04 มิถุนายน 2567
311
หวั่นลานีญา ทำน้ำท่วมใหญ่ กระทบราคาผัก - ผลไม้แพง เงินเฟ้อพุ่ง
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งจะเกิดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน อาจมีผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ทั่งผัก ผลไม้ เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ผลผลิตออกมาน้อย เงินเฟ้อสูงขึ้น
.
เมื่อย้อนไปดูในปี 65 ปรากฏการณ์ลานีญาที่กระทบต่อราคาสินค้าเกษตร ซึ่งในปีดังกล่าว มีปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2,011.9 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 389 มิลลิเมตร หรือประมาณ 24% (ค่าปกติคาบ 30 ปี พ.ศ. 2534 - 2563 เท่ากับ 1,622.9 มิลลิเมตร) โดยเฉพาะเดือนส.ค. ก.ย. และต.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีปริมาณฝนในระดับสูง
อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งขึ้น ประกอบกับรับอิทธิพลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกและปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เทียบกับปริมาณฝนในเดือนดังกล่าว พบว่า สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มผักและผลไม้ เดือนส.ค. ก.ย. และต.ค. ปี 65 สูงขึ้น 11.81% 12.43% และ 7.99% (YoY) ตามลำดับ
โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
ในเวลาเดียวกันนั้น ยังมีประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาในปีเดียวกัน เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร และทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาปลีกของหมวดหมู่อาหารพื้นฐาน (ข้าวและผัก) ที่ปรับสูงขึ้น 15 - 20%
ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายเมืองสำคัญ อาทิ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น บางพื้นที่รุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ทำการเกษตร ส่งผลให้ราคาสินค้าผักและผลไม้พุ่งสูงขึ้นมากกว่า 16%
อย่างไรก็ตามหากปีนี้ความรุนแรงของปรากฏการณ์ลานีญาอยู่ในระดับต่ำ อาจทำให้มีปริมาณน้ำที่เพียงพอ และเหมาะสมต่อการเพาะปลูก มีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อภาคการเกษตร
แต่ถ้าหากปรากฏการณ์ลานีญามีความรุนแรงจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย อาจนำมาซึ่งความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง นอกจากผักและผลไม้ อาจส่งผลทางอ้อมไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่ใช้ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบ อาทิ อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง และอาหารโทรสั่ง (Delivery)
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 โดยเฉพาะพื่นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ
กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนช่วง 2 - 11 มิ.ย. 67 ยังมีฝนฟ้าคะนองปกคลุมประเทศไทยตอนบน อิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และอาจมีร่องมรสุมพาดผ่านจะมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และทางตะวันออก ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกด้านรับมรสุม ส่วน กทม.และปริมณฑลมีฝนร้อยละ 40-70 ของพื้นที่สำหรับในวันนี้ (4 มิ.ย.) กรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีฝนตกประมาณ 40% ของพื้นที่