05 กุมภาพันธ์ 2567
270

เศรษฐกิจส่อวิกฤตหรือไม่ หลังเงินเฟ้อลดต่อเนื่อง 4 เดือน

เศรษฐกิจส่อวิกฤตหรือไม่ หลังเงินเฟ้อลดต่อเนื่อง 4 เดือน
เผือกร้อนลงธนาคารแห่งประเทศไทยอีกรอบ รอดูกันว่ารอบนี้จะยันนักการเมืองได้อยู่หรือไม่ ที่จะไม่ลดดอกเบี้ย แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เพิ่งจบการประชุมนโยบายการเงินไปหมาด ๆ ก็แค่คงดอกเบี้ยเท่านั้น 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ โยนคำถามแบงก์ชาติอีกครั้ง ถึงเวลาปรับนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังหรือยัง หลังกระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อต่อเนื่องเดือนที่4 

นายเศรษฐา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และ X (ทวิตเตอร์) ในวันนี้ (5 ก.พ.) ระบุว่า “การที่เงินเฟ้อติดลบมา 4 เดือนติดต่อกัน ย่อมเป็นสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นการเตือนให้รู้ว่านโยบายการคลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และนโยบายการเงิน ที่เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องสอดประสานและเดินไปด้วยกัน ถ้าต่างคนต่างทำ คงจะแก้ปัญหาได้ยาก”

กระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค. 67 ปรับตัวลดลง 1.11% ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า เงินเฟ้อลดลงสะท้อนให้เห็นว่า “เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงวิกฤต” โดยสถานการณ์ยังคงอยู่เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือได้ว่า “ประเทศยังมีวิกฤตอยู่หลายเรื่อง”

สิ่งที่น่ากังวลคือ “วิกฤตทางการเงิน” ซึ่งเคยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ส่งผลกระทบต่อการเงินทั้งระบบ และเท่าที่ดู นักการเงินก็เป็นห่วงเรื่องนี้ โดยจะเห็นได้จากกรณีการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้

“ผมถึงได้บอกว่าตรงนี้สำคัญ ถ้ามันเกิดขึ้น แล้ววิกฤตล้มครืนแบบต้มยำกุ้ง จะเกิดผลเสียหายอย่างรุนแรงต่อประเทศ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ทุกคนที่ต่อต้านการกระทำใดๆ  ของรัฐบาล ให้คำนึงถึงจุดนี้ด้วย” นายภูมิธรรม กล่าว

นักเศรษฐศาสตร์หรือนักการเงินระบุว่าถ้าไม่ทำอะไรตอนนี้ โอกาสจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งจะตามมา เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องกลับไปดูว่าเป็นจริงหรือไม่ เชื่อหรือไม่ และถ้าหากยังคัดค้านอยู่ ก็ไม่ว่าอะไรกัน แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายขึ้น สิ่งที่คัดค้านไว้ ก็อยากให้รับผิดชอบด้วย นายภูมิธรรม ระบุ

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง แสดงความเห็นในเรื่องอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 4 เดือนว่า แม้จะอ้างได้ว่าการติดลบของอัตราเงินเฟ้อนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายลดค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล ซึ่งก็ถูกต้อง 

แต่การที่อัตราเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำจนน่าเป็นห่วง ซึ่งหลัก ๆ มองว่าเป็นผลมาจากประชาชนขาดกำลังซื้อ กำลังซื้อหดหาย เอกชนก็ไม่ลงทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันสถานการณ์หนี้ก็ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดต่ำลง

“ตอนนี้ กำลังซื้อของประชาชนมันหดหาย บวกกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ตัวเลขหนี้สูง ทั้งหนี้ภาคครัวเรือน ทำให้ประชาชนไม่ใช้จ่าย เพราะเป็นห่วงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของตัวเอง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ลงทุน เพราะประชาชนไม่ใช้จ่าย#นายจุลพันธ์ กล่าว 

การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ ก็เป็นอำนาจของ กนง. ที่จะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนตัวคงไม่อยากเข้าไปพูด ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพูดชัดเจนแล้วว่าอยากให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องมีความเชื่อมโยงนโยบายให้ใกล้กับประชาชนมากขึ้นกว่า โดยเฉพาะเรื่องอัตราดอกเบี้ย จะห่วงแต่เรื่องเสถียรภาพอย่างเดียวไม่ได้

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลว่า รัฐบาลเตรียมใช้มาตรการดิจิทัล วอลเล็ต อาจจะทำให้ระยะยาวเสถียรภาพการคลังจะอ่อนแอ และประเทศอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจทุกภาคส่วนสูงขึ้นในอนาคต
ติดต่อโฆษณา!