28 พฤศจิกายน 2565
1,010

ก.ล.ต. เปิดผลศึกษา เกษียณตอนนี้ ควรมีเงินเท่าไหร่ ?

ก.ล.ต. เปิดผลศึกษา เกษียณตอนนี้ ควรมีเงินเท่าไหร่ ?
Highlight

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดผลวิจัยจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในปี 2022 พบว่า จำนวนเงินที่เพียงพอรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณไปอีก 30 ปีข้างหน้า ควรต้องมีเงินออมไว้อย่างน้อย 3.1 ล้านบาท หรือมีเงินไว้ใช้จ่ายประมาณเดือนละ 8,611 บาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่รัฐสนับสนุนในการรักษาสุขภาพ แต่คนไทยยังมีเงินออมกันน้อยมาก แม้แต่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็มีเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น


คุณศิษฏศรี นาคะศิริ” ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บอกว่า จากการศึกษาของ “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เมื่อปี 2022 พบว่า จำนวนเงินที่เพียงพอรองรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณไปอีก 30 ปีหลังจากอายุ 60 จะต้องมีเงินออมไว้อย่างน้อย 3.1 ล้านบาท หรือมีเงินไว้ใช้จ่ายประมาณเดือนละ 8,611 บาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่รัฐสนับสนุนในการรักษาสุขภาพ

ในขณะที่มีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 23% หรือเท่ากับ 8,730 คน เท่านั้นที่ได้รับเงินมากกว่า 3.1 ล้านบาท ณ วันเกษียณ (ข้อมูล ณ เดือนมิ.ย. 22)

กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างผลักดันให้ การออมภาคบังคับ สำหรับแรงงานภาคเอกชนในระบบ ด้วยการจัดตั้ง กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” (กบช.)

กบช. จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ความเพียงพอในการมีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ โดยสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.บ. กบช.) กำหนดให้ลูกจ้างทุกคนที่มีอายุ 15-60 ปี ต้องส่งเงินเข้ากองทุนร่วมกับนายจ้างในอัตราขั้นต่ำฝ่ายละ 3% ของค่าจ้าง และจะทยอยปรับเพิ่มอัตราขั้นต่ำเป็น 10% ในระยะเวลา 10 ปี เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีระยะเวลาปรับตัว ซึ่งในระยะแรกจะ ใช้บังคับกับนายจ้างขนาดใหญ่ที่มีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป และลูกจ้างของนายจ้างนั้น ให้เข้าสู่ การออมภาคบังคับเมื่อพ้น 365 วันนับจากวันที่ พ.ร.บ. กบช. มีผลใช้บังคับ”

เมื่อมี “กบช.” แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะยังคงเป็นเครื่องมือการออม ภาคสมัครใจ ได้เช่นเดิม และจะมีการปรับปรุงกฎหมายรองรับให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคบังคับได้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการย้ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป กบช.

ในร่าง พ.ร.บ. กบช. ยกเว้นให้ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีคุณสมบัติตามที่ กบช. กำหนด (Qualified PVD) ไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิกของ กบช. เช่น กองทุนมีข้อบังคับกำหนดให้นายจ้างนำส่งเงินสมทบฝ่ายเดียวในกรณีที่สมาชิกได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท เว้นแต่สมาชิกประสงค์จะส่งเงินสะสมด้วย และสมาชิกสามารถนำเงินออกได้ทั้งจำนวนเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ

ทั้งนี้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และมีการนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราขั้นต่ำที่ พ.ร.บ. กบช. กำหนด เป็นต้น นั่นหมายความว่าหากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันนำข้อบังคับมาแก้ไขเพื่อแปลงสภาพเป็น “Qualified PVD” จะส่งผลให้สมาชิกกองทุนนั้นกลายเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับได้เลย

สมาชิกของ “Qualified PVD”สามารถลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนตามที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด โดยในปัจจุบันมีบริษัทจัดการให้บริการทั้งสิ้น 17 แห่ง ซึ่งบริหารจัดการกองทุน จากทั้งหมด 367 กองทุน และมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย เช่น หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก เป็นต้น

ออมเพิ่ม กับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ร่าง พ.ร.บ. กบช.กำหนดเพดานค่าจ้างที่นำมาใช้ในการคำนวณจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องนำส่งไว้ที่ 60,000 บาท ส่งผลให้สมาชิกที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า 60,000 บาท และส่งเงินเข้ากองทุนในอัตราขั้นต่ำ 10% ต้องสะสมเงินเข้าภาคบังคับ 6,000 บาท และนายจ้างสมทบอีก 6,000 บาท อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สมาชิกออมเงินภาคบังคับกับ Qualified PVD แล้ว และต้องการ “ออมเงินเพิ่มจากขั้นต่ำ” ที่ พ.ร.บ. กบช. กำหนดไว้ อาจออมเงินส่วนเพิ่มกับ “Qualified PVD” หรือออมกับ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเงื่อนไขแบบใดที่สอดคล้องกับความต้องการ

“หากเลือกออมเงินเพิ่มกับ ‘Qualified PVD’ สมาชิกจะสามารถนำเงินออกจากกองทุนได้เมื่ออายุครบ 60 ปี และได้รับเงินสะสมของตนและเงินสมทบของนายจ้างพร้อมดอกผล เต็มจำนวน (fully vested) แต่หากเลือกออมเงินเพิ่มกับ ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจ’ จะสามารถนำเงินออกเมื่อใดก็ได้ อย่างไรก็ดี หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย จะนำเงินออกมาได้เมื่ออายุครบ 55 ปี และเป็นสมาชิกมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ทั้งนี้ สมาชิกจะได้รับเงินเต็มจำนวนหรือได้รับเพียงบางส่วนนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อบังคับของกองทุน”

ก.ล.ต.เตรียมแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รองรับ กบช.

ปัจจุบัน สำนักงานก.ล.ต. อยู่ระหว่างเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สามารถเป็นกลไกการออมและการลงทุนแก่ประชาชนวัยแรงงานในระบบเพื่อรองรับการเกษียณ และจะเสนอแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกครั้ง เพื่อรองรับการออมภาคบังคับตามร่าง พ.ร.บ. กบช. เมื่อร่าง พ.ร.บ. กบช. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว

ทั้งนี้ ในระหว่างการแก้ไข ‘พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ เพื่อรองรับการออมภาคบังคับ สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันและลูกจ้างที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนวันที่ ‘พ.ร.บ. กบช.’ ใช้บังคับ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบช. และเมื่อ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อรองรับการออมภาคบังคับมีผลใช้บังคับ กองทุนจะต้องมาจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับกับ ก.ล.ต. เพื่อแปลงสภาพจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจให้เป็น Qualified PVD ภายใน 150 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่แก้ไขมีผลใช้บังคับ

สำหรับลูกจ้างที่อยู่ในระบบ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ได้เตรียมตัวให้พร้อมในอนาคตที่จะมี กบช. ซึ่งเป็นการออมภาคบังคับเกิดขึ้นมา และช่วยกันบอกต่อเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ให้กับสมาชิก PVD ที่คุณรู้จักกันด้วยก็ยิ่งดีเลย


ติดต่อโฆษณา!