03 พฤศจิกายน 2565
1,003

Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 14 ปี ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ทยอยขึ้นตาม หุ้นตก เงินบาทอ่อนค่า

Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% สูงสุดรอบ 14 ปี ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ทยอยขึ้นตาม หุ้นตก เงินบาทอ่อนค่า
Highlight

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% เมื่อ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ มาอยู่ที่ 3.75-4% ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปี 2008 หรือสูงที่สุดในรอบ 14 ปี และส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป หากตัวเลขเงินเฟ้อไม่ดีขึ้น ธนาคารกลางหลายแห่งทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อป้องกันเงินไหลออกและค่าเงินอ่อน ด้านตลาดหุ้นไทยปรับลดลงเล็กน้อย เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แต่ไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว



ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% มาอยู่ที่ 3.75-4% การปรับขึ้นดังกล่าวนับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 6 ในปีนี้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้น 0.75% ในเดือนมิถุนายน, กรกฎาคม,  และกันยายน

Fed ยังคงส่งสัญญาณว่ามีความจำเป็นที่ตะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อซึ่งยังคงพุ่งขึ้นรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี

Fed ยังใช้โอกาสนี้ส่งสัญญาณให้นักลงทุนในตลาดรับทราบชัดเจนทั่วหน้ากันว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของ Fed ครั้งต่อไปในเดือนธันวาคม Fed จะพิจารณาถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจขณะที่ทำการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ท่าทีดังกล่าวของ Fed สะท้อนได้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัดส่วนที่น้อยลง ซึ่ง Fed เชื่อว่าเพียงพอที่จะรองรับนโยบายการเงินที่เข้มงวดของ Fed ที่มีการประกาศใช้มาจนถึงปัจจุบัน

Fed ระบุว่า การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย 0.75% อย่างต่อเนื่องเป็นไปเพื่อให้ทันกับอัตราเงินเฟ้อที่วิ่งมากกว่า 3 เท่าของเป้าหมาย 2% และ Fed กำลังเข้าสู่ขั้นตอนที่เหมาะสมในการปรับอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมายังถือเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่อดีตประธาน Fed, พอล โวลเกอร์ ในนโบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อสู้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในปี 1970 และ 1980

ด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปแต่ด้วยขนาดที่เล็กลง โดยย้ำว่าเวลามาถึงแล้ว และน่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลงได้เร็วที่สุดในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม พาวเวลล์ย้ำชัดว่า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ 

Derek Tang นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทพยากรณ์ LH Meyer แสดงความเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายของ Fed และการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในเดือนธันวาคมจะอยู่ที่ 0.50%

ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones Industrial Average ปิดตลาดปรับตัวลดลง 505.44 จุด หรือ 1.55% ปิดที่ 32,147.76 จุด ส่วนดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง 96.41 จุด หรือ 2.50% ปิดที่ 3,759.69 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 366.05 จุด หรือ 3.36 % ปิดที่ 10,524.80 จุด

แต่ตลาดร่วงลงในเวลาต่อมา หลังนายพาวเวลล์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ภารกิจการต่อสู้กับเงินเฟ้อของ Fed ยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่สูงมาก  นายพาวเวลล์ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีโอกาสที่จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยในช่วงเวลาที่ Fed ปรับขึ้นอัตราเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือ Soft Landing นั้น มีน้อยลง เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อชะลอตัวอย่างเชื่องช้า

ฮ่องกง-ฟิลิปปินส์ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เพื่อดูแลค่าเงิน

ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สู่ระดับ 4.25% ตามรอยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่ตรึงมูลค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ

Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis SA ประเมินว่า ธนาคารในฮ่องกงจะมีการขยับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นอีก 12.5 bps ในวันนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกค้าสินเชื่อต้องเผชิญกับภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักได้ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปีนี้ลงจากเดิม หลังการรายงานตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ออกมาต่ำกว่าคาด ต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นทำให้การลงทุนของภาคเอกชนหดตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็ได้ออกมาประกาศล่วงหน้าว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% สู่ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับจากปี 2009 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยสอดคล้องกับ Fed ล่วงหน้าคือ การอ่อนค่าของเงินสกุลเปโซที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยล่าสุดเงินเปโซเคลื่อนไหวอยู่ที่ 58.47 เปโซต่อดอลลาร์

หุ้นไทยตกเล็กน้อย เงินบาทอ่อนค่า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 37.80 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 37.58 บาทต่อดอลลาร์

แม้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่แนวต้านอาจอยู่ในโซน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทั้งโฟลว์ในฝั่งตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับมา “ขายสุทธิ” หุ้นและบอนด์ไทยอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยรุนแรงและต่อเนื่องแบบในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้าที่เกิดแรงขายบอนด์รุนแรง

“เราประเมินว่า เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนักจากโซนแนวต้าน ส่วนในโซนแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 37.50-37.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าเป็นระดับที่บรรดาผู้นำเข้าต่างรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์” นายพูนกล่าว

ตลาดหุ้นไทยวันนี้ (3 พ.ย.) อ่อนตัวตามตลาดโลก นักวิเคราะห์จาก บล. กรุงศรี ประเมินว่าหลังจาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาด 0.75% แต่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกต่อไปเนื่องจากเงินเฟ้อยังคงสูงมาก และอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นลบต่อทิศทางการลงทุน

อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบที่ดีดตัวขึ้นรวมถึงแรงซื้อดักงบกำไรงวดไตรมาส 3 (Q3/22) จะช่วยหนุนให้ดัชนีสลับรีบาวด์ขึ้นได้และไม่ตลาดหุ้นไทยไม่ตกรุนแรงเหมือนตลาดตะวันตก โดยดัชนี SET Index ในภาคเช้า วันปิดที่ 1,623.82 จุด -1.20 จุด (-0.07%) มูลค่าการซื้อขายรวม 2.79 หมื่นล้านบาท


อ้างอิง : รอยเตอร์, Bloomberg.com, ธนาคารกรุงไทย

https://www.aljazeera.com/economy/2022/11/2/us-fed-delivers-big-rate-hikes-signals-next-one-could-be-smaller

ติดต่อโฆษณา!