27 กรกฎาคม 2564
7,976

ประเทศไทย มีหนี้อยู่เท่าไร ?

ประเทศไทย มีหนี้อยู่เท่าไร ?
HighLight

ในเวลาที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญกับวิกฤติ สิ่งที่รัฐบาลมักจะทำก็คือ การทุ่มเงินงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบนี้ หลายประเทศต่างก็ใช้นโยบายการคลัง เพื่อแก้ปัญหาทั้งทางตรง อย่างเช่นการดูแลระบบสาธารณสุข และปัญหาทางอ้อม อย่างปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การชดเชยรายได้ให้คนว่างงาน ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มีเงินมากเพียงพอ ก็จะทำการกู้ อย่างประเทศไทยเอง ก็มีการเสนอให้เราเพิ่มเพดานการก่อหนี้ของรัฐบาล เพื่อให้เราสามารถกู้เงินมาแก้ปัญหาได้มากขึ้น คำถามก็คือ แล้วตอนนี้ประเทศไทยมีหนี้อยู่เท่าไร ? #ทันข่าวลงทุน รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์ พาทุกท่านไปหาคำตอบกัน


หนี้สาธารณะคืออะไร ?

ขอเริ่มการอธิบาย ด้วยการให้ความหมายของหนี้ของรัฐบาลก่อน หนี้ของรัฐ ก็คือหนี้ของประเทศที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบ เพราะฉะนั้น เรามักจะใช้คำว่า “หนี้สาธารณะ” มาเรียกหนี้สินของประเทศ

ถ้าเอาตามนิยามแล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ให้ความหมายคำว่า “หนี้สาธารณะ” คือหมายถึง “การกู้ยืมเงินของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกําลังพัฒนา 

แต่เดิมเรามักมีความรู้สึกเกี่ยวกับการก่อหนี้ยืมสินไปในทางที่ไม่ดี ครัวเรือนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว แสดงว่าฐานะการเงินไม่ดี สังคมอาจไม่ยอมรับนับถือ ประเทศใดมีหนี้สินอยู่มากแสดงว่าฐานะทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงและอาจจะล้มละลายได้ ปัจจุบันแนวความคิดเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป คือถ้าหากเป็นหนี้ที่ดี หนี้ที่ทำให้เรามีรายได้ในอนาคตเพิ่มขึ้น ก็อาจมองเป็นเรื่องดีได้

ยกตัวอย่างการทำธุรกิจ หากทำแบบเดิมเท่าที่มีทุน ธุรกิจอาจไม่เจริญก้าวหน้า แต่ถ้ากู้เงินธนาคารมาลงทุนขยายกิจการตามโครงการอย่างรอบคอบแล้ว กิจการก็อาจจะเจริญก้าวหน้าจนสามารถชําระหนี้คืนและขยายกิจการให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ประเทศชาติก็ทํานองเดียวกัน รัฐบาลอาจมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายเงิน เพื่อพัฒนาประเทศลงทุนสร้างถนนหนทางไฟฟ้า ประปา และพลังงานต่าง ๆ

รวมทั้งเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนขยายการลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทําให้ประชาชนมีงานทํา มีรายได้สูงขึ้น เมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาล ก็จะสามารถเก็บภาษีเงินได้จากประชาชนเพิ่มขึ้น เพื่อชําระหนี้คืนได้


แล้วไทยเรามีหนี้อยู่เท่าไร ?

จากข้อมูลล่าสุดคือเดือน พฤษภาคม ปีนี้ ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่รวมกันประมาณ 8,696,000 ล้านบาท (แปดล้านหกแสนเก้าหมื่นหกพันล้านบาท) คิดเป็น 55.42% ของ GDP ประเทศไทย โดยยังน้อยกว่าเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายอยู่เล็กน้อย เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ประเทศมีหนี้ได้ไม่เกิน 60% ของ GDP

ในทางกลับกันก็แปลว่า ไทยมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มอีกน้อยมาก หากไม่มีการแก้กฎหมายตรงนี้

โดยหนี้จำนวน 8,696,000 ล้านบาท ที่ว่านี้ แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล ประมาณ 7,642,000 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 760,000 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินอีกราว 285,000 ล้านบาท และหนี้ของหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ อีก ราว 7,200 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้ เราควรเพิ่มเพดานการก่อหนี้อีกหรือไม่ เพราะทางหนึ่ง ก็จะทำให้เรามีเม็ดเงินมากขึ้นในการแก้ปัญหาประเทศ แต่อีกแง่หนึ่งก็มองว่า หากเรากู้แล้วใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจกลายมาเป็นภาระให้กับคนไทยทุกคนไปอีกเป็นระยะเวลานาน

แหล่งที่มา: สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว

ติดต่อโฆษณา!