24 พฤษภาคม 2564
9,374

กองทุนรวม คืออะไร ?

กองทุนรวม คืออะไร ?

กองทุนรวม คืออะไร ? เหมาะกับใคร ?

20210524-a-01.jpg

กองทุนรวม คือ การนำเงินของผู้ลงทุนรายย่อย มารวมกันเป็นก้อนใหญ่ และนำไปจดทะเบียนให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) เป็นผู้บริหารจัดการนำเงินก้อนนั้นไปลงทุน และนำผลตอบแทน มาเฉลี่ยคืนให้ผู้ลงทุนแต่ละราย ตามสัดส่วนที่ลงทุนไป


กองทุนรวมเหมาะกับใคร ?


1. คนที่มีเงินไม่มาก

นักลงทุนกระเป๋าเล็ก เงินทุนไม่มาก แต่ต้องการลงทุน



2. คนที่มีเวลาน้อย

คนที่ไม่มีเวลาศึกษาหาข้อมูล  หรือติดตามข่าวสารการลงทุน แต่ต้องการลงทุนไว้รอผลงอกเงย


3. มือใหม่หัดลงทุน

สำหรับมือใหม่ ที่ถึงแม้จะยังไม่มีประสบการณ์ ก็สามารถลงทุนได้


4. คนที่ต้องการผลตอบแทน มากกว่าฝากเงิน

อย่างที่ทราบกันดีกว่า ดอกเบี้ยที่ได้จากการออมเงินฝากธนาคารนั้น มีอัตราที่น้อยมาก การลงทุนกับกองทุนรวม มีผลตอบแทนที่สูงกว่า


กองทุนรวม ดำเนินงานยังไง ?

20210524-a-02.jpg

1. ผู้ลงทุน นำเงินมาซื้อหน่วยลงทุน

ผู้ลงทุน ซื้อหน่วยลงทุน (Unit Trust) คือสินค้าทางการเงินของ บลจ. ที่ได้จากการรวบรวมเงินทุนของนักลงทุนจำนวนมาก นำมาแบ่งเป็นส่วนที่เท่า ๆ กัน เพื่อให้ซื้อได้ในราคาที่ถูกลง เช่น กองทุนรวม A จะรวบรวมเงินไปลงทุน 10,000 บาท และขาย 1,000 หน่วยลงทุน หน่วยละ 10 บาท และผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนได้ตามกำลังที่ลงทุนไหว



2. บลจ. นำเงินก้อนใหญ่ ไปลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) จะนำเงินก้อนใหญ่ที่รวบรวมมาจากผู้ลงทุน ไปลงทุน โดยจะมีผู้จัดการกองทุน ทำหน้าที่วางแผนการลงทุน เพื่อให้ได้ผลกำไรที่งอกเงย


3. ตัวแทนผู้ลงทุน ดูแลผลประโยชน์

ทุกกองทุน จะต้องมีสถาบันการเงินอื่น ที่ไม่ได้อยู่เครือเดียวกับ บลจ. มาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ลงทุน และตรวจทานความถูกต้อง


4. บลจ. เฉลี่ยผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน

หลังจากที่ บลจ. นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว พอเวลาผ่านไป ทาง บลจ. จะทำการเฉลี่ยคืนผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน ตามสัดส่วนหน่วยลงทุนที่ซื้อไว้


ผลตอบแทน

1. เงินปันผล

เงินปันผล คือ กำไรที่ได้จากการลงทุน หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว นำมาแบ่งให้ผู้ลงทุนตามหน่วยลงทุนที่ซื้อ



2. ผลต่างของราคาหน่วยลงทุน (Capital Gain)

เป็นกำไรที่ได้จากผลต่างของราคาหน่วยลงทุน เมื่อราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่กองทุนถือครองปรับขึ้น มูลค่าของหน่วยลงทุนก็จะปรับตัวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราซื้อหน่วยลงทุนมา 5 บาท ต่อมาเราขายได้ 10 บาท เท่ากับว่าเราได้กำไรจากผลต่างนี้ 5 บาท


ข้อดี vs ข้อจำกัด ของกองทุนรวม

20210524-a-03.jpg

ข้อดี

1. มีมืออาชีพดูแลตลอดเวลา

บลจ. สรรหาผู้จัดการกองทุนฝีมือดี มาดูแลเรื่องการลงทุนให้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ที่งอกเงย ทำให้ผู้ลงทุนไม่ต้องตัดสินใจและเผชิญความเสี่ยงด้วยตัวเอง แน่นอนว่าคนเหล่านี้เรียนจบด้านนี้มาโดยเฉพาะ และใช้เวลาส่วนมากทุ่มเทให้กับการทำงานเรื่องการลงทุน


2. มีการกระจายความเสี่ยง

การลงทุนกับกองทุนรวม มีการกระจายการลงทุนในหลายกลุ่ม  ถ้าหากสินทรัพย์ชนิดหนึ่งมีราคาลง แต่สินทรัพย์อีกชนิดมีราคาขึ้น จึงเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งเพียงอย่างเดียว


3. เข้าถึงการลงทุนกับกองทุนในไทยและต่างประเทศ

นอกจากจะมีการลงทุนกับกองทุนไทยแล้ว บลจ. ยังดูแลเรื่องการลงทุนกับกองทุนต่างประเทศให้ด้วย ในราคาขั้นต่ำที่ถูกกว่า รวมถึงดูแลเรื่องค่าเงิน


4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี

การซื้อกองทุน SSF , RMF สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ แต่มีข้อแม้คือ ห้ามนำเงินออกมาใช้ก่อนตามกำหนด เช่น SSF 10 ปี หรือ RMF ต้องอายุถึง 55 ก่อน เป็นต้น


ข้อจำกัด

  • ไม่อัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์

ไม่เหมือนตลาดหุ้น ที่เราจะเห็นการอัปเดตแบบเรียลไทม์ แต่ กองทุนรวม ทาง บลจ. จะมีการประกาศสรุปผลเป็นช่วง ๆ เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 1 ปี และจะเห็นราคา NAV (มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ) วันละ 1 ครั้งเท่านั้น

  • ไม่มีสิทธิ์จัดสรรเงินลงทุนเอง

เพราะเงินที่เราลงทุนไป มีทาง บลจ. และผู้จัดการ เป็นผู้วางแผนจัดการการลงทุนให้กับเรา

  • ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการลงทุน
นักลงทุน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน และค่าธรรมเนียมซื้อขายสินทรัพย์

  • ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน
  1. นโยบายแบบ Active Fund คือการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้มากที่สุด บริหารแบบเชิงรุก มุ่งหวังให้ผลประกอบการสูงกว่าดัชนีวัด โดยนโยบายประเภทนี้ มีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า
  2. นโยบายแบบ Passive Fund เป็นการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเท่ากับดัชนีราคากลางของการลงทุนประเภทนั้น ๆ 
ติดต่อโฆษณา!