21 มีนาคม 2567
186

ราคาทองพุ่ง 700 บาท ทะลุ 38,000 บาททำนิวไฮ !

ราคาทองพุ่ง 700 บาท ทะลุ 38,000 บาททำนิวไฮ !


การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่อัตรา 5.25 - 5.50% และได้ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้

แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีโอกาสที่จะอ่อนค่าได้ต่อเนื่อง ดังนั้นราคาทองคำก็มีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้ในกรอบแคบ ๆ โดยนักวิเคราะห์ ประเมินว่าราคาทองคำในประเทศมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 46.50 ดอลลาร์ หรือ 2.15% แตะที่ระดับ 2,207.50 ดอลลาร์/ออนซ์  ขณะที่ ราคาทองฟิวเจอร์ทะยานขึ้นเหนือระดับ 2,200 ดอลลาร์ในช่วงเช้าวันนี้ หลังจากเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการประชุมเมื่อวานนี้ตามคาด

ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวกับสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า แม้ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะออกมาสูงเกินคาดเมื่อไม่นานมานี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเฟดที่ว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 3 ครั้งในปี 2567 โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเมื่อเดือน ธ.ค. 66

สมาคมค้าทองคำ รายงานราคาทองคำแท่งวันนี้ รับซื้อเข้าบาททองคำละ 37,450 ขายออกบาททองคำละ 37,550 เคลื่อนไหวใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ส่วนราคาทองรูปพรรณ รับซื้อเข้าบาททองคำละ 36,778 ขายออกบาททองคำละ 38,050 บาท

บทวิเคราะห์ของ บจ.ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส ระบุว่า ราคาทองคำ spot ปรับตัวขึ้นแรงสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ที่ 2,222 ดอลลาร์ หลังเฟด มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม 

ขณะที่การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ยังคงส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2567 ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ Hedge fund ซื้อทอง 285 ตัน

ส่วนเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย โดยรวมแล้วเงินบาทยังทิศทางอ่อนค่ามากกว่า จึงยังหนุนราคาทองคำแท่ง หากถือทองคำระยะยาวยังคงถือต่อไปได้

เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เปิดเช้านี้ที่ 35.94 บาท/ดอลลาร์ Krungthai GLOBAL MARKETS มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดจะอยู่ที่ระดับ 35.80 - 36.05 บาท/ดอลลาร์ รอลุ้นรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการของบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก และผลประชุมธนาคารกลางอังกฤษ

ติดต่อโฆษณา!