28 มีนาคม 2566
2,649

รู้จัก..ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ซีอีโอหญิงคนแรกในรอบ 140 ปีของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)

รู้จัก..ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล ซีอีโอหญิงคนแรกในรอบ 140 ปีของ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)
Highlight

บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) แต่งตั้ง “ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอ นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี โดยฐาปณี จบการศึกษาจาก MIT และฮาร์วาร์ด นอกจากนี้ BJC แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยว่า บริษัทเตรียมนำบริษัทย่อย “บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งนี้ BRC เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีรายได้ต่อปีกว่า 1.1 แสนล้านบาท

ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) แต่งตั้ง “ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ลูกสาวเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) นับเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี

ก่อนจะขึ้นเป็นแม่ทัพอย่างเป็นทางการ ฐาปณีได้อยู่ในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโสมาอย่างยาวนาน โดยการปรับครั้งนี้กำหนดให้มีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป 

ประวัติ ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล

ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล หรือ โอ๊ะ เป็นบุตรสาวคนเล็กของเจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ได้แก่

  1. อาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอาคเนย์ เป็นพี่สาวคนโต
  2. วัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เป็นพี่สาวคนรอง
  3. ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เป็นพี่ชายคนโต
  4. ฐาปนี เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)
  5. ปณต สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการ บริษัท แผ่นดินทองพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นน้องชายคนเล็ก

ฐาปนี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) สหรัฐอเมริกา

ด้านการทำงาน 
  นอกจากตำแหน่งล่าสุดคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC แล้วเธอยังเป็นกรรมการบริหาร กรรมการการลงทุน และเลขานุการคณะกรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทน และกำกับดูแลกิจการของ BJC อีกด้วย รวมทั้งดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บริษัท ทีซีซี อินเตอร์เทรด จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีซีซี โฮลดิ้งส์ จำกัด 

  นอกจากนี้ ฐาปณียังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการนำกลุ่มบีเจซี และบิ๊กซี เข้าร่วมในกิจกรรมโครงการจิตอาสาพัฒนา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” และได้รับรางวัลสตรีนักบริหารภาคเอกชนดีเด่น ประเภทสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่ ประจำปี 2557 และ 2561 


ด้านชีวิตส่วนตัว ฐาปณีสมรสกับ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ซึ่งเดิมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC ได้เปลี่ยนมาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ

ฐาปณี และอัศวิน เตชะเจริญวิกุล มีลูกด้วยกัน 3 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 1 คน ซึ่งเธอและสามีได้ทำหน้าที่พ่อและแม่ที่ดีอย่างเต็มที่ ด้วยการให้เวลาดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งทำหน้าที่บริหารงานไปด้วยกัน

ฐาปณีได้ซึมซาบแนวคิด และต้นแบบของการใช้ชีวิตคู่ที่ดีจากคุณพ่อ-คุณแม่ คือเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณา ที่มักไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอให้เวลากับครอบครัวเท่ากับเวลางานตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก จึงทำให้เธอคุ้นชินกับการไปเที่ยวในครอบครัวร่วมกับคณะผู้บริหารขององค์กร จนเกิดเป็นความผูกพันและเคารพนับถือผู้ใหญ่ในองค์กรเสมือนเป็นผู้ใหญ่ของครอบครัว

สำหรับเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีไทยอันดับที่ 3 ตามข้อมูลของนิตยสาร Forbes Thailand โดยมีมูลค่าทรัพย์สินราว 3.94 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ‘อัศวิน เตชะเจริญวิกุล’ คู่สมรสนั้น ซึ่งเดิมเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC จะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BRC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BJC ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ ในวันเดียวกับที่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุด ทาง BJC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงแผนการนำ BRC เข้า IPO ในสัดส่วนหุ้น 29.98% โดยปี 2565 BRC มีรายได้ 113,573 ล้านบาท กำไร 6,757 ล้านบาท

ทั้งนี้ฐาปณีกล่าวว่า แผนธุรกิจระยะยาว 5 ปี (2565-2569) ของ BJC จะใช้งบลงทุน 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นประมาณ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันกลุ่ม BJC มีจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่า 236,000 สาขาทั่วภูมิภาคเอเชีย เช่น เมียนมา มาเลเซีย เวียดนาม จีน สปป.ลาว และกัมพูชา 



ติดตาม ทันข่าวToday ช่องทางอื่น ๆ

🔺 Website : https://www.thunkhaotoday.com/
🔺 Facebook : https://www.facebook.com/thunkhaotoday
🔺 Line Today : https://bit.ly/3ifSuDr
🔺 ติดต่อโฆษณา : https://line.me/ti/p/9mjGVL4nhC

ติดต่อโฆษณา!