01 พฤศจิกายน 2565
807

จับตาสัญญาณเฟดขึ้นดอกเบี้ยวันพฤหัสฯ นี้ ตลาดคาดปรับเพิ่มอีก 0.75% เหตุเงินเฟ้อยังสูง

จับตาสัญญาณเฟดขึ้นดอกเบี้ยวันพฤหัสฯ นี้ ตลาดคาดปรับเพิ่มอีก 0.75% เหตุเงินเฟ้อยังสูง
Highlight

โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จากนั้นอีก 0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคมต่อด้วย 0.25% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์ และ 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมปีหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 5% ทั้งนี้เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงจนน่ากังวล ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดยังคงขึ้นดอกเบี้ยสูงในรอบนี้ และเริ่มลดลง ตั้งแต่เดือนธันวาคม และจะกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้งในครึ่งปีหลังของปี 2566


นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมสัปดาห์นี้ จากนั้นอีก 0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม และขึ้นอีก 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ และ 0.25% ในการประชุมเดือนมีนาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 5%

นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ ให้เหตุผลที่ทำให้คาดการณ์เช่นนี้ว่าเป็นเพราะเงินเฟ้อที่สูงจนน่ากังวล และต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจเมื่อการกวดขันทางการเงินสิ้นสุดลงและรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็พยายามเลี่ยงไม่ให้สภาวะทางการเงินผ่อนคลายก่อนถึงเวลาสมควร ด้าน Few Watch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันในการประชุมนโยบายวันที่ 1-2 พ.ย.นี้ และให้น้ำหนัก 51.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ธ.ค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็คาดการณ์เช่นเดียวกันว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) วันที่ 1-2 พ.ย.นี้ เฟดจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.75 ซึ่งจะนับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.75 ต่อครั้งในการประชุม 4 รอบติดต่อกันทั้งนี้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐ ดูเหมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวสูงขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ 6.6% ขณะที่ดัชนีราคาพื้นฐานจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (Core PCE) ที่เฟดให้ความสำคัญนั้น ยังคงเร่งสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าราคาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันนั้นจะเริ่มปรับลดลง

ในส่วนของตลาดแรงงานสหรัฐนั้นยังคงสะท้อนภาวะตึงตัว โดยอัตราว่างงานเดือนก.ย. พลิกกลับมาลดลงมาอยู่ที่ 3.5% ขณะที่แม้ตัวเลขการจ้างงานจะเริ่มส่งสัญญาณชะลอลงแต่ก็ยังคงถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้ประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญคงเป็นการส่งสัญญาณของเฟดต่อทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดอาจมีการลดขนาดของการปรับขึ้นดอกเบี้ยลงในระยะข้างหน้าท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและการจ้างงานเป็นหลัก

โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐมีทิศทางอ่อนแรงลง ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลง ความจำเป็นที่เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.75 คงมีลดลง ส่งผลให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ครั้งละร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมครั้งต่อไปในเดือนธ.ค. ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า

ซึ่งจาก CME FedWatch Tool ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะแตะระดับสูงที่ราว 4.75-5.00 % ในไตรมาส 1/2565 และเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับนั้นอย่างต่อเนื่องไปในระยะข้างหน้า โดยหากเงินเฟ้อยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจน เฟดอาจจำเป็นต้องคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยาวนานกว่าที่คาด แต่หากเงินเฟ้อปรับลดลงมาอย่างชัดเจนพร้อมกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เผชิญภาวะถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เฟดอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีหน้า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai Global Markets ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ดัชนี STOXX600 ของตลาดหุ้นยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +0.35% หนุนโดยความหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ย และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในยุโรปที่ออกมาดีกว่าคาด

นอกจากนี้ แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ตามคาด แต่ผู้เล่นในตลาดมองว่า ECB ไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงแนวโน้มการเร่งขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังว่า ECB อาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ในช่วงปลายปี

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 4.06% อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่า เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย +0.75% ในการประชุมวันพฤหัสฯ นี้ อย่างไรก็ดี มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ต่างคาดหวังว่าเฟดอาจชะลอการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนธันวาคม ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ (รวมถึงบอนด์ยิลด์ระยะสั้นอย่าง บอนด์ยิลด์ 2 ปี) ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นไปมากนัก

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) สามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 111.5 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทวีความร้อนแรงมากขึ้น

อนึ่ง แม้ว่า ตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,635 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวลดลงของราคาทองคำเข้าใกล้โซนแนวรับ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้ามาซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวอาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 38.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 38.10 บาทต่อดอลลาร์และมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.15 บาท/ดอลลาร์บรรยากาศในฝั่งตลาดการเงินสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) มากขึ้น

อ้างอิง : https://www.reuters.com/markets/asia/goldman-sachs-sees-fed-rates-peaking-5-march-bloomberg-news-2022-10-30/

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, Krungthai Global Markets




ติดต่อโฆษณา!