลาที่พักชำระ) ซึ่งอาจจะขอเจรจาเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ เฉลี่ยผ่อนชำระตามงวดที่เหลือ หรือชำระคืนเงินต้นที่พักชำระทั้งหมดคราวเดียวในงวดสุดท้ายก็ได้

การปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการจ่ายหนี้เพื่อให้ยังสามารถจ่ายหนี้ได้โดยไม่ผิดนัดชำระ จึงต้องดูความสามารถในการชำระคืนประกอบด้วย หากเงื่อนไขใหม่ที่ได้มาก็ยังเกินความสามารถในการจ่ายคืน ให้เลือกเจรจากับสถาบันการเงินอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจ่ายหนี้ไม่ได้อีก และการปรับโครงสร้างหนี้อีกครั้งอาจทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้แต่ละแบบที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีผลแตกต่างกันต่อประวัติในเครดิตบูโร จึงต้องสอบถามสถาบันการเงินในประเด็นนี้ด้วย ก่อนตัดสินใจ

ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!