14 ตุลาคม 2566
495

“หมายเหตุประกอบงบการเงิน” จุดบอกเหตุที่นักลงทุนต้องอ่าน! เสมือนคำวินิจฉัยของ “คุณหมอ” ในโลกของการลงทุน

“หมายเหตุประกอบงบการเงิน” จุดบอกเหตุที่นักลงทุนต้องอ่าน! เสมือนคำวินิจฉัยของ “คุณหมอ” ในโลกของการลงทุน คุณสิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ระบุว่า หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของนักลงทุนที่ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน คือ รายงานทางการเงิน-Financial  Report เป็นเสมือนการตรวจสุขภาพทางการเงิน หรือเทียบเคียงกับการตรวจร่างกายของเรา ว่า สุขภาพยังแข็งแรงไหม มีความผิดปกติ ส่งสัญญาณให้เราต้องระมัดระวังในเรื่องใดบ้าง รายงานทางการเงินก็เช่นกัน

การดูหมายเหตุประกอบงบการเงิน  เป็นการยกระดับความรู้ตัวเองขึ้นอีกระดับ จากเดิมที่มักจะมองเพียงว่า บริษัทจดทะเบียนนั้นๆ กำไรดี จ่ายปันผลได้

แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องอ่าน ทำความเข้าใจอย่างตั้งใจ คือ “หมายเหตุประกอบงบการเงิน” ที่มีคำอธิบาย ขยายความจากตัวเลขทางการเงิน เสมือนคำวินิจฉัยของ “คุณหมอ” ว่าแต่ละรายการ มีรายละเอียดประกอบอย่างไร

หมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุชัดเจนว่า เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงิน และได้รับอนุมัติให้ออกงบการเงินจากคณะกรรมการตรวจสอบ ตามการมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท

หลายหัวข้อที่น่าตามไปอ่านในหมายเหตุประกอบงบการเงิน อาทิ การซื้อธุรกิจ บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน ลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ เงินลงทุนในการร่วมค้าและบริษัทร่วม สัญญาเช่า ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น ค่าความนิยมและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น ฯลฯ

ในส่วนนี้ เป็นการอธิบายข้อมูลที่อ่านทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก สำหรับคนที่อาจไม่ใช่ “นักบัญชี” ก็ไม่น่าหนักใจ อ่านเพลิน อ่านสนุก เป็นวรรค เป็นตอน เป็นฉากๆ ฉายภาพให้ตัวเลข เป็นเรื่องที่ถูกบันทึก อย่างเป็นเหตุ เป็นผล คุณสิริพร ระบุ

ตัวอย่างงบการเงิน ที่ถูกหยิบยกขึ้นมา คือ หมายเหตุประกอบงบการเงินของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)-SCC  มีหมายเหตุประกอบงบการเงิน จำนวน 31 ข้อ

พบข้อมูลน่าสนใจที่อาจยังไม่ปรากฏในงบการเงิน เช่น เรื่องการเจรจาร่วมทุนกับบริษัทในประเทศเมียนมา, เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ การดำรงอยู่ของกิจการ คือ การต้องมีสภาพคล่อง ลื่นไหล อีกจุดที่มีความสำคัญ คือ งบกระแสเงินสด หรือ Cashflow ที่จะไม่ทำให้การทำธุรกิจสะดุดตัว และการสร้างความน่าเชื่อถือ ให้กับคู่ค้า ลูกค้า

งบแสดงฐานะการเงิน จึงเป็นดัชนีจับชีพจร “สุขภาพของกิจการ” ที่สะท้อนด้วยตัวเลข และมีคำอธิบายในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นการเปิดเผยตามมาตรฐานวิชาชีพของผู้สอบบัญชี โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท

หากนักลงทุน พบข้อมูลที่อาจสะดุดใจ ก็สามารถนำไปตั้งคำถามในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เชื่อว่า ผู้บริหาร หรือประธานกรรมการตรวจสอบ หรือผู้สอบบัญชีจะช่วยมีคำอธิบายได้

ความสบายใจที่นักลงทุนต้องการเห็น และปรากฏแก่สายตาต่อความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ที่ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพทางการเงินของกิจการ คือ ถ้อยคำว่า  “เป็นการแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข”

ที่มา: SET Source
ติดต่อโฆษณา!