11 ตุลาคม 2566
347

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเทศกาลกินเจ เงินสะพัด 3.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 65

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเทศกาลกินเจ เงินสะพัด 3.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปี 65
20231011-a-01.jpg

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) มองแนวโน้มปริมาณการใช้จ่ายคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลกินเจปี 66 จะเริ่มขึ้นวันที่ 15 - 23 ต.ค. 66 รวมเป็นเวลา 9 วัน ในปีนี้ราคาอาหารเจน่าจะยังคงปรับสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตอาหารเจที่ปรับสูงขึ้น

ราคาผักบางชนิด ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้ และข้าว จากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ ซึ่งกระทบกับปริมาณผลผลิต นอกจากนี้ กลุ่มโปรตีนเกษตรก็น่าจะปรับขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มในช่วงกินเจ

ขณะที่ราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยล่าสุดเดือน ก.ย. 66 ภาพรวมเงินเฟ้อหมวดอาหารที่บริโภคในบ้านที่เติบโต 1.5% และหมวดอาหารที่บริโภคนอกบ้านที่เติบโต 1.1% จากปีก่อน 

สะท้อนให้เห็นว่า ทิศทางราคาอาหารเจทั้งที่บริโภคในบ้านและร้านอาหาร ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ขณะที่จำนวนคนกินเจในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดว่าปริมาณเงินหมุนเวียนช่วงเทศกาลกินเจปี 66 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% โดยเป็นผลมาจากระดับราคาอาหารเจที่อาจปรับขึ้นราว 2.5% ขณะที่ปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวมน่าจะเติบโตเล็กน้อยหรือราว 1.0% เมื่อเทียบกับปีก่อน

อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังคงไม่สนใจบริโภคอาหารเจ ถือเป็นความท้าทายต่อทิศทางการเติบโตของธุรกิจอาหารเจ ดังนั้นโจทย์สำคัญคงอยู่ที่แนวทางในการกระตุ้นยอดขายและฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้นแม้อยู่นอกเทศกาลกินเจ โดยปรับปรุงคุณภาพอาหาร เพิ่มเมนูใหม่ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ร้านอาหารเจควรปรับใช้วัตถุดิบพรีเมียมที่มีคุณค่าทางอาหารสูง (โปรตีนทางเลือก ซูเปอร์ฟู้ด) พัฒนาเมนูแปลกใหม่ที่แตกต่างกว่าอาหารเจเดิม ๆ ที่มีจำหน่ายในตลาด รวมถึงการจัดโปรโมชันหรือส่วนลดให้กับอาหารเจ ทั้งในและนอกเทศกาลกินเจ
ติดต่อโฆษณา!